© 2017 Copyright - Haijai.com
หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
ในขณะที่ท่านกำลังสบายใจยกกระเป๋าลงจากที่เก็บของท้ายรถ เพื่อจะขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวต่างประเทศหรือกำลังสนุกกับการสวิงไดร์ฟ์กอลฟ์ ก็เกิดอาการปวดแปล๊บจากบั้นเอวร้าวไปที่สะโพกหรือขาอย่างเฉียบพลัน ทำให้ต้องหยุดกิจกรรมที่น่ารื่นรมย์อย่างฉับพลัน อาการลักษณะนี้น่าจะเป็นเพราะ “หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนที่”
กระดูกสันหลังประกอบจากกระดูกชิ้นเล็กเรียงต่อกันคล้ายปล้องไม้ไผ่ข้อสั้นๆ ส่วนหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลัง ประกอบด้วยส่วนนอกที่เป็นพังผืดเหนียวหุ้มส่วนกลางที่เป็นสารที่มีความยืดหยุ่นทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกคล้ายโช้คอัพรถยนต์ และช่วยให้กระดูกสันหลังเคลื่อนงอบิดได้
หมอนรองนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าของไขสันหลัง (ซึ่งเป็นแท่งอ่อนเหมือนข้าวหลาม รวมเส้นประสาทจากสมองลงไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย) เส้นประสาทจากไขสันหลังออกจากไขสันหลังไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ทางรูระหว่างกระดูกสันหลัง ซึ่งอยู่หลังหมอนรองกระดูกสันหลังเวลาหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนมักจะเคลื่อนตรงบริเวณที่มีเส้นประสาททอดออกมานี้ (เพราะเป็นจุดที่อ่อนแอกว่าส่วนอื่น) ทำให้กดเส้นประสาทเป็นผลให้เกิดอาการเจ็บปวด ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงทำงานไม่ได้ ในกรณีที่เป็นมากจะมีอาการทั้ง 3 อย่างรวมกัน
อาการปวด ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงดังกล่าวจะเกิดขึ้นตามบริเวณหรืออวัยวะที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง เช่น ถ้าหมอนรองกระดูกสันหลังระดับกระเบนเหน็บเคลื่อนที่ บางคนมีอาการปวดต้นขาด้านหน้า ชาที่หัวแม่เท้าบางคนปวดต้นขาด้านนอก ชาหลังเท้า กล้ามเนื้อยกข้อเท้าอ่อนแรง บางคนปวดด้านหลังและข้างสะโพกร้าวไปถึงเท้าชาตรงนิ้วก้อยเท้า มีความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อน่อง
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปทับเส้นประสาท อาจจะเกิดบริเวณใดของกระดูกสันหลังก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะเกิดบริเวณกระดูกคอส่วนล่าง และกระดูกบั้นเอวส่วนล่าง ถ้าเกิดบริเวณคอก็จะมีอาการและอาการแสดงของการกดเส้นประสาทบริเวณคอที่ไปเลี้ยงไหล่ แขน และมือ
ลักษณะอาการ
ลักษณะอาการและอาการแสดงที่พบบ่อยของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท พอสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ได้ดังนี้
• ปวด ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณหลังส่วนล่างขาข้างหนึ่ง หรือที่คอ ที่ไหล่ ทรวงอก และแขนข้างหนึ่ง
• ปวดหน่วงๆ ลึก หรืออาจจะปวดแปล๊บๆ หรือมีอาการชา เริ่มที่แก้มก้นร้าวไปที่หลังต้นขาหรือข้างต้นขา หรือบางครั้งร้าวไปที่ด้านหน้าต้นขา อาการแบบนี้เรียกว่า sciatica
• ปวดบริเวณหลังส่วนล่างหรือชา และเป็นมากขึ้นเมื่อนั่งลง หรือไอจาม หรือเวลาเปลี่ยนท่า
