
© 2017 Copyright - Haijai.com
ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด
อาการถ่ายเป็นเลือดอุจจาระเป็นเลือดพบได้บ่อย ประชากรประมาณร้อยละ 8 มีปัญหานี้ในรอบหนึ่งปี หรือพบในประชากรมากถึงร้อยละ 15 แต่มีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่ไปพบแพทย์ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งกังวลว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้หรือไม่ นพ.จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหาร มาช่วยไขสารพัดข้อสงสัยเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจกับอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด และให้รู้ว่ามีผลต่อสุขภาพอย่างไร
ถ่ายเป็นเลือดอุจจาระเป็นเลือด คือ อุจจาระมีสีแดงสดของเลือด แสดงว่ามีเลือดออกอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือด้านซ้ายของร่างกาย คนไข้มักจะมองเห็นเลือดอยู่ในโถชักโครกชัดเจน แต่ต้องพิจารณาว่าอุจจาระที่เข้าใจว่ามีสีแดงของเลือดนั้นเป็นสีเลือดจริง เนื่องจากหลายคนมองอุจจาระสีน้ำตาลเข้ม (ที่ปกติ) เป็นสีแดงคล้ายเลือด อาหารสีแดงไม่ทำให้อุจจาระเป็นสีแดง นอกจากนี้ยังมีโรคบางอย่างที่ทำให้มีเลือดออกที่ระดับสูงกว่าลำไส้ส่วนปลาย คือ ลำไส้ข้างขวา รวมทั้งลำไส้เล็กส่วนปลาย อุจจาระอาจมีสีดำแดงไม่แดงสด เนื่องจากถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่
Q : ถ่ายเป็นเลือดอุจจาระเป็นเลือด จะมีความร้ายแรงมากหรือไม่?
A : ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับจำนวนเลือดที่ออกและสาเหตุ
• จำนวนเลือดที่ออก ถ้าเลือดออกมากจะมีความรุนแรงสูงกว่า คนไข้สามารถประเมินจำนวนเลือดได้โดยตรงจากปริมาณของเลือดที่เห็นในอุจจาระแต่ละครั้งและจำนวนครั้งที่ถ่าย อุจจาระที่มีเลือดอาจเป็นลักษณะมีเลือดติดออกมาหรือเคลือบอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของก้อนอุจจาระหรือออกมาเป็นหยดๆ หลังถ่ายอุจจาระถือว่าออกไม่มากนัก ถ้าอุจจาระเป็นเลือดเพียงอย่างเดียว ไม่มีสีอุจจาระปกติ แสดงว่าเสียเลือดมากกว่า และถ้าอุจจาระเหลวเป็นนำเลือดเพียงอย่างเดียว แสดงว่าเลือดออกมากกว่าที่เป็นก้อน และถ้าออกหลายๆ ครั้ง อาจทำให้เป็นลมหมดสติ หน้ามืด ไม่มีแรง และความดันโลหิตต่ำได้ ดังนั้นคนไข้ที่มีถ่ายอุจจาระเป็นเลือดอย่างเดียว โดยไม่มีสีอุจจาระปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
• สาเหตุ ว่าเกิดจากโรคอะไร โดยโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของอุจจาระเป็นเลือดที่พบบ่อย ได้แก่ ริดสีดวงทวารรอยถลอกหรือแผลรอบทวาร เนื้องอกชนิดติ่งเนื้อที่ลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
เมื่อคนไข้มาพบแพทย์ แพทย์จะพิจารณาลักษณะของความรุนแรงควบคู่ไปกับพิจารณาสาเหตุของโรค คนไข้ที่มีอุจจาระเป็นเลือดเล็กน้อย และมีอายุน้อยกว่า 40-50 ปี มักเกิดจากริดสีดวงทวาร แต่ถ้าคนไข้มีอายุมากกว่า 50 ปี ไม่ว่าจะออกมากหรือน้อย หรือทุกคนที่มีเลือดออกจำนวนมาก อาจเป็นโรคที่มีความรุนแรงได้ ต้องตรวจหาสาเหตุโดยเร็วและบางรายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
Q : คนไข้สามารถรักษาด้วยตัวเองได้หรือไม่
