
© 2017 Copyright - Haijai.com
ครรภ์เป็นพิษ ภัยร้ายที่มีผลต่อชีวิตของสตรีมีครรภ์
ในสมัยโบราณมีผู้กล่าวไว้ว่า “การคลอดบุตรของสตรีเพศนั้น เสี่ยงอันตรายเยี่ยงการออกรบของบุรุษผู้กล้า” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องรอให้ถึงเวลาคลอดบุตร การตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้สตรีบางคนต้องเสี่ยงภัย หรือหากโชคร้ายอาจถึงแก่ชีวิตได้
ภัยร้ายของสตรีในระหว่างตั้งครรภ์ที่สูตินรีแพทย์ทุกคนต่างรู้จัก คุ้นเคย และเฝ้าระวังอยู่เสมอ ก็คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งตามคำจำกัดความทางการแพทย์ หมายถึง ภาวะความดันโลหิตสูงระดับตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ร่วมกับการมีโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ อย่างน้อย 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือระดับโปรตีนตั้งแต่ 1+ จากการตรวจด้านแผ่นทดสอบในขณะตั้งครรภ์ โดยมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยระดับความดันโลหิตยิ่งสูงหรือปริมาณโปรตีนที่รั่วออกมายิ่งมาก ก็จะยิ่งบ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรคมากยิ่งขึ้น
ภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นได้อย่างไร
มาถึงตอนนี้หลายคนคงสงสัยว่าภาวะที่ว่านี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร และถ้าเดาไม่ผิดคงมีคุณแม่อีกหลายคนที่เคยประสบกับภาวะนี้มาแล้วด้วยตนเอง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เข้าใจว่าภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เชื่อว่าหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากตัวสตรีเอง จากทารก หรือจากเนื้อรก ล้วนมีส่วนสำคัญในกลไกการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษทั้งสิ้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการก่อกำเนิดของทารกนั้น จำเป็นต้องมีสารพันธุกรรมครึ่งหนึ่งมาจากแม่ และอีกครึ่งหนึ่งมาจากพ่อ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าภาวะครรภ์เป็นพิษนี้เป็นผลมาจากการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมารดาต่อสาร หรือออกซิเจนในตัวทารกและเนื้อรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่พัฒนามาจากสารพันธุกรรมที่มาจากฝั่งบิดา ในลักษณะคล้ายคลึงกับการต่อต้านเนื้อเยื่อแปลกปลอม จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการฝังตัวของรกเข้ากับหลอดเลือด บริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้หลอดเลือดบริเวณนี้มีขนาดเล็กลง จึงเกิดแรงต้านทานในหลอดเลือดสูงขึ้น จนเกิดผลกระทบต่อการลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนมายังรก นั่นคือเกิดภาวะขาดออกซิเจนขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้จะกระตุ้นให้เนื้อรกมีการหลั่งสารต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบขึ้นในร่างกาย และปฏิกิริยาเหล่านี้เองที่นำมา ซึ่งอนุมูลอิสระที่มีผลทำลายเซลล์เยื่อบุของผนังหลอดเลือดขนาดเล็กทั่วร่างกายจนเกิดรอยรั่วขึ้น ทำให้สารน้ำและโปรตีนรั่วออกมาภายนอก จึงเป็นที่มาของอาการบวมตามเปลือกตา มือ ขา และหลังเท้า รวมทั้งมีโปรตีนรั่วออกมาปัสสาวะ
นอกจากนี้ความเสียหายของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดยังส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการหดรัดตัวทั่วร่างกาย ร่วมกับกระตุ้นกลไกการแข็งตัวของเลือด จึงส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง เกล็ดเลือดต่ำ เกิดการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง และเกิดผลกระทบกับอวัยวะทุกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตับ ไต หัวใจ และสมอง ซึ่งในรายที่มีความรุนแรงอาจเกิดภาวะขาดเลือด และเลือดออกในอวัยวะเหล่านี้ได้
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
จากที่กล่าวแล้วว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดจากการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมารดาต่อสารพันธุกรรมที่มาจากบิดา ซึ่งอยู่ในตัวทารกและรก ดังนั้นสตรีที่ตั้งครรภ์บุตรคนแรก หรือแม้เคยมีบุตรมาแล้วแต่ตั้งครรภ์บุตรคนแรกของสามีคนปัจจุบัน ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้ นอกจากนี้ในกรณีที่สารพันธุกรรมจากฝั่งบิดามีปริมาณมากกว่าปกติ ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและยิ่งแสดงอาการได้เร็วขึ้น
จากสถิติพบว่าอุบัติการณ์ของภาวะครรภ์เป็นพิษในมารดาตั้งครรภ์แรก อยู่ที่ร้อยละ 3-10 โดยมักเริ่มแสดงอาการในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วก็ยังประกอบด้วย ความอ้วน เชื้อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอฟริกัน อายุมารดาเกิน 35 ปี และสตรีที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
อาการผิดปกติแบบไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์
ภาวะครรภ์เป็นพิษนั้นมีทั้งชนิดรุนแรงและไม่รุนแรง โดยสามารถแยกความแตกต่างได้จากระดับความดันโลหิต ปริมาณโปรตีนที่รั่วออกมากับปัสสาวะ และผลกระทบที่มีต่ออวัยวะอื่นทั่วร่างกาย ในรายที่โรคไม่รุนแรง ความดันโลหิตจะไม่สูงมากนัก และปริมาณโปรตีนที่รั่วออกมากับปัสสาวะก็มีเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยจึงมีเพียงอาการมือและเท้าบวม แต่ในรายที่โรคเป็นรุนแรง จะพบว่าความดันโลหิตอาจสูงได้ตั้งแต่ระดับ 110/160 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป มีปริมาณโปรตีนรั่วออกมาตั้งแต่ระดับ 3+ และมีอาการแสดงต่างๆ ที่ชี้บ่งว่าอวัยวะ เช่น ตับ ไต หัวใจ หลอดเลือด และสมอง ได้รับผลกระทบ โดยนอกเหนือจากอาการบวม ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณท้ายทอย ร่วมกับตาพร่ามัว ซึ่งในรายที่อาการรุนแรงมากอาจเกิดอาการชัก สมองบวม หมดสติ หรือมีเลือดออกในสมองได้
ส่วนผลที่มีต่อไตคือทำให้ปัสสาวะออกน้อยลง จนอาจตรวจพบการคั่งของกรดยูริกและค่าของเสียในเลือดได้ ในแง่ผลกระทบที่มีต่อตับ ก็มีผลทำให้เซลล์ตับบางส่วนเกิดภาวะขาดเลือด จึงมักตรวจพบค่าเอนไซม์ตับบางส่วนเกิดภาวะขาดเลือด จึงมักตรวจพบค่าเอนไซม์ตับมีระดับเพิ่มสูงขึ้นในเลือด และหากอาการรุนแรงก็อาจมีเลือดออกในส่วนผิวนอกของตับ จึงทำให้มีอาการปวดจุกบริเวณลิ้นปี่ หรือชายโครงด้านขวาได้ นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตก ภาวะน้ำท่วมปอด รวมถึงภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์อีกด้วย ดังนั้นสูติแพทย์ จึงมักเฝ้าระวังอาการเหล่านี้ตั้งแต่ปลายไตรมาสสองของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีความเสี่ยงสูง โดยการตรวจวัดระดับความดันโลหิต ตรวจหาการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก และภาวะบวมน้ำ คอยซักถามถึงอาการผิดปกติต่างๆ ทุกครั้งที่สตรีมาฝากครรภ์ รวมทั้งติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เพื่อที่จะให้การวินิจฉัยได้รวดเร็วและให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
ภาวะครรภ์เป็นพิษมีแนวทางการรักษาอย่างไร
เมื่อสูติแพทย์ตรวจพบอาการแสดงที่น่าสงสัยว่า อาจเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ ก็มักแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักในโรงพยาบาล เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด และหากพบว่าเป็นชนิดรุนแรงก็จำเป็นต้องรีบให้ยากันชัก ได้แก่ แมกนีเซียมซัลเฟต และยาลดความดันโลหิต ติดตามดูแลปริมาณปัสสาวะ รวมถึงปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล และสุดท้ายมักแนะนำให้คลอดบุตรโดยเร็ว ซึ่งอาจทำได้ทั้งวิธีธรรมชาติและผ่าตัดคลอด เพราะการยุติการตั้งครรภ์เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้หายจากภาวะนี้ได้ อย่างไรก็ตามบางครั้งการตั้งครรภ์นั้นยังไม่ถึงกำหนด แต่โรครุนแรงมากจนต้องยุติการตั้งครรภ์เพื่อรักษาชีวิตมารดา ทำให้ทารกต้องคลอดก่อนเวลาอันควร จึงได้ทารกที่มีน้ำหนักน้อยและมีปัญหาต่างๆ ของทารกคลอดก่อนกำหนดตามมาอีกมากมาย
มีวิธีใดบ้างที่จะช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้
จากข้อมูลในปัจจุบัน ยังไม่พบว่ามีวิธีใดที่สามารถป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการงดรับประทานอาหารรสเค็ม หรือการรับประทานอาหารเสริมอย่างแคลเซียม และน้ำมันปลา หรือแม้แต่การรับประทานวิตามินซีหรืออีเพื่อต้านอนุมูลอิสระ มีเพียงการรับประทานยาแอสไพรินในขนาดต่ำๆ เท่านั้น ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้บ้าง แต่ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
กล่าวโดยสรุป สตรีตั้งครรภ์ทุกคน รวมถึงสามีและญาติ ควรตระหนักไว้เสมอว่าการตั้งครรภ์ไม่ใช่ภาวะปกติ แต่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อร่างกายของสตรีตลอดระยะเวลา 9 เดือน ซึ่งระหว่างทางอาจเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นมากมาย รวมถึงภาวะครรภ์เป็นพิษด้วย ดังนั้น การมาตรวจครรภ์ตามที่สูติแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และการรู้จักสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ย่อมช่วยให้สูติแพทย์สามารถตรวจพบปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อที่ลูกจะได้เกิดรอดและแม่ก็จะได้ปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน
อ.พญ.พัทยา เฮงรัศมี
สูตินรีแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)