Haijai.com


กินยายากรับมืออย่างไรดี


 
เปิดอ่าน 16044

กินยายากรับมืออย่างไรดี

 

 

ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องประสบกับความล้มเหลงในการรักษาหรือควบคุมโรค เนื่องจากปัญหาการกินยายาก ทำให้ได้รับยาไม่ครบทั้งในเรื่องขนาดยาที่ใช้รักษา ซึ่งอาจไม่เพียงพอ หรือระยะเวลาที่ใช้รักษาไม่ครบตามเกณฑ์ จึงอาจเป็นสาเหตุให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น หรืออาจเกิดการดื้อยาได้

 

 

คนกลุ่มใดบ้างที่กินยายาก?

 

 กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการกินยามากที่สุด คือ “เด็ก” เด็กที่โตพอจะรู้เรื่องจะมีปัญหาขัดขืนหรือร้องไห้เมื่อต้องกินยา หรืออาจอาเจียนยาออกมาเมื่อยามีรสชาติที่ไม่ถูกใจ

 

 

 ผู้ป่วยบางคนที่มีปัญหาการกินยายาก เนื่องจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก เช่น ตอนเด็กเคยกินยาเม็ดแล้วเกิดอาการสำลักยาเม็ดที่กิน ทำให้ไม่สามารถกินยาเม็ดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ได้

 

 

 กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการกลืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคทางระบบประสาทที่ผิดปกติไป เช่น ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับความกระทบกระเทือนที่สมองจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมากต้องใส่สายให้อาหาร

 

 

เมื่อกลืนยาเม็ดหรือยาแคปซูลไม่ได้ ใช้ยาน้ำแทนได้ไหม?

 

ยาหลากหลายชนิดมีทั้งในรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูลและยาน้ำ ซึ่งเป็นยาตัวเดียวกัน โดยอาจมีขนาดยาที่เหมือนหรือแตกต่างกัน เช่น อะม็อกซี่ซิลลิน (amoxicillin) ในรูปแบบยาแคปซูล มี 2 ขนาดความแรง คือ 250 และ 500 มิลลิกรัม ต่อแคปซูล ส่วนรูปแบบยาน้ำมี 2 ขนาด ความแรงเช่นกัน คือ 125 และ 250 มิลลิกรัมต่อ 5 ซีซี พาราเซตามอล (paracetamol) ในรูปแบบยาเม็ดมี 2 ขนาดความแรง คือ 325 และ 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด ในรูปแบบยาน้ำมี 3 ขนาด ความแรง คือ 120 และ 250 มิลลิกรัมต่อ 5 ซีซี และ 100 มิลลิกรัมต่อซีซี โดยรูปแบบสุดท้ายเป็นพาราเซตามอลชนิดยาน้ำหยดสำหรับเด็กทารกหรือเด็กเล็ก

 

 

ยาน้ำจะมีรสหวานและกลิ่นหอม ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นส้ม กลิ่นสตรอว์เบอรี่ การแต่งกลิ่นแต่งรสนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็กยอมกินยา แต่เด็กก็อาจไม่ยอมกินยาอยู่ดี จึงต้องทำความเข้าใจกับเด็กจนกว่าจะยอมกินยา ไม่ควรใช้วิธีข่มขู่ เฆี่ยนตี หรือบีบจมูกเด็กพร้อมป้อนยาใส่ปาก และไม่ควรใส่ยาลงในนมให้เด็กกิน เพราะจะทำให้เด็กไม่ยอมกินนมไปด้วย เนื่องจากนมมีรสชาติเปลี่ยนไป

 

 

