
© 2017 Copyright - Haijai.com
ภัยปลาปักเป้า
ในประเทศไทย การเกิดพิษจากการกินปลาปักเป้า เป็นปัญหาที่พบได้ไม่น้อย ปลาปักเป้าอาศัยอยู่ทั่งน้ำจืดและน้ำเค็ม การเกิดพิษจากปลาปักเป้าพบได้ จากการกินปลาปักเป้าน้ำจืดและน้ำเค็ม ผู้ที่ได้รับพิษจากปลาปักเป้าน้ำจืดมักอยู่ในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนผู้ที่ได้รับพิษจากปลาปักเป้าน้ำเค็มมักพบในจังหวัดริมชายฝั่งทะเล
ที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับพิษจากการกินปลาปักเป้ามีจำนวนมากกว่าที่รายงานมาก เนื่องจากผู้ที่ได้รับพิษเพียงเล็กน้อย และมีอาการไม่มาก มักจะไม่ได้มารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนผู้ที่ได้รับพิษมากและมีอาการรุนแรง ก็มักจะเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังพบว่ามีรายงานเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับพิษจากการกินเนื้อปลาปักเป้าที่นำมาปรุงเป็นอาหาร โดยที่ผู้บริโภคไม่ทราบว่าเป็นเนื้อปลาปักเป้า เนื่องจากมีการนำปลาปักเป้าหรือเปลาเนื้อไก่มาแล่เนื้อและนำมาจำหน่ายให้แก่พ่อค้าแม่ค้าที่จำหน่ายเนื้อปลา เพื่อนำมาประกอบอาหาร ทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการอาหาเป็นพิษไปหลายราย
รายงานเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับพิษจากการกินปลาปักเป้าส่วนใหญ่ เป็นรายงานจากประเทศที่อยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิก เช่น ไทย มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย คนญี่ปุ่นนิยมกินปลาปักเป้ามาก ในอดีตคนญี่ปุ่นเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการกินปลาปักเป้าเป็นจำนวนมาก จนทางการต้องออกกฎหมายควบคุมการกินปลาปักเป้า พ่อครัวที่ปรุงปลาปักเป้าในภัตตาคารญี่ปุ่นจะต้องผ่านการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอย่างเข้มงวด จนสามารถลอกหนังและแล่เนื้อปลาปักเป้า โดยไม่ให้ปนเปื้อนสารพิษ ซึ่งมีอยู่ที่หนัง ลำไส้ ตับ รังไข่ และต่อมเพศของปลา พ่อครัวจะแล่เนื้อปลาให้บางเฉียบราวแผ่นกระดาษ ปัจจุบันผู้ที่ได้รับพิษจากการกินปลาปักเป้าในประเทศญี่ปุ่นพบน้อยลงมาก โดยพบในชาวบ้านบางคนที่จับปลากินเองอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
สารพิษในเนื้อปลาปักเป้า
สารพิษที่พบในปลาปักเป้ามีชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) มีสูตรเคมี คือ C11 H17 O8 N3 และเป็นสารพิษชนิดเดียวกับที่พบในไข่แมงดาถ้วย บางครั้งสารพิษที่พบในปลาปักเป้าน้ำจืดและปลาปักเป้าน้ำเค็ม อาจเป็นสารชีวพิษอีกชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยแพลงก์ตอนพืชบางชนิด สารชีวพิษชนิดนี้มีชื่อว่าแซกซิท็อกซิน (Saxitoxin) ชื่อของสารพิษมีที่มาจากชื่อวิทยาศาสตราของหอยกาบชนิดหนึ่ง (Saxidomus giganteus) หอยได้รับพิษนี้จากแพลงก์ตอนพืชที่มันกิน พิษจะสะสมอยู่ในตัวหอย คนมักจะได้รับพิษนี้จากการกินหอยสองฝา เช่น หอยกาบ หอยแมลงภู่ หอยนางรม การเกิดพิษจากหอยทะเลนี้พบได้ในประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลทั่วโลก มักเกิดเป็นลักษณะของการระบาดในคนหมู่มาก การเกิดพิษชนิดนี้มักเกิดเป็นฤดูกาล และมีความสัมพันธ์กับการเกิดมลภาวะในทะเล เนื่องจากมลภาวะทำให้มีการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช และสร้างสารพิษขึ้นมา พิษของปลาปักเป้าน้ำเค็มหรือปลาปักเป้าน้ำจืด อาจจะเป็นเตโตรโดท็อกซิน หรือแซกซิท็อกซิน หรือมีทั้ง 2 ชนิดขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์และสถานที่อยู่ของปลา พิษของปลาปักเป้ามีการแปรเปลี่ยนไปตามชนิดพันธุ์ ฤดูกาล และสถานที่ และส่วนต่างๆ ของปลาก็มีระดับของความเป็นพิษที่แตกต่างกันไป พิษจะพบมากที่ผิวหนังและเครื่องใน แต่ก็พบในเนื้อปลาด้วยเช่นกัน
