© 2017 Copyright - Haijai.com
ภัยเงียบของคนเมืองกรุง “โรคตึกเป็นพิษ”
เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครที่เต็มไปด้วยตึกสูงเสียดฟ้าที่มองไกลๆ ดูคล้ายลิ้นชักใส่ของขนาดยักษ์ และเจ้าลิ้นชักยักษ์ใหญ่ที่ว่านี่เองที่เป็นเป้าหมายของชาวอ๊อฟฟิตอย่างเราในทุกๆ วัน ที่ต้องรีบไปถึงให้ทันเวลา ภายในตึกจะเต็มไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างเครื่องปรับอากาศที่ทำให้เราเย็นชื่นใจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้ามองดูภายนอกแล้วภายในตึกแสนสบายนี้ปลอดภัยจากมลพิษภายนอก แต่ความจริงแล้วการที่เรานั่งทำงานอยู่ภายในตึก ที่มีระบบหมุนเวียนอากาศที่ไม่ดีขาดการถ่ายเทอากาศที่ดีนั้น ทำให้เราเสี่ยงเป็นโรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick Building Syndrome (SBS) ได้ค่ะ
โรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick Building Syndrome (SBS) คือ อาการที่เกิดขึ้นจากมลพิษภายในอาคารที่วางระบบหมุนเวียนอากาศไม่ดี มีการถ่ายเทของความร้อนและอากาศที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะระบบการระบายอากาศของเครื่องปรับอากาศที่ไม่ทำให้เกิดการหมุนเวียน และถ่ายเทของอากาศ ทำให้อากาศไม่สามารถถ่ายเทจากภายในสู่ภายนอกตึกได้ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคตึกเป็นพิษมาจากการระบายอากาศภายในตึกที่ไม่ดี จึงทำให้สารระเหยที่อยู่ในเครื่องใช้ของสำนักงาน เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร รวมไปถึงสารระเหยจากสีทาผนัง กาว ไม้อัด สารเคลือบเงาต่างๆ ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด ฝุ่นจากพรมที่ไม่ได้ทำความสะอาด และควันบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งสารระเหยเหล่านี้จะไม่ได้รับการถ่ายเทออกไปภายนอกตึก และสารพิษจะวนเวียนอยู่ภายในระบบของเครื่องปรับอากาศของตึก โดยอาการของโรคตึกเป็นพิษจะเกิดขึ้นในขณะอยู่ในตึก แต่อาการจะหายไปเมื่ออยู่ภายนอกของตึก นอกจากนี้สารเคมีจากภายนอกก็มีผลทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น ก๊าซพิษจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ควันจากการประกอบอาหาร เป็นต้น
อาการของโรคตึกเป็นพิษจะปรากฏขึ้นด้วยกลุ่มอาการในระบบต่างๆ คือ
1.กลุ่มอาการทั่วไป เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปของระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะแบบตื้อ มึนศีรษะ ง่วงนอน หงุดหงิด ขาดสมาธิในการทำงาน เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เป็นต้น
2.กลุ่มอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุ เช่น เยื่อบุตา จมูก หรือลำคอ เกิดอาการระคายเคืองตา คันตา แสบตา ตาแห้ง ระคายเคืองจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหลคล้ายกับอาการของโรคภูมิแพ้ คอแห้ง แสบคอ ระคายคอ เสียงแหบ กลุ่มอาการนี้พบบ่อยที่สุดในผู้ที่ทำงานในอาคารสำนักงานที่ใช้เครื่องปรับอากาศรวม
3.กลุ่มอาการระบบการหายใจส่วนล่าง ลักษณะอาการคล้ายโรคหอบหืด เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจขัด แต่ไม่เคยมีประวัติการเป็นโรคหอบหืด กลุ่มอาการนี้พบได้น้อยกว่ากลุ่มอาการอื่น
4.กลุ่มอาการทางผิวหนัง มักพบในบริเวณที่สัมผัสสารได้ง่าย เช่น ระคายเคืองใบหน้า มักพบในผู้ทำงานกับคอมพิวเตอร์ ผิวแห้ง ผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น
วิธีป้องกันให้เราชาวอ๊อฟฟิตห่างไกลจากโรคตึกเป็นพิษได้อย่างง่ายๆ คือ
1.เพิ่มการระบายอากาศในตึกให้มากขึ้น ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกไม่อับทึบ โดยติดตั้งพัดลมระบายอากาศจากภายในตึกให้ถ่ายเทออกไปข้างนอกตึก
2.ทำความสะอาดระบบปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ โดยทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ทำความเย็น พัดลม รวมถึงทำความสะอาดภายในท่อระบบส่งอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดฝุ่นภายในตึก
3.เลือกอุปกรณ์ภายในอาคารที่มีการระเหยของสารอินทรีย์ไอระเหย (VOCs) น้อยที่สุด ซึ่งสารระเหยเหล่านี้มาจากพลาสติก สารตัวทำละลาย สีทาวัสดุต่างๆ
4.ควรแยกห้องที่มีสารระเหยออกจากห้องทำงานของพนักงาน เช่น ห้องสำหรับถ่ายเอกสาร ห้องเก็บน้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น
5.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกาย และสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงเป็นการต้านทานโรคร้ายจากภายในร่างกาย
การนั่งทำงานภายในตึกสูงๆ เสียดฟ้าอย่างชาวอ๊อฟฟิตอย่างเราเรา คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทางหนึ่งที่เราจะสามารถป้องกันตัวเราจากโรคภัยต่างๆ ที่แฝงมากับตึกที่เรานั่งทำงานอยู่ คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้มั่นคงเข้มแข็ง เพื่อเป็นการสร้างกำแพงที่มองไม่เห็นป้องกันตัวเองจากภัยเงียบอย่างโรคตึกเป็นพิษได้อีกทางหนึ่งค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)