![Haijai.com](https://www.haijai.com/my/logo/20150326_logo.png?t=2017-02-22)
© 2017 Copyright - Haijai.com
3 อ. 2 ส. พุทธธรรมเพื่อสุขภาพ
โรคหรือภาวะที่ทำให้ชาวโลกและชาวไทยเรา ป่วย พิการ และตายมากที่สุดในปัจจุบันนี้ คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Disease (NCD) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพาต และมะเร็ง ห้าโรคหลักที่กล่าวมานี้เป็นเป้าหมายที่ยุทธศาสตร์ระดับชาติ คือ “ยุทธศาสตร์ สุขภาพดี วิถีชีวิตไทย” ต้องการให้ชาวไทยเรา ป่วย เจ็บ ตายกันน้อยลง (อโรคยา ห้าโรค) โดยใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่า “ใส่ใจ 3 อ. บอกลา 2 ส.”
“3 อ. 2 ส.” คือ อ.อาหาร อ.ออกกำลังกาย อ.อารมณ์ (ออกกำลังใจ) ส.สูบบุหรี่ และ ส.เสพสุรา เน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างพอเพียง เพิ่มอิริยาบถ เคลื่อนไหว ออกแรงออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ดูแลภาวะจิตใจ อารมณ์ให้มีความสงบสุข ไม่เซ็ง ไม่ซึมเศร้า ไม่เครียด ไม่ฟุ้งซ่านจนเกินไป ให้เกิดความ “รู้ ตื่น และ เบิกบาน” สำราญใจสบายอารมณ์ หรือเรียกว่า การออกกำลังใจ งดการสูบบุหรี่หรือดมควันบุหรี่จากผู้อื่นที่สูบและลด ละ เลิก การดื่มสุราของมึนเมา ยาเสพติดให้โทษ
ทำไมต้องธรรมพุทธศาสดา ?
(ขออภัยสำหรับผู้นับถือศาสนาอื่นด้วยครับ)
องค์ความรู้ที่ทั่วโลกใช้กันในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3 อ. 2 ส. มีพื้นฐานมาจาก
• การศึกษาวิจัยด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตะวันตก (ความรู้ระดับโลก Global knowledge) เช่น การแพทย์สาธารณสุขแบบตะวันตกหรือกระแสหลัก
• ความรู้เฉพาะถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น (ความรู้เฉพาะถิ่น Local knowledge) เช่น การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็น
• ความเชื่อตามกัน เป็นแฟชั่น ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ค่อยๆ จางหายไปเอง เช่น ล้างพิษตับ น้ำหมัก มะรุมเม็ด
• การแพทย์ทางเลือก ที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนพอที่จะเป็นการแพทย์กระแสหลัก เช่น วิตามิน อาหารเสริมบางชนิด จึงไม่ได้มีการใช้และอยู่ในการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ นักศึกษาแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข
• การแพทย์ผสมผสาน เช่น แพทย์แผนไทย แผนจีน ฝังเข็ม ชี่กง ไท้เก้ก โยคะ อาหารไทย ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนให้ใช้ผสมผสานกับการแพทย์ตะวันตกกระแสหลัก มีการใช้และสอนในโรงเรียนแพทย์ วิทยาลัยพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข
หลายสิบปีผ่านมา องค์ความรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในการดูแลสุขภาพ รักษาและป้องกันโรค แต่จำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกลับเพิ่มมากขึ้น เพราะ “ความอยาก” อ.อร่อยเกิน “ความอยาก” อ.อยู่สบายเกิน และ “ความอยาก” อ.เอาแต่ใจเกิน เมื่อไม่ได้ดั่งใจ ก็เครียด ก็เซ็ง ซึมเศร้า ยิ่งเครียดก็ยิ่งกิน ยิ่งนอน ยิ่งขี้เกียจ ก็ยิ่งอ้วนมากขึ้น โรคเบาหวานและพวกความดันฯ และคณะ ก็ตามมาเป็นขบวน บางคนยิ่งเครียด เซ็ง ก็ยิ่งสูบบุหรี่ กินเหล้า คลายเครียด แก้เซ็ง ดังนั้น ปัญหาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้อยู่ที่ “ไม่รู้” เพราะแม้แต่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ “รู้หมด” ว่า 3 อ. 2 ส. คืออะไร ทำอย่างไร แต่ก็ “อดไม่ได้” เพราะเอาชนะ “ความอยาก” ไม่ได้
สรุปว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าว เกิดจาก “การกิน-อยู่” ที่ อ.อร่อยเกิน อ.อยู่สบายเกิน อ.เอาแต่ใจตัวเอง เพราะ “ความอยากอร่อย สบาย เอาแต่ใจ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กิเลส” ถ้าชาวไทยและชาวโลกลดกิเลสการกิน-อยู่ลง (กิเลส แมนเนจเมนท์) จะป่วย พิการ และตายน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่
คำถามต่อไป คือ “ใครเป็นผู้ที่บริหารจัดการกิเลส (Kiles Management) ได้ดีที่สุด เก่งที่สุดในโลก”
คำตอบ คือ “ศาสดา”
