© 2017 Copyright - Haijai.com
คลายวิตก เรื่อง ตาต้อกระจก
คุณยาย อายุ 65 ปี หลังจากทราบว่าตัวเองมีปัญหาตาเป็นต้อกระจก ก็เริ่มกินไม่ได้ นอนไม่หลับ กังวลไปสารพัด ลูกหลานเองก็พลอยกังวลไปด้วย หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ บทความต่อไปนี้อาจช่วยไขข้อสงสัย คลายความวิตกให้คุณได้
ต้อกระจกเป็นอันตรายต่อดวงตามากน้อยแค่ไหน
ก่อนอื่นไม่ต้องวิตกกังวลมากจนเกินไป หากท่านอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป อาจถือว่าการเริ่มพบต้อกระจกเป็นเรื่องธรรมดา เฉกเช่นผิวหนังเหี่ยวย่นหรือผมเริ่มหงอก เพราะโรคต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของแก้วตาภายในดวงตาคนเรา พบได้ในผู้สูงอายุเกือบทุกคน กล่าวคือ เมื่อเราเกิดมาทุกคนจะมีแก้วตาภายในที่ใส แสงผ่านทลุได้ง่าย เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเลนส์แก้วตาก็เสื่อมลง ทึบแสง หรือขุ่นมัว โดยการขุ่นจะเริ่มทีละน้อยยิ่งขุ่นมาก ตาก็ยิ่งมัวมาก อีกทั้งต้องดูว่าการขุ่นมัวเริ่มที่จุดหรือบริเวณใดของแก้วตา ให้นึกถึงภาพแก้วตาเป็นเลนส์นูน มีความหนาอาจจะแบ่งส่วนของแก้วตาเป็นใจกลาง (nucleus) บริเวณขอบ (cortex) และบริเวณผิวนอกสุด (subcapsular) ถ้าความขุ่นเริ่มจากบริเวณใจกลาง ตาจะมัวลงทีละน้อยๆ และมัวลงอย่างช้าๆ แต่ถ้ามัวส่วนผิวนอกสุด มักจะมัวมากและรวดเร็ว เป็นคำอธิบายว่าทำไมบางคนเป็นแล้ว ต้อแก่หรือต้อสุกในเวลารวดเร็วภายใน 1-2 ปี บางคนอาจเป็นนานถึง 10 ปี กว่าต้อจะแก่จนถึงเวลาต้องผ่านตัด
มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคต้อกระจกเป็นไปตามวัย ส่วนน้อยที่เป็นจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งมักพบในคนอายุน้อยกว่า 60 ปี อาจมีสาเหตุจากโรคทางกาย ที่สำคัญ คือ เบาหวานที่ควบคุมไม่ดี เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา และรับประทานยาบางชนิดในโรคทางกาย ที่สำคัญ ได้แก่ ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น หากพบว่ามีโรคดังกล่าวเป็นปัจจัยให้เกิดต้อกระจกก็ควรรักษาร่วมกันไป เพราะฉะนั้นผู้ป่วยโรคต้อกระจกที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี จึงควรตรวจร่างกายเพื่อหาดูว่ามีโรคทางกายอะไรหรือไม่
ส่วนที่ว่าไม่ต้องกังวลเมื่อเป็นต้อกระจกนั้น เพราะในปัจจุบันการผ่าตัดลอกต้อทำได้ไม่ยาก สูงอายุเท่าไรก็สามารถรับการผ่าตัดลอกต้อทำได้ ขอเพียงให้ความร่วมมือขณะผ่าตัดเท่านั้น เพียงใช้ยาชาหยอดหรือบางรายฉีดยาชาร่วมด้วยก็ทำผ่าตัดได้แล้ว หากผู้ป่วยสูงอายุมาก มีอาการหลงลืมไม่ร่วมมือ จึงอาจพิจารณาผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ อีกทั้งการผ่าตัดแทบจะไม่เสียเลือดเลย หรืออย่างมากก็เลือดออกเพียงเล็กน้อยเป็นหยดเท่านั้น ไม่เจ็บปวดอะไรนัก สามารถทำได้โดยไม่ต้องรับตัวไว้ในโรงพยาบาล เมื่อเอาต้อออกแล้ว