
© 2017 Copyright - Haijai.com
รับมือกับเด็กช่างเถียง
T.Berry Brazelton, M.D. หรือ ดร.แบรี่ บราเซลตัน ผู้เขียนหนังสือขายดีที่รู้จักกันดีเรื่อง Touchpoints (ทัชพอยต์) เป็นผู้ก่อตั้งแผนกพัฒนาการเด็กในโรงพยาบาลบอสตัน และเป็นศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ ที่แผนกการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวไว้ว่า
“ทำไมแม่ถึงไม่ไปทำความสะอาดห้องแม่?” ลูกที่ออกคำสั่งย้อนแม่ของเขาด้วยอารมณ์โกรธจัดหลังจากที่ถูกสั่งให้ไปทำความสะอาดห้องของเขาเอง เด็กที่มีนิสัยชอบเถียงมักเกิดจากไม่รู้สถานะของตัวเอง และของพ่อแม่ ทำให้เขาไม่ยอมรับในบทบาทอำนาจของคุณ เด็กที่ชอบพูดว่า “หนูไม่ต้องทำ และคุณพ่อคุณแม่ห้ามบังคับหนู” เด็กที่มีนิสัยลักษณะนี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ในการชี้แนะให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเอง ลูกอาจกำลังทดสอบหรืออาจกำลังส่งสัญญาณให้คุณรู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องสอนให้ลูกรู้ถึงขอบเขตของเขาและของพ่อแม่ ซึ่งนั่นจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมลูกจึงไม่ควรพูดจาโต้เถียงพ่อแม่อย่างนั้น
บางครั้งการที่ลูกพูดจายอกย้อน อาจมีสาเหตุมาจากความรู้สึกกลัวในคำขู่เข็ญ หรือคำตำหนิของพ่อแม่ที่เพิ่งพูดกับเขาไว้ก็ได้ บางทีลูกอาจไม่เข้าใจ และไม่รู้ความหมายของสิ่งที่พูดออกไปก็ได้ หรือบางทีลูกอาจเข้าใจดีและตั้งใจที่จะพูดจายอกย้อนใส่เพื่อตอบโต้พ่อแม่ เมื่อพ่อแม่พูดว่า “บางครั้งลูกต้องรู้จักคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นบ้าง ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง” ถือเป็นคำพูดที่ดีในการสั่งสอนลูก แต่ก็เป็นวิธีการสื่อสารที่ตรงและรุนแรงเกินไปสำหรับลูกที่จะยอมรับได้โดยง่าย ซึ่งอาจจะเป็นผลให้ลูกตอบกลับมาอย่างโกรธๆ ว่า “ไม่ แม่ต่างหากที่ต้องคิดถึงคนอื่นบ้าง ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง!” คำพูดย้อนลักษณะนี้แสดงว่าลูกไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่พูดแล้ว การพูดจายอกย้อนของลูกจะทำให้พ่อแม่ใช้คำตำหนิที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้ลูกเก็บคำพูดเหล่านี้เอาไว้ในใจ
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เด็กชอบพูดย้อนผู้ใหญ่ เช่น เด็กรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และไม่เคยมีใครรับฟังเขาหรือไม่? หรือรู้สึกว่าตัวเองสำคัญมากเกินไป และกังวลว่าไม่มีใครอยู่เคียงข้างเขา หรือช่วยให้เขารู้วิธีที่จะควบคุมตัวเองได้?, เด็กอาจจะไม่เข้าใจว่าคำพูดย้อนของเขาจะส่งผลอย่างไรกับคนอื่น จึงควรมีใครสักคนช่วยอธิบายให้เขาเข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่ถูกย้อน, คนที่อยู่รอบข้างเขาพูดจาอย่างไรกันบ้าง, เด็กมีโอกาสได้ยินคำพูดจาถากถาง หรือโต้เถียงอยู่เป็นประจำหรือไม่
