© 2017 Copyright - Haijai.com
ภาวะแพ้ท้องรุนแรงอาจเป็นพันธุกรรม
ผลการศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแพ้ท้องรุนแรงมีพี่สาวหรือน้องสาวที่ตั้งครรภ์และมีภาวะแพ้ท้องรุนแรงมากกว่ากลุ่มควบคุมถึง 5 เท่า และใน 33% ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแพ้ท้องรุนแรงได้แจ้งว่ามีมารดาที่ประสบกับภาวะแพ้ท้องรุนแรงเช่นเดียวกันในขณะที่กลุ่มควบคุมมีเพียง 8%
และในกลุ่มที่สามารถให้ข้อมูลประวัติการตั้งครรภ์ของคุณยายคุณย่าได้ พบว่า 18% ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแพ้ท้องรุนแรง มีประวัติว่าคุณยายก็ประสบกับภาวะนี้ และ 23%มีคุณย่าซึ่งประสบกับภาวะเช่นเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีการถ่ายทอดผ่านทางคุณพ่อได้ด้วยเช่นกัน
เนื่องจากในกลุ่มของประชากรโดยทั่วไปอาจพบหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแพ้ท้องรุนแรงได้ประมาณ 0.5% แต่ในหญิงตั้งครรภืที่มีประวัติพี่สาวหรือน้องสาวประสบกับภาวะแพ้ท้องรุนแรงและมีโอกาสเกิดภาวะนี้สูงขึ้น 18 เท่า จึงเป็นเหตุผลที่สนับสนุนการศึกษานี้ว่าพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับให้เป็นแนวทางในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติของครอบครัวเกี่ยวกับภาวะนี้
ในแต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 60,000 กว่าคนที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องมาจากภาวะแพ้ท้องอย่างรุนแรง Hyperemesis gravidarum (HG) ซึ่งภาวะนี้อาจส่งผลรุนแรงถึงชีวิตหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม และในบางครั้งมีความรุนแรงถึงขั้นจำเป็นต้องให้สิ้นสุดการตั้งครรภ์เลยก็มี และสำหรับหญิงมีครรภ์ ที่พี่สาว น้องสาว หรือคุณแม่ คุณยาย มีประสบการณ์ในการตั้งครรภ์ที่ต้องประสบกับภาวะแพ้ท้องอย่างรุนแรงแล้วละก็ ความเสี่ยงที่หญิงตั้งครรภ์จะต้องประสบกับภาวะนี้ก็จะค่อนข้างสูงเลยทีเดียว โดยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกับภาวะนี้โดย UCLA และ The University of Southern California
นักวิจัยได้ทำการศึกษาประวัติของครอบครัวในหญิงที่คลอดบุตรแล้วและหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแพ้ท้องรุนแรง และนักวิจัยยังพบว่า ไม่เพียงแต่ภาวะนี้อาจส่งผลทางพันธุกรมม แต่ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีพี่สาวหรือน้องสาวที่ประสบกับภาวะนี้เมื่อตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์นั้นก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้มากกว่าปกติถึง 17 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งการค้นพบนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Obstetrics and Gynecology
หญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติครอบครัวมีภาวะแพ้ท้องรุนแรงควรพึงระลึกว่าอาจเกิดภาวะเช่นเดียวกันนี้ และบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การดูแลหญิงตั้งครรภ์ก็ควรซักประวัติเกี่ยวกับอาการแพ้ท้องและประวัติอาการแพ้ท้องของคนในครอบครัวเมื่อมารับการฝากครรภ์ครั้งแรกด้วย เพื่อวางแผนการดูแลอย่างเหมาะสม
นักวิจัยได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 650 รายเพื่อเข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัยความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกับภาวะแพ้ท้องรุนแรง ในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะแพ้ท้องรุนแรงและได้รับการรักษาโดยให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มทดลอง และหญิงคั้งครรภ์ที่มีการตั้งครรภ์อย่างน้อย 2 ครั้งแล้ว และอายุครรภ์มากกว่า 27 สัปดาห์โดยไม่มีภาวะแพ้ท้องรุนแรงจะจัดให้อยู่ในกลุ่มควบคุม และนักวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบประวัติของครอบครัวในทั้งสองกลุ่ม และพบว่าใน 650 รายมีหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแพ้ท้องรุนแรง 207 ราย และ 110 รายที่เป็นกลุ่มควบคุม ที่มีพี่สาวหรือน้องสาวอย่างน้อย 1 คนที่เคยตั้งครรภ์มาก่อน
สำหรับแนวทางการดูแลตัวเองของหญิงตั้งครรภ์เมื่อประสบกับภาวะแพ้ท้องรุนแรง ไม่ควรปล่อยให้เกิดภาวะขาดน้ำขาดสารอาหารเป็นเวลานานเกินไป หากไม่สามารถรับประทานอะไรได้เลย และอาเจียนทุกสิ่งที่รับประทานเข้าไปแม้กระทั่งน้ำดื่ม จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียอย่างมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือดดำ และพยายามรับประทานน้ำ และอาหารที่มีรสหวาน เพื่อให้ได้พลังงานอย่างเพียงพออย่างรวดเร็วก่อนในเบื้องต้น เพื่อให้ร่างกายกลับคืนสู่ความสมดุล
นพ.ม.ร.ว.ทองทิศ ทองใหญ่
(Some images used under license from Shutterstock.com.)