Haijai.com


ฟันหัก เพราะกัดฟัน


 
เปิดอ่าน 5164

ฟันหัก เพราะกัดฟัน

 

 

เช้าตรู่วันหนึ่ง เมื่อเสียงโทรศัพท์มือถือหมอจุ้มจิ้มดังขึ้น... ปรากฏว่าปลายสายคือพี่เบิร์ด ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงของบริษัทแห่งหนึ่ง

 

 

หมอจุ้มจิ้ม : สวัสดีค่ะพี่เบิร์ด ไม่ได้คุยกันนานเลย สบายดีไหมคะพี่

 

พี่เบิร์ด : สวัสดีจุ้มจิ้ม พี่ไม่ค่อยสบายเท่าไหร่ อยากจะปรึกษาเรื่องฟันน่ะ คือ พี่คิดว่าพี่นอนกัดฟัน คงเป็นมานานแล้ว แต่ที่เป็นปัญหาคือเมื่อเช้านี้ตื่นมา ปรากฏว่าฟันห้าพี่โยก!! มันโยกเยอะมากจนน่ากลัว พี่กลัวว่าคืนนี้พี่จะกัดฟันจนมันหลุดแน่ๆ เลย ทำยังไงดี อีก 2 วัน พี่ต้องไปประชุมงานที่ต่างประเทศแล้วด้วย จะให้ฟันหน้าหลอ ไปประชุมก็ไม่ได้

 

 

หมอจุ้มจิ้ม : ใจเย็นๆ ค่ะพี่ ฟันที่โยกมันมีอาการอย่างไรบ้างค่ะ เจ็บ ปวด เสียว หรือรู้สึกอะไรไหมคะ ?

 

พี่เบิร์ด : ไม่เจ็บไม่ปวดอะไรเลย แต่มันโยกมากๆ พี่ว่าคืนนี้พี่ไม่รอดแน่ๆ

 

 

หมอจุ้มจิ้ม : งั้นเอาอย่างนี้ดีกว่าค่ะ เดี๋ยวจุ้มจิ้มขอดูฟันซี่นี้ก่อนนะคะ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เดี๋ยวเจอกันค่ะพี่

 

 

สุดท้ายผลปรากฏว่า ... ฟันพี่เบิร์ดหัก

 

 

ถ้าอ่านกันมาถึงตรงนี้แล้วอย่าพึ่งตกใจไปนะคะ ว่าการนอนกัดฟันจะทำให้ถึงขั้นฟันหักได้เลยหรือ จริงๆ แล้วเกิดขึ้นได้ยากมากค่ะ แต่ในกรณีนี้เกิดขึ้นได้เพราะว่า ฟันซี่นี้ของพี่เบิร์ดเคยเกิดอุบัติเหตุกัดกระแทกมาก่อนเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว และฟันคงจะตายจากแรงกระแทกครั้งนั้น แต่ไม่ได้มีอาการอะไรมากพี่เขาถึงไม่ทราบว่าฟันตาย และการที่ฟันตายก็เลยทำให้ฟันไม่แข็งแรง มีโอกาสแตกหักง่ายอยู่แล้ว ถ้าเจอแรงหนักๆ ซึ่งพี่เขาก็นอนกัดฟันมาเป็นเวลาหลายปี แรงจากการกัดฟันกระแทกฟันซี่นี้ จึงทำให้รากฟันหัก แต่ฟันด้านบนยังติดกับเนื้อเยื่อเหงือกอยู่ เลยทำให้เหมือนแค่โยกเฉยๆ แต่อันที่จริงหักหลุด 2 ท่อนแล้วค่ะ

 

 

ผลเสียจากการนอนกัดฟันก็มีหลายอย่างนะคะ ที่พบได้บ่อย คือ ถ้าคุณตื่นมาแล้วรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อกราม ขากรรไกรบริเวณหน้าหู หรือมีอาการลามไปถึงปวดขมับและศีรษะ คุณอาจกำลังประสบปัญหาจากโรคนอนกัดฟันอยู่ก็ได้ค่ะ และการนอนกัดฟันนี้จะทำให้มีอาการปวดฟัน เสียวฟัน จากฟันสึกและฟันโยกได้ และในที่สุดก็ส่งผลถึงบริเวณข้อต่อของขากรรไกร เช่น กลุ่มอาการของโรคขากรรไกรอักเสบ ทำให้อ้าปากไม่ขึ้น มีเสียงดังที่ข้อต่อขากรรไกรขณะอ้าหรือหุบปาก ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพียงอาการใดอาการหนึ่งหรือเกิดพร้อมๆ กันทุกอาการเลยก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นคนไข้ที่นอนกัดฟันเป็นประจำ หมอฟันส่วนใหญ่จะสังเกตได้ไม่ยากเลยค่ะ ฟันจะสึกราบเป็นหน้ากลองเลยทีเดียว แต่คนที่จะบอกได้ดีที่สุดน่าจะเป็นคนที่นอนอยู่ข้างๆ ล่ะค่ะ ว่าเราได้สร้างเสียงกัดฟันอันน่าสะพรึงกลัวให้กับคนรอบข้างขนาดไหน

