© 2017 Copyright - Haijai.com
หญิงตั้งครรภ์ กับภาวะโลหิตจาง
“หากเป็นโรคโลหิตจาง สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่”
คำตอบเป็นได้ทั้งสองแบบคือ ได้ ถ้าภาวะโลหิตจาง มีอาการไม่รุนแรง ทราบสาเหตุ และได้รับการรักษาจนปกติหรือดีขึ้นแล้ว ไม่ได้ ถ้ายังคงมีภาวะโลหิตจางรุนแรง ยังไม่ได้รับการตรวจหาสาเหตุ หรือยังไม่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นจนปริมาณเม็ดเลือดแดงอยู่ในระดับปกติ หรือใกล้เคียงปกติ
คำว่า “โลหิตจาง” ชาวบ้านอาจเรียกว่า โรคเลือดจาง หรือ โรคซีด เนื่องจากมีปริมาณเม็ดเลือดแดง หรือความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ซึ่งฮีโมโกลบินเหล่านี้มีหน้าที่นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และธาตุสำคัญที่เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินเหล่านี้คือ ธาตุเหล็กนั่นเอง โดยปกติถือว่า ถ้าความเข้มข้นของฮีโมโกลบินน้อยกว่า 11.0 กรัมต่อเดซิลิตร ในไตรมาสที่ 1 และ 3 หรือน้อยกว่า 10.5 กรัมต่อเดซิลิตรในไตรมาสที่ 2 ให้การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 20-30 ในหญิงไทย ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของการตั้งครรภ์ที่มีการสร้างน้ำเลือด (Plasma) มากกว่าการสร้างเม็ดเลือดแดง (Red blood cell) ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดจางตามธรรมชาติ (Physiologic anemia) ส่วนอาการของภาวะโลหิตจางขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่นถ้าโลหิตจางไม่มาก อาจไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่ถ้าโลหิตจางมาก อาจพบว่ามีอาการซีด อ่อนเพลีย วิงเวียน ใจสั่น เหนื่อยง่าย จนถึงมีอาการเป็นลม หรือช็อค จนกระทั่งเสียชีวิตได้ในบางราย
สาเหตุของโรคโลหิตจางที่พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์
1.ภาวะขาดธาตุเหล็ก เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับธาตุเหล็กที่ไม่เพียงพอ หรือการสูญเสียเลือดในส่วนต่างๆของร่างกายมาก เช่น จากโรคริดสีดวงทวาร หรือ การมีเลือดออกในทางเดินอาหาร รวมถึงการมีพยาธิที่คอยดูดกินเลือดในร่างกาย เช่น พยาธิปากขอ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ เนื่องจากการตั้งครรภ์มีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เพื่อส่งไปเลี้ยงทารกในครรภ์ ร่วมกับประสิทธิภาพในการย่อย และ ดูดซึมสารอาหารต่างๆในหญิงตั้งครรภ์ลดลง โดยปกติหญิงตั้งครรภ์มีความต้องการธาตุเหล็กตลอดการตั้งครรภ์ประมาณ 1000 มิลลิกรัม ใช้ในการสร้างเม็ดเลือดของแม่ 500 มิลลิกรัม สูญเสียไปในระบบขับถ่ายตามปกติ 200 มิลลิกรัม และส่งไปให้ทารกและรกในครรภ์ 300 มิลลิกรัม หญิงตั้งครรภ์จึงมีความต้องการธาตุเหล็กในปริมาณ 6-7 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งในอาหารที่คนไทยรับประทานทุกวันมีปริมาณเพียง 1-2 มิลลิกรัมเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ แพทย์จึงให้มักให้ธาตุเหล็กเสริมในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย ยาที่มีธาตุเหล็กที่ใช้บ่อยๆ เช่น FBC, Ferli-6, Nataral, Obimin AF, Obimin AZ, Calfermin C โดยทั่วไปปริมาณธาตุเหล็กที่แสดงไว้ในเอกสารกำกับยาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน เพราะเปอร์เซนต์การแตกตัวและการดูดซึมก็แตกต่างกัน แต่โดยปกติแล้ว 1 เม็ดของยาเกือบทุกชนิดจะแตกตัวและดูดซึมได้ประมาณ 5-10 มิลลิกรัม ซึ่งเพียงพอสำหรับความต้องการใน 1 วัน ซึ่งการกำหนดปริมาณการให้ยามากหรือน้อยในแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นกับปริมาณเม็ดเลือดแดงในแต่ละคนในขณะนั้น ซึ่งแพทย์ผู้ดูแลจะพิจารณาเป็นรายๆไป (ยกเว้นผู้ป่วยทาลัสซีเมียบางรายที่มีธาตุเหล็กเกินอยู่แล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่ม โฟลิกแทน เพื่อป้องกันภาวะเหล็กคั่งในร่างกาย) ความสำคัญของการกินยาธาตุเหล็กเพื่อบำรุงครรภ์ นอกจากป้องกันภาวะซีดในแม่แล้ว ส่วนหนึ่งยังส่งผ่านไปสร้างเม็ดเลือดของทารกในครรภ์ด้วย จึงควรให้ความสำคัญ ทานยาบำรุงเลือดตลอดการตั้งครรภ์ ต่อเนื่องจนถึงช่วงเดือนแรกหลังคลอด เพื่อทดแทนปริมาณเลือดที่สูญเสียไปในช่วงคลอดบุตร ปกติจะ เสียเลือดประมาณ 300 มิลลิลิตรสำหรับการคลอดปกติ (Normal Labor) และ 500 มิลลิลิตรสำหรับการผ่าตัดคลอด(Cesarean Section) การให้ธาตุเหล็กส่วนใหญ่แพทย์มักเริ่มให้ในไตรมาสที่ 2 เพื่อให้พ้นระยะที่มีอาการแพ้ท้อง การทานธาตุเหล็กจะดูดซึมได้ดีในขณะท้องว่าง แต่ก็ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้มาก และเมื่อได้รับธาตุเหล็กเวลาขับถ่ายอุจจาระอาจมีสีคล้ำหรือดำของธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นลักษณะที่ปกตินอกจากโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็กแล้ว ยังพบภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามิน บี 12 ซึ่งพบในกลุ่มที่เคร่งครัดในการทานมังสวิรัติ ที่ไม่ทานแม้กระทั่ง เนื้อสัตว์ นม และไข่ และภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดโฟลิก เนื่องจากร่างกายต้องการโฟลิกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงแรกของการตั้งครรภ์
2.โลหิตจางทาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ 2 ชนิดคือ อัลฟ่า และเบต้า ทาลัสซีเมีย ในสายอัลฟ่าทาลัสซีเมีย ในกลุ่มที่อาการรุนแรง (Bart’s hydrops fetalis) ทารกมักเสียชีวิตในครรภ์หรือตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากไม่สามารถสร้างฮีโมโกลบิน เพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซได้เลย ส่วนในสายเบต้ามีความรุนแรงหลายระดับ ตั้งแต่มีภาวะซีดเล็กน้อย จนถึงอาการมากจนต้องได้รับการให้เลือดอยู่เป็นประจำ จนทำให้เด็กพวกนี้อาจมีอาการผิดปกติของการเจริญเติบโต เช่นร่างกายแคระแกร็น รูปใบหน้าผิดปกติ ตับโต ม้ามโต ในส่วนของคนที่ไม่ได้เป็นโรค แต่มียืนผิดปกติแฝงอยู่ กลุ่มนี้ไม่มีอาการผิดปกติของภาวะโลหิตจางให้เห็น ถ้าไม่ตรวจเลือดดูจะไม่ทราบเลยว่ามีความผิดปกติ ความสำคัญ คือ สามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติให้ลูกได้ ซึ่งคนไทยมียีนแฝงของทาลัสซีเมียประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 20 ล้านคน
3.สาเหตุอื่นๆ เช่น การเสียเลือดฉับพลัน จากภาวะการตั้งครรภ์ เช่นภาวะรกเกาะต่ำ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะมดลูกไม่บีบตัวหลังคลอด การตกเลือดจากการแท้งบุตร ส่วนใหญ่ ถ้าเกิดภาวะดังกล่าวมักมีการเสียเลือดปริมาณมากและเร็ว การรักษาจึงมักจำเป็นอาจต้องให้เลือดทดแทน เพราะการกินยาบำรุงเลือด มักสร้างเม็ดเลือดไม่ทัน นอกจากนี้ยังพบภาวะโลหิตจางจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคเม็ดเลือดแตกง่ายจากโรค G-6-PD หรือได้ยา สารเคมีบางชนิด , โรคระบบภูมิคุ้มกัน (Autoimmune disease) เช่น SLE หรือ โรคความผิดปกติของไขกระดูก
ดังนั้นนอกจากยาที่ควรจะได้รับแล้ว การเสริมอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการกินยา อาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เช่น ตับ เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม ถั่วแห้ง ผลไม้แห้ง สัตว์น้ำที่มีเปลือก เช่น กุ้ง หอย ปู ร่วมกับการหลีกเลี่ยงอาหารที่ลดการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ชา กาแฟ ยาลดกรดในกระเพาะ โดยเฉพาะแคลเซี่ยม ที่มักจะได้รับมาพร้อมกัน ในช่วงฝากครรภ์ ถ้าทานในมื้อเดียวกัน แคลเซี่ยมก็จะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงควรหลีกเลี่ยงการทานในมื้อเดียวกัน
โลหิตจางมีผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร?
ถ้ามีโลหิตจางในระดับปานกลาง หรือรุนแรง ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (IUGR: Intrauterine growth restriction), น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยผิดปกติ (SGA: Small for gestational age), ความผิดปกติของระดับสติปัญญาและพัฒนาการทารก ตลอดจนภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ (IUFD: Intrauterine fetal death) ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะซีด หรืออาจมีการให้เลือดเป็นประจำ เช่น โรคทาลัสซีเมีย มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามการเจริญเติบโต และตรวจเช็คสุขภาพทารกอย่างใกล้ชิด ตลอดการตั้งครรภ์
นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)