ปัจจัยเสี่ยง
เมื่ออายุมากขึ้นจะมีความเสื่อมของกระดูกสันหลัง และพังผืดหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งจะแข็งตัวมากขึ้นและขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากขาดน้ำขาดสารโปรตีนทำให้อ่อนแอลง เกิดการฉีกขาดได้ง่ายขึ้น เมื่อถูกกระทำจากแรงกระแทกหรือแรงบิดภายนอก เช่น การไอจาม การยกของหนัก การบิดตัว หรือการนั่งนานๆ โดยไม่มีอะไรค้ำจุนหลัง ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการดังกล่าวข้างต้น
นอกจากปัจจัยด้านอายุแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ คือ คนในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคนี้ โรคอ้วน การไม่ออกกำลังกายทำให้ขาดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนแกนของลำตัว (core muscles) กระดูกสันหลังจึงขาดแรงค้ำจุนทำให้อ่อนแอ การสูบบุหรี่ การยกของหนักโดยใช้หลังยกแทนที่จะใช้แรงขายก (โดยนั่งยองลงจับของแล้วใช้กล้ามเนื้อขายกขณะหลังตั้งตรงแบบนักยกน้ำหนักโอลิมปิก) การยกของหนักหรือไอจามในขณะที่สันหลังบิดตัวหมุนตัว ทำให้เสี่ยงต่อโรคนี้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น เช่น มีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังมาก่อนหรือมีหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนมาก่อน
การรักษา
• การรักษาทางยา
การรักษาในระยะแรกส่วนใหญ่ใช้การรักษาทางยา เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาแก้ปวด กายภาพบำบัด ในบางกรณีที่มีอาการมาก แพทย์ผู้รักษาอาจฉีดยาสเตียรอยด์ต้านการอักเสบเข้าไปบริเวณข้างกระดูกสันหลัง หรือบริเวณเส้นประสาทที่โดนกด ทำให้การอักเสบลดลง ลดอาการปวดลง
ในระหว่างที่รักษาทางยา ถ้าแพทย์ไม่แนะนำเป็นอย่างอื่น ท่านไม่ควรพักผ่อนนอนนิ่งๆ เฉยๆ นานเกินไป เพราะการทำอย่างนั้นจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ ขาดการค้ำจุนกระดูกสันหลัง ให้พยายามเคลื่อนไหวตัวเท่าที่จะทำได้ การเคลื่อนไหวหรือการออกกำลังกายควรงดกิจกรรมที่มีลักษณะการกระแทกกระทั้นลงน้ำหนักต่อกระดูกสันหลัง เช่น การวิ่งหรือวิ่งเหยาะ การบิดหลังตีกอล์ฟ การยกของหนัก ควรเดินหรือว่ายน้ำแทน แต่ถ้าทำอะไรก็ตามแล้วปรากฏว่ามีอาการปวดมากขึ้น ก็ควรจะหลีกเลี่ยงกิจกรรมนั้น
ส่วนใหญ่รักษาทางยาได้ผลถึงรอยละ 90 แต่ในกรณีที่อาการมากขึ้นและการรักษาทางยาไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ก็จำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าเป็นอะไรกันแน่ การตรวจเพิ่มเติมดังกล่าว เช่น การเอกซเรย์ ทำ MRI (magnetic resonance imaging) CT หรือ CT myelogram เป็นต้น
โดยปกติการรักษาทางยาจะใช้เวลารักษา 1-2 เดือน (ในบางกรณีอาจนานกว่านี้) การหายของโรคเกิดขึ้นจากการที่หมอนรองกระดูกสันหลังที่เคลื่อนออกมาค่อยๆ ฝ่อลงไป ถ้าเปรียบหมอนรองกระดูกฯ ที่เคลื่อนออกมาเหมือนลูกองุ่นที่ถูกเด็ดออกจากต้น เมื่อทิ้งไว้นานเข้าก็จะเหี่ยวห่อกลายเป็นลูกเกด ค่อยๆ เล็กลงและถูกดูดซึมหายไป ก็จะไม่ไปกดเส้นประสาทอีก
ในระหว่างที่รักษาทางยา แพทย์อาจจะช่วยปรับแผนการทำกิจกรรม การออกกำลังกายที่ไม่ทำให้เกิดอาการปวดหรืออาจให้ยาแก้ปวดเสริม การออกกำลังสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางที่ค้ำจุนกระดูกสันหลังถือว่ามีความสำคัญ โดยเมื่ออาการปวดหายไป สามารถทำได้ดังนี้