ดังนั้น คำพูดที่ศาสดาตรัสสอนไว้หรือธรรมวินัยจากพระโอษฐ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ผู้ศึกษา-ปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (สันทิฏฐิโก) ปฏิบัติให้ผลได้ไม่จำกัดเวลา (อกาลิโก) ควรเชิญชวนให้ผู้อื่นมาดู (เอหิปัสสิโก) ควรน้อมนำเข้ามาใส่ตัว (โอปะนะยิโก) และ ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน (ปัจจัตตัง) จึงเป็นสัทธรรมที่จริงแท้ เป็นประโยชน์เกื้อกูล น่าพึงพอใจกว่าองค์ความรู้ใดๆ โดยไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกาล
อ.อาหาร กับ ธรรมวินัยพุทธศาสดา
พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอาหารไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น
• ธรรม 5 ประการเป็นเหตุให้อายุยืน ในข้อที่ 3 “ให้บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย” ส่วนธรรม 5 ประการเป็นเหตุให้อายุสั้น ข้อที่ 3 คือ บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ความหมายของคำว่า “ย่อยง่าย” “ย่อยยาก” เมื่อนำมาเทียบเคียงกับเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตาย (อายุสั้น) ของชาวโลกในปัจจุบันจะสรุปได้ว่า บริโภคอาหารที่หวาน มัน เกลือ (โซเดียม) สูง อ้วน สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เพิ่มโอกาสตายหรืออายุสั้น ส่วนการบริโภค พืช (ผัก ผลไม้) สด ลดเกลือ เนื้อน้อย ด้อยมัน น้ำตาลต่ำ ลดโอกาสตาย หรืออายุยืน สรุปว่า บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย หมายความว่า กินอาหาร เครื่องดื่ม ที่บริโภคแล้ว “ย่อยสลายง่าย” ไม่พอกพูนสะสมในร่างกายจนน้ำหนัก น้ำตาล ไขมัน ความดันเลืดเพิ่มขึ้นจนเกิดเป็นโรคอ้วน เบาหวาน หลอดเลือดตีบจากไขมันสะสม ความดันเลือดสูง
• พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน” เมื่อเทียบเคียงกับการศึกษาการกินอาหารของชาวโอกินาวา ซึ่งเป็นประชากรที่อายุยืนที่สุดในโลก พบว่าชาวโอกินาวากินอาหารเพียงร้อยละ 80 ของความอิ่ม ซึ่งการจำกัดพลังงานจากการกินอาหาร (calorie restriction) เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อว่าทำให้อายุยืน
• ปริมาณอาหารที่กิน พระพุทธองค์ทรงสอนให้ไม่กินเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อตบแต่ง แต่ให้กินเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้ ไม่ลำบาก กินเพียงบรรเทาเวทนาเก่า (คือ ความหิว) จักไม่ให้เวทนาใหม่ (คือ ความอิ่มจนอึดอัด) เกิดขึ้น” สรุปคือกินแค่ “หายหิว” การกินอิ่มเกินไปจนอึดอัด (heavy meal) ที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
อ.อิริยาบถ ออกแรง ออกกำลังกาย กับ ธรรมวินัยพุทธศาสดา
การกินอาหารที่มีคุณภาพ “ย่อยง่าย” ปริมาณ “หายหิว” ตามธรรมวินัยศาสดา เป็นการกินอาหารอย่างพอเพียง โดยเฉพาะสำหรับพระภิกษุสายอรัญญวาสี ซึ่งฉันอาหารเพียงวันละมื้อเดียวตามหลักธุดงควัตร การเคลื่อนไหวออกแรงแค่ “เดิน” ก็เพียงพอแล้วที่จะดูแลรักษาสุขภาพ (อาพาธน้อย อายุยืน) ไม่จำเป็นต้องไปเต้นแอโรบิก หรือกิจกรรมทางกายที่หนักกว่า มากกว่าการเดิน (กินไม่เกิน เดินก็พอ) พระพุทธองค์จึงบัญญัติการเดินจงกรม เป็นกิจกรรมทางกายสำหรับชาวพุทธ อานิสงส์ (ผลแหงความดี) ของการเดินจงกรม 5 ประการคือ
• ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล 1
• ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร 1
• ย่อมเป็นผู้มีอาพาธ (ป่วย) น้อย 1
• อาหารที่กินดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี 1
• สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน 1
จะเห็นได้ว่า การเดินจงกรม นอกจากจะเป็นคนที่สุขภาพดีขึ้น (ป่วยน้อย คือ ลดโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน มะเร็งบางชนิด เป็นต้น) ยังทำให้อาหารย่อยได้ดี (ย่อยง่ายขึ้น) ด้วย การเดินหลังอาหาร 15 นาทีทุกมื้อ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นหลังอาหารในผู้ป่วยที่กำลังจะเป็นโรคเบาหวานได้ดีกว่าเดินเวลาอื่น เพราะทำให้ระดับน้ำตาลหลังอาหารที่สูงขึ้น ถูกนำไปใช้ที่กล้ามเนื้อแขนขา หรือย่อยสลายได้ง่ายขึ้น
อ.ออกกำลังใจ กับ ธรรมวินัยพุทธศาสดา