กรณีที่ผู้ป่วยกลืนยาเม็ดหรือยาแคปซูลไม่ได้ การเปลี่ยนจากการใช้ยาเม็ดมาเป็นยาน้ำเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด  แต่ส่วนใหญ่แล้วยาน้ำจะมีความแรงน้อยกว่ายาเม็ด ทำให้ต้องกินยาปริมาณมากกว่า เช่น ถ้าต้องการให้ผู้ป่วยผู้ใหญ่กินยาอะม็อกซี่ซิลลิน มื้อละ 500 มิลลิกรัม หากกินยาแคปซูลก็กินเพียงมื้อละ 1 แคปซูล แต่หากกินยาน้ำจะต้องกินมื้อละ 10 ซีซี (เท่ากับ 2 ช้อนชา) เป็นต้น จึงจะได้ปริมาณยาเท่ากัน แต่การกินยาน้ำจะได้น้ำตาลที่ใช้แต่งรสหวานไปด้วย ซึ่งอาจเป็นข้อห้ามของผู้ป่วยรายนั้นๆ ได้ หรืออาจทำให้ผู้ป่วยท้องอืด

 

 

ยาบางชนิดอาจมีเพียงรูปแบบยาเม็ดเท่านั้น การปรับเปลี่ยนเป็นยาน้ำก็ทำไม่ได้ แพทย์และเภสัชกรจะทำการเปลี่ยนยาให้โดยเปลี่ยนไปใช้เป็นยาชนิดอื่นที่อยู่ในกลุ่มยาเดียวกันหรือยาทางเลือกอื่นที่สามารถรักษาได้ไม่แตกต่างกัน โดยจะคำนึงถึงขนาดยาและความถี่ในการให้ยาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเหมาะสมให้ด้วย หากไม่มีทางเลือกอื่น ก็อาจต้องทำการบดเม็ดยาให้เป็นผง และนำไปผสมน้ำเล็กน้อย เพื่อให้กลืนยาได้ แต่ไม่ใช่จะบดยาได้ทุกชนิด ยาใดบดได้ ยาใดบดไม่ได้ ขอให้ท่านปรึกษาเภสัชกร

 

 

สามารถนำยาในแคปซูลมาผสมในเครื่องดื่มแล้วกินได้ไหม?

 

ยารูปแบบแคปซูลมีข้อดีคือ กินง่าย เพราะกลบรสและกลิ่นของยาได้ดี หากแกะเปลือกแคปซูล จะพบว่าภายในเป็นผงยา หรือ แกรนูล หรือ เม็ดยาเล็กๆ (pellet) ซึ่งประกอบด้วยตัวยาสำคัญ และอาจมีสารเพิ่มปริมาณหรือสารหล่อลื่น โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแกะเปลือกแคปซูล นำยาที่อยู่ภายในมาผสมน้ำแล้วกินได้ ยาที่สามารถนำมาผสมน้ำได้ เช่น คลินดามัยซิน (clindamycin) ดอกซีไซคลีน (doxycycline) ไรแฟมพิซิน (rifampicin) เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ควรผสมในน้ำเปล่า อาจมียาบางชนิดที่ให้ผสมในเครื่องดื่ม เช่น ชอคโกแลต ได้ แต่ยาบางชนิดหากไปผสมในนมหรือน้ำส้ม อาจทำให้สูญเสียยาไป ดังนั้น จึงควรปรึกษาเภสัชกร หากท่านต้องการนำยาไปผสมในเครื่องดืม

 

 

แต่ยาแคปซูลบางชนิดไม่แนะนำให้แกะเปลือกแคปซูล เนื่องจากแคปซูลเหล่านี้ถูกออกแบบให้มีการควบคุมการปลดปล่อยยาที่จะออกฤทธิ์ เมื่อเราทำให้แคปซูลเสียหาย หรือบดให้เม็ดยาภายในแคปซูลแตก จะมีผลต่อปริมาณยาที่ผู้ป่วยได้รับ โดยผู้ป่วยอาจได้รับยาขนาดสูงในช่วงเวลาอันสั้น ทำให้เกิดอาการเป็นพิษจากยาได้ ยาในกลุ่มนี้บางตัวชื่อยาจะลงท้ายด้วย SR (sustained release) CR (controlled release) หรือ MR (modified release) ทั้งนี้ควรอ่านฉลากยากและเอกสารกำกับยาอย่างละเอียด

 

 

ยาเม็ดรับประทานหักแบ่งครึ่งหรือบดได้หรือไม่?

