Haijai.com


ตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นจริงหรือ?


 
เปิดอ่าน 2696

ตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นจริงหรือ?

 

 

คุณคิดอย่างไรกับการตรวจสุขภาพ? คำถามนี้มักมีคำตอบยอดนิยม คือ “ก็ดี จะได้รู้สภาพร่างกาย รู้ว่าเราจะเป็นอะไรหรือเปล่า” “ช่วยให้รักษาง่ายและประหยัด ถ้ารู้ว่าเป็นโรคตั้งแต่ในระยะแรกๆ” “โอกาสที่จะรักษาหายมีมากกว่าที่มารู้และรักษาในระยะหลัง” และคำตอบอีกมากมายที่ล้วนเป็นประโยชน์จากากรตรวจสุขภาพ

 

 

แท้จริงแล้วเป้าหมายหลักของการตรวจสุขภาพไม่ใช่เป็นการ “ตรวจหาโรค” หรือค้นหาว่ามีโรคอะไรอยู่ในตัวเราบ้าง ดังที่เข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ “การตรวจสุขภาพ” คือ การตรวจค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค และหากสามารถขจัดได้ก็จะส่งผลให้ไม่ต้องเป็นโรค

 

 

“การตรวจสุขภาพต้องตรวจตอนที่ไม่เจ็บป่วย และไม่ใช่เหวี่ยงแหทำปีละครั้ง เหมือนกับการตรวจเช็ครถยนต์ แต่เป็นการตรวจดูความเสี่ยงที่จะเป็นโรค เพื่อลดความเสี่ยงนั้น โดยควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพด้วย ทุกวันนี้เกิดความเข้าใจผิดและไปเน้นที่การตรวจในห้องปฏิบัติการ แทนที่จะเป็นการส่งเสริมสุขภาพด้วยตนเอง” รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ประธานกรรมการมูลนิธิหมอชาวบ้าน และประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น “นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” กล่าว

 

 

ตรวจไม่ถูกต้องจะกลายเป็น “โทษมากกว่าคุณ”

 

จากความเข้าใจผิดที่มุ่งแต่การตรวจว่า “เป็นโรค” หรือ “ไม่เป็นโรค” แทนที่จะเป็นการตรวจเพื่อดู “ปัจจัยเสี่ยง” บวกกับการตื่นตัวและตื่นกลัวของสังคม จึงทำให้สถานพยาบาลหลายแห่งแม้แต่ภาครัฐให้บริการจัดโครงการตรวจสุขภาพภายใต้กลยุทธ์การตลาดแบบ ลด แลก แจก แถม หรือแบบเข้าแถมตรวจเป็นชุด (package) เป็นจุดขาย เพียงแค่การซักประวัติ ค้นหาปัจจัยเสี่ยงเพียงเล็กน้อย ซึ่งหากผู้ใช้บริการไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์และผลที่ออกมาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็อาจทำให้เจ็บตัว เสียสุขภาพจิต และสร้างเสริมพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้ ดังกรณี “ผลบวกลวง” และ “ผลลบลวง”

 

 

รศ.นพ.สุรเกียรติ กล่าวว่า “ผลลบลวง” คือ “เป็นโรคแล้ว แต่ตรวจบอกว่าปกติ ก็จะก่อให้เกิดความประมาท ไม่ปรับปรุงตัวเพื่อป้องกันโรค”  ตัวอย่างเช่น คนสูบบุหรี่ไปเอกซเรย์ปอดแล้วผลเป็นปกติ ก็ยังสูบบุหรี่ต่อไปหรืออาจจะสูบหนักขึ้น เท่ากับเป็นการสร้างเสริมพฤติกรรมหเลวร้ายยิ่งขึ้น

 

 

นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตรวจพบโรค ตั้งแต่ระยะต้นอยู่หลายประการ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เช่น มีข้อมูลว่า โรคมะเร็งอวัยวะหนึ่งหากตรวจพบในระยะที่ 1 (แรก) แล้วได้รับการรักษา พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตที่ระยะ 5 ปี ร้อยละ 80 และหากตรวจพบในระยะที่ 4 (สุดท้าย) พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตที่ระยะ 5 ปี ร้อยละ 10 ซึ่งข้อมูลดังกล่าว อาจไม่ได้หมายความว่า การตรวจพบโรคมะเร็งระยะที่ 1 จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าการตรวจพบเมื่อมีอาการแล้ว

 

 