เตโตรโดท็อกซินและแซกซิท็อกซิน เป็นสารชีวพิษที่มีโครงสร้างทางเคมีเป็น Heterocyclic guanidine สารนี้ไม่ใช่โปรตีนและทนทานต่อความร้อนมาก ดังนั้น การต้ม ทอด ปิ้ง ย่าง ก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ สารพิษที่สองชนิดนี้ออกฤทธิ์ โดยการปิดกั้นช่องโซเดียมที่ผนังเซลล์ของเส้นประสาท
อาการ
อาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการกินปลาปักเป้าแบ่งออกเป็น 4 ขั้น ตามความรุนแรงของอาการทางคลินิก ดังนี้
ขั้นที่ 1 ชารอบปาก ชาริมฝีปาก ชาลิ้น เป็นอาการแรกที่บ่งบอกว่าได้รับพิษจากปลาปักเป้าแล้ว ต่อมามีอาการชาปลายมือปลายเท้า อาการอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
ขั้นที่ 2 มีอาการชามากขึ้น แขนขาอ่อนแรงจนยืนหรือเดินไม่ได้
ขั้นที่ 3 มีอาการอ่อนแรงมาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนขาได้ตามต้องการ กล้ามเนื้อควบคุมการพูดและการกลืนอ่อนแรง ทำให้พูดลำบาก กลืนลำบาก ยังรู้สติดี
ขั้นที่ 4 กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากทั่วทั้งตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ มีอาการหายใจลำบาก ทำให้หมดสติได้ ผู้ที่มีอาการหนักมาก ตรวจร่างกายจะพบว่ารูม่านตาขยายโต ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ไม่สามารถกลอกตาไปมาได้ อาจมีความดันเลือดต่ำมาก และเสียชีวิตจากระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือดล้มเหลว
การรักษา
การเกิดพิษจากการกินปลาปักเป้าจัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ แพทย์จะต้องให้การวินิจฉัยและการรักษาอย่างรีบด่วน ถ้าล่าช้าผู้ป่วยอาจเสียชีวิต หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการหายใจล้มเหลว จนเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนและอาจไม่สามารถฟื้นคืนสติได้เป็นปกติ ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการและอาการแสดงที่บ่งบอกว่าได้รับพิษ จะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะอาการของผู้ป่วยในบางรายอาจจะทรุดลงได้อย่างรวดเร็วจากขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 4 ภายในเวลา 30 นาที การรักษาจะเป็นแบบประคับประคองไปจนกว่าพิษจะสลายหมด เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือให้ยาเพิ่มความดันเลือด เนื่องจากยังไม่มียาแก้พิษที่จำเพาะเจาะจง พบว่าระยะเวลาเฉลี่ยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนานไม่เกิน 24 ชั่วโมง ระยะเวลานอนโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยขั้นที่ 1 และ 2 ประมาณ 1-2 วัน ขั้นที่ 3 และ 4 ประมาณ 2-5 วัน
นพ.จีรศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล
อายุระแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)