 

ยาเม็ดรับประทานส่วนใหญ่เป็นชนิดยาเม็ดไม่ได้เคลือบหรือยาเม็ดเคลือบฟิล์ม จึงสามารถหักแบ่งครึ่งหรือบดเป็นผงได้ โดยผู้ป่วยยังคงได้ยาในปริมาณเท่าเดิมและคุณสมบัติของยาไม่เปลี่ยน เช่น พาราเซตามอล คลอเฟนิรามีน แต่ก็มียาที่ให้หลีกเลี่ยงการหักแบ่งหรือบด เป็นเพราะยาเหล่านี้ได้รับการออกแบบพิเศษ เพื่อให้มีคุณสมบัติในการป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทำให้ไม่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพรินชนิดเคลือบฟิล์มเอ็นเทอริก ยาไดโคลฟีแนกชนิดเคลือบฟิล์มเอ็นเทอริก เป็นต้น นอกจากนี้ก็มียาที่ได้รับการออกแบบให้มีการควบคุมการปลดปล่อยยาที่จะออกฤทธิ์ ทำให้ควบคุมอาการได้คงที่ ดังนั้นหากบดยาเหล่านี้ จะเป็นการทำลายคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว ซึ่งจะไปมีผลต่อปริมาณยาที่ผู้ป่วยได้รับ ผู้ป่วยอาจได้รับยาขนาดสูงในช่วงเวลาอันสั้น ทำให้เกิดอาการเป็นพิษจากยาได้ นอกจากนี้ยังมียารักษามะเร็งชนิดเม็ดหรือแคปซูลที่ควรกลืนทั้งเม็ดหรือแคปซูล หากท่านหรือญาติของท่านต้องใช้ยามะเร็งแล้วมีปัญหาการกลืน ควรปรึกษาเภสัชกรเพื่อดำเนินการหาทางแก้ไข หากทำการบดหรือหักเม็ดยาเอง ท่านได้รับละอองยาที่เป็นอันตราย

 

 

 

ผู้ป่วยที่มีสายให้อาหารจะให้ยาเม็ดได้อย่างไร?

 

ผู้ป่วยที่มีสายให้อาหาร เมื่อต้องให้ยาก็ต้องเลือกยาน้ำ แต่ถ้าไม่มียาน้ำก็ต้องให้ยาเม็ด แต่ยาเม็ดจะโตเกินกว่ารูของสายให้อาหาร ดังนั้นจะต้องบดยาเม็ดเป็นผงแล้วผสมน้ำ แต่ต้องพิจารณาด้วยว่ายาเม็ดนั้นๆ บดได้หรือไม่หากบดไม่ได้ ดังเช่นตัวอย่างยาที่กล่าวไปข้างต้น ก็ห้ามทำ มิฉะนั้นจะเกิดพิษ เนื่องจากได้รับยาเกินขนาดในกรณีนี้ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อเปลี่ยนชนิดยาให้ใหม่

 

 

อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เราไม่ควรแก้ปัญหาการกินยายากด้วยการหักแบ่ง บดเม็ดยา หรือแกะแคปซูลยา เพราะการกระทำนั้นต้องคำนึงถึงรูปแบบยาเป็นหลักว่า สามารถทำได้หรือไม่ ทำแล้วมีผลเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของยาหรือไม่ ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ หรือทำให้เกิดพิษของยาเนื่องจากได้รับยาเกินขนาดหรือไม่ ข้อสงสัยเหล่านี้ท่านสามารถสอบถามได้จากเภสัชกร และโปรดนึกถึงเภสัชกรทุกครั้งเมื่อต้องการคำปรึกษาเรื่องยา หรือเมื่อมีคำถามเรื่องยา

 

 

ภญ.ปนัดดา ภาณุสิทธิกร

(Some images used under license from Shutterstock.com.)