เนื่องจากประการแรกเกี่ยวข้องกับระยะเวลาการดำเนินโรค หากโรคมะเร็งดังกล่าวมีการดำเนินโรคจากระยะที่ 1 ไปจนถึงระยะที่ 4 ใช้เวลานานมาก เช่น 20 ปี ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นอาจหมายความว่า ผู้ที่ตรวจพบโรคมะเร็งดังกล่าวในระยะที่ 1 จำนวนถึงร้อยละ 20 ที่เสียชีวิตในระยะ 5 ปี แต่ถ้าไม่ได้รับการตรวจพบหรือไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจำนวนร้อยละ 20 ดังกล่าว อาจไม่เสียชีวิตหรือยังไม่มีอาการเลยก็ได้

 

 

ปัจจุบันมีโรคมะเร็งเพียง 3 อวัยวะเท่านั้นที่มีผลการวิจัยที่แสดงว่า การตรวจพบรอยโรคตั้งแต่ระยะต้น โดยเฉพาะการตรวจพบรอยโรคก่อนมะเร็งแล้วให้ผลประโยชน์ต่อผู้ป่วยเหนือกว่าการตรวจพบระยะที่มีอาการแล้ว ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำนองเดียวกัน ยังมีโรค/ภาวะอื่น (ที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง) ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าหากตรวจพบภาวะดังกล่าวตั้งแต่ระยะต้นแล้ว จะส่งผลดีให้แก่ผู้รับการตรวจคือ ทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น ลดการเจ็บป่วยแทรกซ้อน ความพิการ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิต ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน สายตาผิดปกติ เป็นต้น

 

 

“การโหมกระแสโฆษณาทำให้คนวิ่งเข้าไปใช้บริการตรวจสุขภาพเพราะกลัว โดยเฉพาะคนเมืองที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เมื่อไม่รู้เท่าทันก็ไปใช้บริการเกินความจำเป็น ขณะที่คนที่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น จึงต้องมีนโยบายที่ออกมาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้คนที่ต้องตรวจได้ตรวจอย่างทั่วถึงและเบรกคนที่ใช้เกินความจำเป็นออกไป”

 

 

นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ


ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยประกอบด้วย 3 กองทุน คือ

 

 

1.สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สามารถรับบริการตรวจสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ได้ 16 รายการ

 

 

2.กองทุนประกันสังคม ไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ที่ชัดเจน มีเพียงกำหนดอย่างกว้างๆ ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจตามปัจจัยเสี่ยง ทำให้ผู้ประกันตนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเองหากต้องการตรวจสุขภาพตามที่ตนเองเห็นควร

 

 

3.กองทุนหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า มีการสนับสนุนการตรวจค้นหามะเร็งปากมดลูก ภาวะซึมเศร้า กลุ่มโรคเมตาบอลิก และเฮชไอวี แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงความจำเป็นในการตรวจสุขภาพของประชาชนทั้งหมด

 

 

มีรายงานที่น่าสนใจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีประชาชนที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิทั้ง 3 ระบบ ขอรับบริการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมจากปี 2552 จำนวน 821,319 คน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,510 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1,839 บาท/คน และในปี 2554 มีจำนวน 545,017 คน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 2,263 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 4,153 บาท/คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า การขอรับบริการมีอัตราที่ลดลงร้อยละ 33.64 แต่กลับมีค่าใช้จ่ายฉลี่ยต้อคนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 125

 

 

“จะเห็นว่ากลุ่มที่ได้รับสิทธิมาก ก็มีการใช้บริการที่เกินจำเป็น ขณะที่ระบบประกันสังคมจะมุ่งเน้นที่การรักษาเมื่อเป็นโรคแล้ว นี่คือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ดังนั้น จึงควรที่จะผลักดันให้มีหน่วยงาน เข้ามากำกับดูแลทั้งเชิงนโยบายเพื่อสร้างเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า และเป็นมาตรฐานที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องได้”

 

 

การตรวจสุขภาพจึงไม่ควรเป็นบริการที่ให้เฉพาะกลุ่มหรือคนที่มีโอกาสเข้าถึงเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงประชาชนตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงยอดหญ้า ให้มีโอกาสได้รับบริการขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงต้องมีคณะทำงานระดับชาติเป็นผู้วางนโยบายให้สามารถขับเคลื่อนได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลกระทบจากภาระทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดจากการตรวจสุขภาพ และลดความเสี่ยงจากการตรวจสุขภาพที่เกินจำเป็นนั่นเอง

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

(Some images used under license from Shutterstock.com.)