A : การรักษาตนเองเริ่มต้นจากากรรักษาโรคท้องผูก และอย่าเบ่งอุจจาระแรงมากนัก แต่อาจไม่ช่วยให้เลือดหยุด การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าเกิดจากโรคอะไร ทุกคนที่มีอุจจาระเป็นเลือดควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เราอาจจะสามารถแยกแยะโรคอย่างคร่าวๆ ได้ระดับหนึ่งว่าอาการใกล้เคียงกับโรคใด โดยดูจากลักษระโรคต่างๆ ที่พบบ่อยๆ ดังต่อไปนี้
ริดสีดวงทวาร เกิดจากมีแผลที่บริเวณเส้นเลือดดำที่ปลายทวาร ทำให้เลือดออก การเบ่งอุจจาระอย่างแรงจะทำให้เส้นเลือดเหล่านี้บวมพองขึ้น ถ้าเป็นนานๆ การบวมนี้จะไม่ยุบและเป็นริดสีดวงทวาร เลือดที่ออกมักจะออกเวลาเบ่งถ่ายอาจจาระหรือหลังการถ่าย มักจะมีเลือดออกเป็นหยดๆ อุจจาระสีปกติ ไม่เจ็บ คนไข้ส่วนใหญ่มีอาการเป็นๆ หายๆ หรือมักเป็นเวลาท้องผูก
เลือดออกจากผิวหนังรอบทวาร เกิดจากการมีแผลรอบๆ ทวาร อาการที่พบบ่อย คือ เจ็บที่ทวารและมีเลือดติดกระดาษชำระ มักมีอาการแสบๆ เจ็บๆ บริเวณรอบๆ ทวาร บางครั้งเกิดจากอุจจาระแข็งบาดปลายทวาร ทำให้มีอาการเจ็บ หรือเกิดจากแผลในเนื้อรอบๆ ทวารอื่นๆ หรืออาจเกิดจากการเช็ดที่รุนแรงหลังถ่ายไม่เกี่ยวกับการเบ่ง
ลำไส้มีรูพรุน เกิดจากผิวด้านในของลำไส้บุ๋มเป็นรูออกไปนอกผนังลำไส้ เกิดจากการบีบเกร็งของลำไส้เรื้อรัง บางครั้งทำให้เกิดเลือดออก มักไม่มีอาการปวดท้อง อุจจาระมักเป็นสีแดงสด โดยไม่มีสีอุจจาระปกติ ออกมาตอนถ่ายอุจจาระ อาจออกมากจนเป็นลมได้ เกิดในคนสูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว
เส้นเลือดผิดปกติของลำไส้ใหญ่ เกิดจากเส้นเลือดเล็กๆ ที่มีการเพิ่มจำนวนผิดปกติ และมีเลือดออก มักพบในผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี อุจจาระเป็นเลือดสดทั้งก้อนหรือเป็นน้ำเลือด ไม่มีอาการปวดท้อง แม้ว่าอาจจะหยุดได้เอง แต่แนะนำให้ดูอาการในโรงพยาบาล อาการที่เกิดขึ้นมักแยกไม่ออกจากโรคอื่นๆ
ติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่ เนื้องอกเหล่านี้เกิดจากกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ มักพบในคนที่อายุเกิน 50 ปี และอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ในอนาคต คนไข้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ต้องใช้วิธีการส่องตรวจด้วยกล้องจึงจะเห็น บางครั้งทำให้เกิดเลือดออกและทำให้อุจจาระเป็นเลือดได้ ลักษณะอุจจาระอาจมีเลือดเคลือบผิวของอุจจาระที่ปกติหรือออกมาเป็นเลือดสดๆ มักจะออกไม่มาก เป็นๆ หายๆ ไม่มีอาการปวดท้อง การตรวจลำไส้ใหญ่ เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี จึงมีความสำคัญเพื่อตรวจหาติ่งเนื้อเหล่านี้
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนใหญ่พบในคนสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี อาการสำคัญของโรค คือ การขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย อุจจาระมีเลือด เป็นต้น บางรายอาจมาด้วยอาการเสียเลือดจนเป็นโรคโลหิตจาง คนไข้ส่วนใหญ่เมื่อมีอาการก็มักจะรักษาไม่หายขาด เกิดขึ้นต่อเนื่องจากติ่งเนื้องอกของลำไส้ใหญ่เกือบทั้งหมด การตรวจหาโรคโดยการตรวจลำไส้ใหญ่ ด้วยการส่องกล้องหรือวิธีอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อตัดติ่งเนื้อที่มี จึงสามารถป้องกันโรคนี้ได้