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน-อยู่ จาก “รู้หมด อดไม่ได้” มาเป็น “รู้หมด อดให้ได้” ต้องอาศัย “กำลังใจ” ที่จะเอาชนะกิเลส (ความอยากอร่อยเกิน สบายเกิน เอาแต่ใจเกิน) พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องกำลัง 4 ประการ เพื่อก้าวล่วงภัย ไม่กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต (รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บจากการใช้ชีวิต) กำลัง 4 ประการ คือ กำลังคือปัญญา (เจริญวิปัสสนา ด้วย อานาปานสติ หรือ นั่งรู้ลม) กำลังคือความเพียร (อดทนต่อการบำเพ็ญเพียรด้วยการเดินจงกรม) กำลังคือการงานไม่มีโทษ (มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ คือ มีวินัย มีศีล และอานาปานสติสมาธิ) กำลังคือการสงเคราะห์ (สังคหวัตถุ 4 คือ ทานหรือการให้ ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา) สรุปเป็นแนวปฏิบัติคือ การออกกำลังใจ คือ การให้ วินัย นั่งรู้ลม เดินจงกรม อุดมปัญญา หรือ ทาน ศีล ภาวนา (อานาปานสติสมาธิ) และเดินจงกรม เพื่อสมถะ วิปัสสนา คู่เคียงกันไป)
ออกกำลังใจ 5 วิธีนี้ ถ้าให้เลือกวิธีเดียวก็ให้เลือก “นั่งรู้ลม หรือ อานาปานสติ” เพราะเป็นวิหารธรรม (ที่ตั้งของใจ) ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เองมาตลอด และตรัสสอนมากที่สุด ผู้ที่มีทุกข์ทรมานทางกายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ การเจริญอานาปานสติสมาธิ ช่วยทำให้กายเราไม่ลำบาก อดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ทางกายได้
ส.สูบบุหรี่ กับ ธรรมวินัยพุทธศาสดา
แม้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ แต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้สูบบุหรี่เป็นยาเหมือนที่กล่าวอ้างกัน และองค์ความรู้ทางโลกได้แสดงให้เห็นโทษของการสูบบุหรี่มากมาย เช่น อายุสั้น เพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคมะเร็ง เป็นต้น เป็นการเบียดเบียนตนเองทั้งผู้ที่สูบเองและผู้อื่นที่ดมควันบุหรี่ ซึ่งเป็นอกุศลกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงของชาวพุทธ นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังสอนว่า “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีอาพาธ (เจ็บป่วย) น้อยมีทุกข์น้อย ประกอบด้วยเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) อันมีวิบาก (ผลของกรรม) เสมอกัน ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นอย่างกลางๆ ควรแก่ความเพียรฯ” หมายความว่า ผู้ที่เจ็บป่วยน้อยไม่เป็นโรค จึงจะเหมาะสมในการเพียร ทำการงานได้ดี ดังนั้น การสูบบุหรี่เป็นเหตุปัจจัยทำให้เจ็บป่วยมาก จึงไม่สมควรจะสูบ
ส.สุรา กับ ธรรมวินัยพุทธศาสดา
พระพุทธเจ้าสอนว่า “การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย วิบากแห่งการดื่มน้ำเมาของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อความเป็นบ้า (อุมมัตตะกะ)” ผู้ที่ดื่มน้ำเมา จนระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 80 mg/dL จะคุมตัวเองไม่ได้ผลระยะยาวของการดื่มน้ำเมา เพิ่มโอกาสเกิดโรคมากกว่า 15 โรค เช่น อุบัติ ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบ ความดันเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งทางเดินอาหาร ตับ เต้านม เป็นต้น
ถ้ามีใครถามว่า “วิธีดูแลสุขภาพตนเองที่ดีที่สุด ง่ายที่สุด อย่างเดียว เพื่อให้เราห่างไกลจากโรคที่คนไทยเราเป็นกันมากที่สุดคืออะไร”
คำตอบ คือ “ทำตามธรรมวินัยที่พระศาสดาสอนไว้ ให้เจริญอานาปานสติสมาธิทุกขณะ จิตที่มีโอกาสในชีวิตประจำวัน แม้นั่งรู้ลม (หายใจ) เพียงชั่วลัดนิ้วมือ เช้า เที่ยง เย็น ก็ได้ประโยชน์ในการให้กำลังใจ เอาชนะความอยากอร่อยเกิน สบายเกิน เอาแต่ใจเกิน (กิเลสแมนเนจเมนท์) นำไปสู่ การกิน อ.อาหารที่ ย่อยง่าย หายหิว อ.อิริยาบถ ออกแรง ออกกำลังกายที่เพียงพอ ด้วยการเดินจงกรม อ.อารมณ์ที่ รู้ ตื่น และเบิกบาน ด้วยการให้ วินัย นั่งรู้ลม เดินจงกรม อุดมปัญญา งด ส.สูบบุหรี่ และ ลด ละ เลิก ส.สุราน้ำเมา และหลีกเลี่ยงอบายมุข”
ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)