• ท่านอนราบ ชันเข่า จัดให้หลังตรง
• เอามือจับกล้ามเนื้อหน้าท้องที่เกร็งตัวขณะลองไอดู ในขณะเดียวกันให้ยกสะโพกขึ้นจากพื้นที่นอน
• ยกสะโพกเพื่อจัดแนวเข่า สะโพก และไหล่ให้อยู่ในแนวเดียวกัน เกร็งค้างไว้อย่างนั้น 10 วินาที (นับเร็วๆ ถึง 15) แล้วค่อยๆ หย่อนตัวลงพัก เสร็จแล้วทำซ้ำ
ทั้งนี้จะทำมากแค่ไหนขึ้นกับความฟิตของคนไข้ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนลำตัว ที่ช่วยค้ำจุนกระดูกสันหลัง
• การรักษาโดยวิธีผ่าตัด
การรักษาทางยาจะได้ผลดี คือ หายปวดราวร้อยละ 90 เคยมีงานวิจัยบ่งชี้ว่า เมื่อเปรียบเทียบการรักษาโดยการผ่าตัดกับการรักษาทางยาเมื่อ 2-4 ปีให้หลัง พบว่าได้ผลไม่แตกต่างกัน แต่การทดลองในระยะหลังกล่าวว่าการผ่าตัดอาจจะมีข้อดี
มีหลายกรณีที่ต้องรีบผ่าตัดรักษา เช่น เป็นมากจนยืนหรือเดินไม่ไหว เพราะปวดขาและขาอ่อนแรง อาการปวดหลังเป็นมากไม่ยอมลด คนไข้ไม่สามารถกลั้นอุจจาระปัสสาวะได้ หรือรักษาทางยาแล้วไม่ทุเลาลง การผ่าตัดจะช่วยให้คนไข้ดีขึ้น พักฟื้นคืนสภาพได้เร็วขึ้น
การผ่าตัดมีหลายวิธี คือ อาจผ่าโดยวิธีเปิดเป็นแผลใหญ่ ผ่าเข้าไปเพื่อเอาหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออก ทำให้เส้นประสาทไม่ถูกกด วิธีนี้เรียกว่า discectomy ในศูนย์การผ่าตัดกระดูกสันหลังหลายแห่งสามารถผ่าตัดแผลเล็กแล้วใช้กล้องจุลทรรศน์หรือแว่นขยายช่วยตัดเอาหมอนรองกระดูกที่ก่อปัญหาออก วิธีนี้เรียกว่า microdiscectomy วิธีนี้ทำให้ปวดแผลน้อยกว่า การพักฟื้นเร็วกว่า แต่การหายเต็มที่ยังต้องใช้เวลานาน นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีซึ่งบาดเจ็บน้อยกว่า เรียกว่า microendoscopic discectomy วิธีนี้ใช้การเจาะรูเล็กๆ แล้วทำการเอาหมอนรองกระดูกสันหลัง ออกโดยไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อหรือกระดูก วิธีนี้ยิ่งจะบาดเจ็บน้อย แต่หาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาด้วยวิธีแบบนี้ได้น้อย
เมื่อผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออกแล้ว ปกติไม่ได้ใส่อะไรเข้าไปทดแทน แต่ปัจจุบันบางแห่งได้ใช้แผ่นโลหะและพลาสติกเข้าไปแทนที่ เช่น แทนหมอนบริเวณคอ แต่วิธีนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ
การผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนที่นี้ ส่วนมากเป็นการผ่าตัดแบบตารางนัด ไม่ใช่ผ่าตัดด่วน แต่ในบางกรณีที่เป็นมาก มีการกดทับเส้นประสาทรุนแรงก็จำเป็นต้องผ่าตัดด่วน อาการรุนแรงที่กล่าวถึง ได้แก่
• มีอาการปวด ชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรงร้าวไปที่ขาข้างหนึ่งหรือสองข้างอย่างมาก
• ไม่สามารถกลั้นอุจจาระปัสสาวะได้
• มีการสูญเสียความรู้สึกบริเวณด้านในของต้นขา ด้านหลังของขา และบริเวณรอบรูทวารและอวัยวะเพศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อาการอย่างนี้เตือนว่าให้รีบไปพบแพทย์ อย่านิ่งนอนใจจนทำให้เส้นโดนกดทับจนเสียหายเกินจุดที่จะรักษาให้กลับคืนมา
นพ.นริส เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)