
© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคจิตติดศัลยกรรม
ต้องยอมรับว่าทัศนคติเรื่องความสวยความงามเป็นสิ่งที่สามารถทำเงินมหาศาล เห็นได้จากทุกวันนี้ที่มีธุรกิจเสริมความงามจนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดให้เห็นจนชินตา มาพร้อมกับโปรโมชั่นความงามแบบเลือกได้สบายกระเป๋าจูงใจให้ใครหลายคนแวะเวียนไปจนกลายเป็นขาประจำ ขณะเดียวกันก็ยังมีหลายคนที่เสียเงินไปแล้ว ยังต้องทุกข์ใจที่เสียโฉมอีก ซึ่งต้นเหตุที่แท้จริงน่าจะมาจากพฤติกรรมที่เรียกว่า “หมกมุ่น” ในเรื่องความสวยความงามมากเกินไปมิใช่หรือ
โรคเสพติดศัลยกรรมคือ
โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ หรือดิสมอร์เฟีย (Body Dysmorphic Disorder) ชื่อย่อคือ BDD ดิมรู้จักกันในชื่อโรคกลัวพิการ ถือเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง และจะพัฒนาระดับความรุนแรงขึ้นได้เรื่อยๆ หากไม่ได้รับการบำบัด ปัจจัยหลักมาจากตัวผู้ป่วยเอง เช่น กรณีเคยมีประวัติเสริมความงามแล้วได้รับผลอันน่าพึงพอใจมาก่อน จึงรู้สึกมั่นใจกับฝีมือหมอว่าสามารถทำให้ดูดีขึ้นได้อีก จนต้องกลับไปทำเพิ่มอีก หรือมีผลศัลยกรรมผิดพลาด ต้องกลับไปแก้ไข โดยเปลี่ยนศัลยแพทย์ไปเรื่อยๆ เพื่อแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติที่สุดหรือมาจากปัจจัยด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือ ค่านิยมจากกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของคนในสังคมส่วนใหญ่ อย่างเช่น บุคคลกลุ่มดารานักแสดงที่มีค่านิยมศัลยกรรมเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน
ศัลยกรรมมากแค่ไหนที่เรียกว่า “เสพติด”
อาการเสพติดศัลยกรรมไม่ได้วัดจากความถี่จำนวนครั้งที่เข้ารับบริการ แต่วัดจากระดับความพึงพอใจของผลศัลยกรรม หลายคนอาจศัลยกรรมเพียงตำแหน่งเดียว แต่เข้ารับการแก้ไขหลายครั้งจนสมบูรณ์แล้วหยุดทำ ถือว่าไม่เข้าข่ายเสพติด แต่กรณีที่ทำต่อไปเรื่อยๆ ทั้งที่ก็รู้สึกชื่นชมกับผลศัลยกรรมอันโด่งดังของนางแบบสาวเกาหลีที่เข้ารับการฉีดซิลิโคนใบหน้านับครั้งไม่ถ้วน จนไม่มีแพทย์คนไหนยอมทำให้อีกแล้ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เธอขอซื้อเข็มและซิลิโคนจากหมอไว้ฉีดเอง ด้วยความอยากสวยจนหยุดไม่อยู่เมื่อซิลิโคนหมดหาซื้อไม่ได้ สุดท้ายก็หันไปใช้น้ำมันพืชแทน ผลคือต้องอยู่กับสภาพใบหน้าเละไปตลอดกาล ซึ่งมีเพียงสภาพจิตใจเท่านั้น ที่เธอสามารถแก้ไขให้กลับไปเป็นปกติเหมือนเดิมได้
ในทางกลับกันเราจะไม่เสพติดศัลยกรรมแน่นอน ถ้าหากมีการวางแผนอย่างชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนแปลตำแหน่งไหน ต้องการให้ผลเปลี่ยนแปลงจากเดิมแค่ไหน ที่สำคัญคือศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจนเกิดความชำนาญ น่าเชื่อถือ และมีฝีมือเป็นที่ยอมรับ เพื่อลดความเสี่ยงในการผ่าตัดและได้ผลลัพธ์หลังผ่าตัดเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งการศัลยกรรมที่ดีควรจะทำให้น้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนและผลข้างเคียงอื่นๆ ที่จะตามมา อีกทั้งยังได้ผลการศัลยกรรมที่ดูเป็นธรรมชาติอีกด้วย