วิธีที่จะป้องกันไม่ให้ลูกมีนิสัยย้อนคำพูดคนอื่น มีดังนี้
1.ขั้นแรก ตั้งกฎขึ้นมาเลยว่า “การพูดแบบนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”
2.ถ้าลูกแสดงอาการต่อต้านหรือร้องไห้ ควรรอให้ลูกสงบอารมณ์ตัวเองลงก่อน แล้วจึงค่อยสอนให้ลูกเข้าใจถึงวิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง ลูกอาจต้องการเวลาอยู่เงียบๆ คนเดียวสักพัก หรืออยู่ตามลำพังในห้องของเขาเอง จากนั้นเมื่อลูกพร้อมให้คุณเข้าไปกอด หรือทำให้ลูกอารมณ์ดีขึ้น
3.ให้แน่ใจว่า ลูกรู้ว่าการพูดจาลักษณะนี้จะทำให้ลูกไม่ได้รับในสิ่งที่เขาต้องการ เพราะจะไม่มีใครตอบสนองในสิ่งที่ลูกพูด เช่น “เวลาที่หนูพูดย้อนคนอื่นจะไม่มีใครฟังหนู ดังนั้นหนูจะต้องเปลี่ยนน้ำเสียงเสียใหม่ แม่อยากฟังในสิ่งที่หนูจะพูด”
4.แนะนำวิธีที่ดีในการพูด หรือบอกให้คนอื่นเข้าใจเหตุผลของตัวเองกับลูก เช่น “หนูสามารถที่จะไม่เห็นด้วยกับบางเรื่อง แต่หนูต้องบอกแม่ว่าเพราะอะไรหนูจึงไม่เห็นด้วย แม่จะได้เข้าใจหนู แม้ว่าบางครั้งแม่จะไม่เปลี่ยนใจตามหนู แต่แม่ก็อยากรู้ว่าหนูคิดยังไง แม่อาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของหนูได้ แต่ก็สามารถช่วยอธิบายให้หนูเข้าใจได้ว่า ทำไมแม่ถึงต้องพูด หรือให้หนูทำอย่างนั้น”
5.ให้โอกาสลูกได้ขอโทษและแก้ตัวใหม่อีกครั้ง เช่น “หนูพร้อมที่จะขอโทษแม่ไหมที่หนูพูดจาไม่ดีกับแม่”, “หนูพร้อมที่จะบอกในสิ่งที่หนูต้องการกับแม่ใหม่ไหม ด้วยคำพูดและน้ำเสียงที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
6.ให้แน่ใจว่า ลูกรู้ในสิ่งที่เขาพูดย้อน และรู้ถึงผลที่จะกระทบคนที่ลูกพูดจาย้อนใส่ เช่น “เวลาที่หนูพูดจาแบบนั้น (หรือเวลาที่หนูพูดด้วยน้ำเสียงแบบนั้น) คนฟังเขาจะรู้สึกโกรธ หรือเสียใจกับคำพูดของหนู เขาจะไม่อยากฟังหนูพูดอีก เวลาที่หนูมีเรื่องสำคัญที่จะพูดกับเขา หนูต้องคิดว่าจะพูดยังไง เขาถึงยอมฟังหนูพูด”
บางทีลูกอาจยังไม่เข้าใจว่าคำพูดจายอกย้อนของเขาจะส่งผลอะไรให้กับใครได้ ดังนั้นคุณอาจต้องใช้วิธีสนุกๆ ในการสอนให้ลูกเข้าใจ เช่น ใช้น้ำเสียงติดตลกของตัวการ์ตูนอธิบาย หรือแสดงให้ลูกเห็นว่าวิธีการพูดที่แตกต่างกันจะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างไรบ้าง ซึ่งคุณจะต้องระมัดระวังว่าลูกเข้าใจจริงๆ ไม่ได้หลงคิดไปว่าคุณกำลังเล่นสนุกอยู่กับเขา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)