 

 

ส่วนสาเหตุหลักของการนอนกัดฟันของพี่เบิร์ด ก็คือ “ความเครียด” ด้วยหน้าที่การงานที่ทำให้ต้องเครียดอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงนี้พี่เบิร์ดบอกเลยว่าเครียดมาก ฝันว่าเข้าประชุมกับเจ้าของบริษัททุกคืนเลย แต่สาเหตุอย่างอื่นก็มีนะคะ สาเหตุอีกประการหนึ่งอาจเกิดจาก “การสบฟัน (กัดฟัน) ที่ผิดปกติ” เช่น การมีฟันบางซี่สูงกว่าซี่อื่น ไม่ว่าจะเกิดโดยธรรมชาติหรือจากการอุดฟัน ใส่ฟัน ซึ่งจะทำให้การสบฟันผิดปกติ เกิดจุดสะดุดกัดกระแทกเวลาสบฟัน หรือเวลาเคี้ยวได้ พวกนี้จะทำให้เรานอนกัดฟันโดยไม่รู้ตัว

 

 

การนอนกัดฟันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัยในเด็กพบมากในช่วงอายุ 7-9 ปี สาเหตุมาจากการสบฟันที่ไม่สมดุล เนื่องจากเป็นระยะที่มีฟันแท้และฟันน้ำนมขึ้นปนกันในช่องปาก และจะพบน้อยลงหลังอายุ 12 ปี สาเหตุอื่นๆ อาจมาจากปัญหาการเลี้ยงดูปัญหาที่โรงเรียน เช่น โดนครูดุ ถูกฟ้อง ถูกรังแก เป็นต้น

 

 

การรักษาการนอนกัดฟัน มีตั้งแต่การนวดประคบร้อนเย็น ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาคลายเครียด การใส่ที่ครอบฟันสำหรับคนนอนกัดฟัน (Night guard) ไปจนถึงการใช้เฝือกสบฟัน (Occlusal splint) ซึ่งพบว่าผู้ป่วยมักจะมีอาการนอนกัดฟันลดลงหลังจากใส่เฝือกสบฟันไประยะหนึ่ง เนื่องจากการใช้เฝือกสบฟัน จะทำให้กล้ามเนื้อมีการผ่อนคลาย ลดการกัดเน้นฟันในขณะที่นอนหลับ โดยเฝือกสบฟันเป็นอะคริลิกใสชนิดแข็ง ใส่ที่ฟันซี่บนหรือล่างโดยเฉพาะเวลานอนทำโดยทันตแพทย์ และเป็นแบบเฉพาะบุคคล (แบ่งกันใส่ไม่ได้นะคะ) หลังจากใส่แล้วทันตแพทย์จะนัดให้มาตรวจ พร้อมทั้งปรับแต่งเครื่องมือชิ้นนี้เป็นระยะๆ

 

 

สิ่งสำคัญในการใส่เฝือกสบฟัน คือ การดูแลทั้งช่องปากและเครื่องมือ ขอให้พยายามปรับตัวให้เข้ากับเฝือกสบฟันหน่อยนะคะ อาจจะลำบากหน่อยในช่วงแรก แต่ใส่ไปสักพักก็จะเริ่มสบายค่ะ หลายคนอุตสาห์ทำมา แต่ใส่วันแรกแล้วนอนไม่สบาย จึงไม่ใส่อีกเลยก็มี

 

 

ส่วนผลการรักษาเนื่องจากความผิดปกติของระบบนี้เกี่ยวข้องกับหลายสาเหตุ รวมทั้งปัญหาระบบการบดเคี้ยวของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน วิธีการและระยะเวลาย่อมแตกต่างกันออกไปค่ะ ซึ่งท่านสามารถขอคำแนะนำจากทันตแพทย์ของท่านถึงการรักษาที่เหมาะสมได้ค่ะ

 

 

ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร

ทันตแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)