© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคหูชั้นกลางอักเสบ
สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับความแปรปรวนทางสภาพอากาศ คือ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เด็ก เล็กๆ ที่ร่างกาย และภูมิคุ้มกันในด้านต่างๆ ยังบอบบาง จึงทำให้เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างโรคไข้หวัดได้ง่ายๆ ค่ะ ซึ่งเจ้าเชื้อไวรัสจากไข้หวัด เมื่อแพร่กระจายเข้าสู่หูชั้นกลาง อาจทำให้ลูกเป็น “โรคหูชั้นกลางอักเสบ” ได้ค่ะ เราจึงชวนคุณแม่มารู้จักวิธีป้องกันโรคชนิดนี้กันค่ะ
โรคหูชั้นกลางอักเสบ คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณหูชั้นกลาง (หูชั้นกลางเป็นโพรงอากาศเล็กๆ อยู่ระหว่างเยื่อแก้วหู และหูชั้นใน) พบบ่อยในวัยเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี อาการหูชั้นกลางอักเสบมักพบร่วมหรือหลังจากมีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสหรืออาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในคอ หรือโพรงจมูกของคนเราทั่วไป ส่วนเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมักมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไข้หวัด เป็นต้น เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เด็กเล็กๆ เป็นหวัดได้ง่าย ทำให้เชื้อแบคทีเรียในบริเวณคอ หรือโพรงจมูก และเชื้อไวรัสจากไข้หวัดแพร่กระจายผ่านท่อยูสเตเชี่ยน (เป็นท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลาง และโพรงหลังช่องจมูก ทำหน้าที่ปรับความดันในหูชั้นกลางให้เท่ากับความดันบรรยากาศ) โดยเชื้อโรคจะผ่านท่อยูสเตเชี่ยนเข้าไปในหูชั้นกลาง จนเกิดการอักเสบ เมื่อมีการติดเชื้อจึงทำให้ท่อยูสเตเชี่ยนจะบวม และตัน ทำให้เกิดการสะสมของน้ำในหูชั้นกลาง หากมีเชื้อโรคในน้ำก็จะเกิดการอักเสบ จนแก้วหูบวม และทำให้ปวดหูมาก จนเกิดเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบขึ้นค่ะ
ซึ่งโรคหูชั้นกลางอักเสบ แบ่งตามระยะเวลาที่ป่วยเป็นโรคได้ 3 ระยะ คือ
• โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) เป็นโรคนี้น้อยกว่า 3 สัปดาห์
• โรคหูชั้นกลางอักเสบกึ่งเฉียบพลัน (subacute otitis media) เป็นโรคนี้นาน 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน
• โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (chronic otitis media) เป็นโรคนี้นานมากกว่า 3 เดือน
อาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบ
เด็กที่เป็นโรคนี้จะร้องกวน งอแง มีไข้สูง ไม่ยอมดูดนม แสดงออกว่าปวดในหูหรือดึงหูตัวเอง ในเด็กบางรายอาจมีอาการของไข้หวัด และภูมิแพ้ร่วมด้วยหรือมีอาการนำมาก่อน หรืออาจมีหนองไหลออกจากหู มีปัญหาในเรื่องการนอนหลับ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และอาการที่แสดง โดยแพทย์อาจจะเจาะเยื่อแก้วหูเพื่อเพาะเชื้อ ซึ่งจะช่วยบอกเชื้อก่อโรค และแนวทางการรักษาค่ะ แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา หรือเป็นอยู่นาน เป็นแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน จนเยื่อแก้วหูฉีกขาด ทำให้สูญเสียการได้ยิน เกิดการติดเชื้อเรื้อรัง ทำให้เยื่อแก้วหูทะลุมีอาการหนองไหลออกจากหูเรื้อรัง จนเชื้อโรคเข้าไปทำลายกระดูกหูบางส่วนทำให้หูอื้อหรือสูญเสียการได้ยิน หรือเกิดการติดเชื้อลุกลามจากหูชั้นกลางขึ้นไปทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง เกิดเป็นฝีหนองในสมอง
การรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ
1.การใช้ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะ ยารักษาอาการหวัด และภูมิแพ้ ยาแก้ปวด
2.การเจาะระบายน้ำจากหูชั้นกลาง การทำความสะอาดช่องหู ในกรณีที่มีน้ำหนอง
วิธีการป้องกันลูกจากโรคหูชั้นกลางอักเสบ
1.เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเด็กที่นอนดูดขวดนมมีโอกาสที่จะทำให้หูชั้นกลางอักเสบได้บ่อยกว่าเด็กที่ดูดนมแม่ เพราะอาจเกิดการสำลัก และอุดตันของท่อยูสเตเชี่ยนได้ค่ะ แต่หากจำเป็นต้องให้นมจากขวดนม ควรให้ลูกนอนในท่าที่ศีรษะลูกอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร
2.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีควันบุหรี่ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบได้
3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัด รวมถึงโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจโรคอื่นๆ
4.หากลูกเป็นโรคหวัด และภูมิแพ้ควรรีบรักษา เพื่อเป็นการควบคุมอาการของโรค
5.หากลูกมีอาการที่คุณแม่สงสัยว่า จะเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบให้รีบพามาพบแพทย์
หูเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้ลูกสามารถสัมผัสถึงเสียงต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเขา ทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่ร่างกายส่วนอื่นไม่สามารถสัมผัสถึงเสียงที่มองไม่เห็นได้ การดูแลรักษาหูของลูกให้ปลอดภัยจากโรคชนิดต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อพัฒนาการของลูก ซึ่งวิธีหนึ่งที่ง่ายแสนง่าย ที่สามารถป้องกันลูกให้ห่างไกลจากโรค คือ การให้ลูกได้ดื่มนมแม่ เพราะนอกจากลูกจะได้ภูมิคุ้มกันทางกายแล้วยังเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันทางใจให้กับลูกด้วยการค่อยๆ ถักทอสายใยแห่งความอบอุ่นระหว่างแม่กับลูกขึ้นในขณะที่ลูกดื่มนมแม่อีกด้วยค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)