สามารถฝังแก้วตาเทียมแทนที่แก้วตาจริงที่เป็นต้อกระจกได้ในคราวเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถเลือกกำลังแก้วตาเทียมที่เหมาะสมแก้ไขสายตาผิดปกติที่มีอยู่เดิม จึงเป็นการแก้ไขสายตาผิดปกติที่มีอยู่เดิมพร้อมกันได้ อีกทั้งในปัจจุบันมีแก้วตาเทียมที่มีกำลังแก้วตาลดหลั่นกันเป็น multifocus ทำให้มองเห็นทั้งระยะไกลและใกล้ โดยไม่ต้องพึ่งแว่นสายตาอีก นอกจากนี้แก้วตาเทียมยังช่วยแก้ไขสายตาเอียงได้ด้วย แก้วตาเทียมที่ฝังในลูกตาจะอยู่กับผู้ป่วยนั้นไปตลอดชีวิต ไม่มีการเสื่อมแต่อย่างใด ดีกว่าแก้วตาจริงเสียอีก
เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มเป็นต้อกระจกควรทำอย่างไร
ต้องเข้าใจว่าตาจะพร่ามัวลงอย่างช้าๆ ควรระวังเรื่องอุบัติเหตุจากการมองไม่ชัด ทำทุกอย่างช้าลงบ้าง เนื่องจากการมองเห็นจะเลวลง ถ้ามีแสงสว่างหรือแสงจ้าเข้าตา การใช้แว่นกันแดด แว่นตัดแสง จะช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น การอ่านหนังสือคงทำได้ตามปกติ อย่าให้แสงไฟส่องเข้าตาจะทำให้อ่านหนังสือไม่ชัด
ในบางคนเมื่อเป็นต้อกระจก ทำให้สายตาเปลี่ยนไปในทางสั้น ถ้าเดิมมีสายตาสั้นอยู่จะสั้นเพิ่มขึ้น หรือถ้าเดิมสายตาปกติจะมีสายตาสั้นขึ้นมา อาจทำให้มองใกล้เห็นได้ดีขึ้นกว่าเดิม อ่านหนังสือได้ดีขึ้น ผู้สูงอายุที่เดิมอ่านหนังสือต้องใส่แว่น ต่อมาพบว่าอ่านหนังสือได้ด้วยตาเปล่า อย่าหลงเข้าใจว่าสายตาดีขึ้นเมื่อแก่ น่าจะสงสัยว่าเริ่มเป็นต้อกระจกแล้วมากกว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปัญหาสายตาระยะไกล อาจพิจารณาตัดแว่นใช้มองไกลไปก่อนระหว่างรอต้อกระจกแก่
ผู้ป่วยควรมารับการตรวจตาเป็นระยะตามนัดหมาย นอกจากตรวจเพื่อดูว่าต้อดำเนินไปอย่างไร ถึงเวลาผ่าตัดหรือยัง ยังต้องรับการตรวจว่ามีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง ผู้ป่วยบางรายระหว่างรอต้อกระจกแก่ พบว่ามีม่านตาอักเสบหรือต้อหินแทรกขึ้นมา ซึ่งทำให้ต้องพิจารณารับการผ่าตัดทันที
นอกจากนี้อย่าได้หลงเชื่อเพื่อนบ้านหรือหมอเถื่อนที่แนะนำให้ไปทำการเขี่ยหรือผลักต้อโดยอ้างว่ารักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีโบราณ เป็นการเขี่ยแก้วตาให้หลุดจากที่ ทำให้ไม่มีอะไรบังแสง จึงมองดูสว่างขึ้นในระยะแรก แต่เมื่อนานเข้าเนื้อแก้วตาที่ตกลงไปจะก่อให้เกิดการอักเสบภายในน้ำวุ่นตาขุ่นมัวลง จนไม่มีทางแก้ไข หรือบางรายเกิดต้อหินให้ตาบอดสนิทได้
ถ้าไม่อยากผ่าตัดจะใช้ยาหยอดละลายต้อได้หรือไม่
ในปัจจุบันยังไม่มียาหยอดที่สามารถละลายต้อได้ มียาหยอดบางชนิดเรียกว่าเป็นยาหยอดเพื่อชะลอต้อกระจก ให้แก่ช้าที่สุด ซึ่งอาจได้ผลในบางรายเท่านั้น กล่าวคืออาจทำให้ต้อกระจกไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ไม่สามารถแก้ไขหรือขจัดต้อออกไปได้ จึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน
โดยสรุป หากเริ่มเป็นต้อกระจกไม่ต้องวิตกกังวล ควรพบแพทย์เป็นระยะๆ และรับการผ่าตัดแก้ไขเมื่อถึงเวลา แล้วโลกจะสดใสเหมือนเดิม
ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)