
© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคความดันโลหิตสูง เพชฌฆาตเงียบที่ต้องระวัง
โรคความดันโลหิตสูง คือ ภาวะมีความดันโลหิตวัดได้สูงตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอท ขึ้นไป ทั้งนี้ ความดันโลหิตปกติ คือ 90-119/60-79 มม.ปรอท
สาเหตุของความดันโหลิตสูง
อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1.พวกที่หาสาเหตุได้ เช่น จากโรคไตอักเสบเส้นเลือดแดงตีบ พิษแห่งครรภ์ เป็นต้น
2.พวกที่หาสาเหตุไม่พบ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนมากมักจะเป็นชนิดนี้
ปัจจัยที่มีผลก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง
• อายุ (มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35ปี)
• กรรมพันธุ์ พบประมาณ 30-40%
• น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
• ความเครียด ความวิตกกังวล
• การเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด
• โรคไต และโรคต่อมไร้ท่อต่างๆ
• ภาวะครรภ์เป็นพิษ
• โรคเส้นเลือดอักเสบ
โรคความดันโลหิตสูง หรือแพทย์บางท่านเรียกว่า ภาวะความดันโหลิตสูง (Hypertension หรือ High blood pressure) เป็นโรคพบได้บ่อยมากอีกโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ พบได้สูงถึง ประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง และพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ ในบางประเทศพบโรคนี้ได้สูงถึง 50% ของผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนในเด็กพบโรคนี้ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก
อาการของโรคความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรกส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยการตรวจเช็คสุขภาพประจำปี หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นแล้วแพทย์วัดความดันของเลือดสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ในบางรายอาจมีอาการมึนงง ตาพร่ามัว ปวดศีรษะตรงท้ายทอย มักจะปวดตอนตื่นนอน เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย
โดยเฉพาะถ้าค่าความดันโลหิตตัวล่างมากกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท จะเกิดอาการแทรกซ้อน ดังนี้
1.สายตาเสื่อมอย่างรวดเร็วหรือตาบอด
2.อาการทางสมอง หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก มีอากรปวดศีระอย่างรุนแรง อาจชักหรือไม่รู้สึกตัวและอาจเป็นอัมพาตได้ง่าย
3.หัวใจล้มเหลว
4.ไตพิการหรือไตอักเสบ เกิดอาการบวมตามตัว
5.ในระยะยาวเพิ่มอัตราการเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดหัวใจอุดตัน อัมพาตไตวาย เมื่อเทียบกับผู้มีความดันโลหิตต่ำกว่า 140/90 อย่างชัดเจน
การรักษาโรคความดันโลหิตสูง
แนะนำให้ผู้ป่วยทุกรายที่มีความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอทอย่างต่อเนื่อง ควรได้รับยาลดความดันร่วมไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม เช่น
1.การรับประทานยา ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอ
2.การควบคุอาหาร
2.1.จำกัดอาหารที่มีโซเดียมสูงหรืออาหารที่ใส่เกลือมากๆ เช่น อาหารทะเล อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารรมควัน เนยแข็ง ฯลฯ
2.2.คุมน้ำหนักให้พอดี จำกัดอาหารที่มีผลต่อน้ำหนักตัว
3.ออกกำลังกาย โดยเริ่มจากทีละน้อย แล้วค่อยเพิ่มขึ้นจนถึง 30-40 นาทีต่อวัน ทำอย่างสม่ำเสมอ และไม่ออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก เช่น ยกน้ำหนัก ชักเย่อ เป็นต้น
4.ผ่อนคลายความเครียด ซึ่งกระทำได้หลายวิธี ได้แก่ การฟังธรรม นั่งสมาธิ ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ร้องเพลง เล่นกีฬา ฯลฯ
5.พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)