ลำไส้ใหญ่อักเสบ ลำไส้อักเสบส่วนใหญ่จะไม่มีถ่ายเป็นเลือดอุจจาระเป็นเลือด แต่อาจมีเลือดออกได้ ถ้าเกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคบิดทั้งมีตัวและไม่มีตัว ซึ่งอาการที่สำคัญ ได้แก่ ท้องเสียเป็นน้ำหรือถ่ายบ่อยๆ มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง อุจจาระมีมูกร่วมกับมีเลือด หรือถ่ายเป็นเลือดสดๆ บางโรคหายได้เอง อุจจาระเป็นเลือดก็เป็นอาการหนึ่งของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีอาการเป็นนานกว่าสองสัปดาห์ อาจมีอาการไข้ ผอมลง เบื่ออาหาร เป็นต้น ผู้ที่มีอาการนานกว่าสองสัปดาห์ต้องไปพบแพทย์ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องจะดีที่สุด
Q : ถ้ามีถ่ายเป็นเลือดอุจจาระเป็นเลือดต้องทำอย่างไรบ้าง?
A : วิธีการดูแลตนเอง หรือการตัดสินใจว่า เมื่อไหร่ควรจะไปพบแพทย์ มีหลักในการพิจารณาดังนี้
• เลือดออกจำนวนมากจนจะเป็นอันตรายหรือไม่ อาการแสดงที่บ่งบอกว่าเสียเลือดมาก คือ อาการหน้ามืด เป็นลม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติ หน้าซีดขาวกว่าคนอื่น อุจจาระออกมาเป็นเลือดจำนวนมากในแต่ละครั้งและถ่ายอุจจาระบ่อยๆ อาการอุจจาระเป็นน้ำเลือด อาการเหล่านี้แสดงว่ามีเลือดออกจำนวนมาก ควรไปหาหมอทันที
• ลักษณะอุจจาระเป็นอย่างไร เลือดออกระหว่างการเบ่งอุจจาระหรือหลังถ่ายอุจจาระ หากเป็นสีแดงสดออกมาแยกกับอุจจาระ หมายถึง รอยโรคหรือแผลอยู่ที่ปลายทวาร แต่ถ้าลักษณะออกมาเป็นหยดๆ อาจหมายถึงโรคริดสีดวงทวาร ในกรณีที่อุจจาระมีเลือดเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคริดสีดวงทวาร แสดงว่ามีแผลเลือดออกในลำไส้ใหญ่ ให้สังเกตสีเลือด ถ้าเป็นสีแดงสดมากๆ แสดงว่ารอยโรคอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ข้างซ้าย แต่ถ้าสีออกดำๆ แดงๆ บ่งบอกว่าอยู่ทางด้านขวาของลำไส้ใหญ่ โรคที่อาจะเป็นสาเหตุ เช่น โรคลำไส้มีรูพรุน เส้นเลือดที่ผิดปกติรวมทั้งติ่งเนื้องอก หรือโรคมะเร็งลำไส้ หากอุจจาระเป็นมูกปนเลือด เป็นลักษณะสำคัญของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ก็อาจพบได้ในโรคบิดแบบมีตัว (Amebiasis) และไม่มีตัว (Shigellosis) ได้เช่นกัน
• เป็นมานานแล้วหรือยัง คนไข้ส่วนใหญ่ที่มีเลือดออกนานๆ ครั้ง และแยกออกจากอุจจาระชัดเจน ซึ่งเป็นโรคริดสีดวงทวาร ส่วนใหญ่จะหยุดได้เอง โรคอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุมักมีเลือดออกปริมาณมากและถ่ายหลายครั้ง คนไข้มักจะรีบมาพบแพทย์เพราะดูน่ากลัวกว่า
• มีอาการปวดท้องหรือปวดทวารหรือไม่ เนื้อเยื่อส่วนภายในลำไส้ใหญ่ไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บ อาการปวดที่ปลายทวารเกิดจากเนื้อเยื่อรอบๆ ทวารหรือบริเวณในทวารส่วนปลายที่รับรู้ความรู้สึกได้ ถ้าเจ็บหลังถ่ายอุจจาระแข็งๆ อาจเกิดจากอุจจาระบาด บางครั้งมีเลือดติดที่กระดาษชำระมักจะหายได้เอง แต่ถ้าเป็นๆ หายๆ บ่อยๆ อาจเป็นแผลเรื้อรัง ควรพบแพทย์ อาการปวดในท้องที่ปวดแบบบิดๆ เป็นพักๆ อาจเกิดจากการอักเสบของลำไส้ใหญ่ เช่น เกิดจากการติดเชื้อ หรือเกิดจากการอุดตันของลำไส้ใหญ่ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คนไข้ที่มีอาการปวดท้องรุนแรงต้องไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขทันที
• อายุเท่าไหร่ คนที่อายุเกิน 50 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้น คนไข้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจละเอียดทุกคน ทั้งนี้เพื่อต้องการให้แน่ใจว่าคนไข้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง (Colonoscopy) เป็นวิธีที่ดีที่สุดในคนไข้ที่อายุมากกว่าห้าสิบปี
Q : ถ่ายเป็นเลือดอุจจาระเป็นเลือดจะเป็นมะเร็งลำไส้หรือไม่?
A : อุจจาระเป็นเลือดเป็นอาการสำคัญอาการหนึ่งของมะเร็งลำไส้ใหญ่ คนไข้ที่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 60 ปี และคนที่มีติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่เริ่มมีติ่งตั้งแต่อายุ 50 ปี ดังนั้น ถ้าคนไข้อายุน้อยกว่า 50 ปี โอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำ คนไข้จะมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น ถ้าในครอบครัวมีคนเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน เช่น พ่อแม่พี่น้องท้องเดียวกันเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ตรวจหาติ่งเนื้อหรือตรวจหาก้อนเนื้อ เพื่อค้นหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถ้ามีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ดังนั้น ถ้าคนไข้อายุน้อยกว่าที่กล่าวข้างต้นก็ไม่สมควรจะกังวลเรื่องมะเร็งมากเกินไป ถ้ามีอุจจาระเป็นเลือดก็น่าจะเกิดจากโรคอื่นๆ ตามที่อธิบายไว้แล้ว
Q : ไปหาหมอแล้วถ่ายเป็นเลือดอุจจาระเป็นเลือดจะหายขาดหรือไม่?
A : คำถามนี้ตอบยาก เพราะการที่อาการจะหายขาดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเกิดจากโรคอะไร เช่น ถ้าเป็นมะเร็งระยะแรกการผ่าตัดก็สามารถรักษาหายขาดได้ ถ้าตรวจพบติ่งเนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่สามารถตัดออกผ่านการส่องกล้องได้ แต่หลายโรคอาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เช่น ริดสีดวงทวารโรคลำไส้มีรูพรุน หรือโรคเส้นเลือดผิดปกติ เป็นต้น
Q : จะป้องกันไม่ให้ถ่ายเป็นเลือดอุจจาระเป็นเลือดได้อย่างไร ?
A : อาการถ่ายเป็นเลือดอุจจาระเป็นเลือดมีสาเหตุที่หลากหลายและลักษณะของโรคมีความแตกต่างกัน แต่มีคำแนะนำทั่วไปดั่งนี้
• รักษาสุขอนามัยของการถ่ายอุจจาระ อย่าให้ท้องผูกเรื้อรัง กินผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียดหรืออดนอนเกินไป ถ้าดูตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและรับการรักษาการถ่ายอุจจาระอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยป้องกันเลือดออกจากริดสีดวงทวารได้เป็นอย่างดี
• เมื่อมีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจลำไส้ใหญ่ ค้นหาติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ การตรวจลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุดคือการส่องตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องทุก 5 ปี การตรวจอื่นๆ ที่ได้ผลเช่นกัน ได้แก่ การตรวจลำไส้ด้วยการทำ CT scan ทุกห้าปี หรือการตรวจหาเลือดในอุจจาระเป็นประจำทุกปี (ความไวในการพบโรคมะเร็งลำไส้ระยะแรกจะลดลงตามลำดับ)
สุดท้ายนี้ หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะอุจจาระไม่เป็นเลือดกันทุกคน
นพ.จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหาร
(Some images used under license from Shutterstock.com.)