ร่างกายรับได้แค่ไหน หากเสริมความงามบ่อยครั้ง
ร่างกายมีขอบเขตการเปิดรับสารใดๆ เข้าสู่ร่างกายในระดับหนึ่ง ดังนั้น ก่อนการเสริมความงามด้วยการฉีดสารบางชนิด หรือก่อนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรม ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดี เช็คให้แน่ใจถึงผลดี-ผลเสีย โดยเฉพาะรายละเอียดคุณสมบัติของสารที่ใช้ฉีด รวมถึงปัญหาสุขภาพส่วนตัวด้วย ทั้งนี้เพื่อประเมินความเสี่ยงของร่างกายว่าจะมีปฏิกิริยาต่อต้านสารแปลกปลอมนี้ไหม เพราะสารเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะไหลแทรกซึมสู่เซลล์ไปทั่วบริเวณใกล้เคียง แม้ว่าจะทำศัลยกรรมที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง แต่ความผิดปกติก็สามารถลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงได้ ซึ่งในวันหนึ่งๆ ร่างกายของเราจะมีปฏิกิริยาขับสิ่งแปลกปลอมออกอยู่ตลอดเวลา ในระยะแรกจึงดูเหมือนว่าไม่มีผลข้างเคียงอะไร แต่เมื่อผ่านไปหลายปีก็อาจแสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็น เช่น เริ่มอักเสบบวมแดง มีก้อนแข็งงอกออกมา อวัยวะเริ่มเปลี่ยนรูป หรือตำแหน่งเคลื่อน หรือเกิดพังผืด เป็นต้น และหลังจากเข้ารับการทำศัลยกรรมแล้ว ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติด้วย เพื่อจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
7 สัญญาเตือน ก่อนป่วยเป็นโรค BDD
1.ทำศัลยกรรมหลายครั้งในตำแหน่งเดิม หรือเปลี่ยนตำแหน่งอื่นในร่างกายไปเรื่อยๆ
2.มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำว่าจะต้องเสริมจุดบกพร่องให้ดูดี ทั้งที่ไม่ได้เป็นข้อบกพร่องใหญ่โตจนสังเกตเห็นได้
3.รู้สึกคลั่งไคล้ในสัดส่วนรูปร่งของคนดัง และอยากมีอวัยวะที่สวยงามเหมือนบุคคลเหล่านั้น
4.หมกมุ่นอยู่กับการหาข้อมูลเรื่องนวัตกรรมศัลยกรรม เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์เสริมความงามใหม่ๆ
5.ใช้เงินส่วนมากหมดไปกับค่าบริการสถานเสริมความงาม
6.ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการค้นหาแพทย์ และนัดปรึกษาแพทย์บ่อยๆ ถึงเรื่องจุดบกพร่องของตัวเอง
7.แพทย์มีรายงานเตือนว่า ร่างกายไม่ควรได้รับการศัลยกรรมความงามอีก เพราะจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต
เสพติดศัลยกรรมบำบัดได้
แพทย์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขให้ดูดีเหมือนเดิมได้ กรณีที่เสียโฉมจากการเสพติดศัลยกรรม ทำได้เพียงผ่าตัดเอาสิ่งแปลกปลอมออก ซึ่งหมายความว่า ผู้ป่วยต้องทนอยู่ในสภาพที่ผิดปกติจากเดิมไปตลอดชีวิต แต่ทางด้านจิตใจสามารถบำบัดให้หายเป็นปกติได้ หากป่วยในระยะแรกจะใช้วิธีจิตวิทยาพูดกระตุ้นผู้ป่วย ให้รู้สึกเกิดความมั่นใจในตัวเอง ไม่คิดเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นจนรู้สึกด้อยค่า แต่หากเป็นในระดับรุนแรงมาก จะใช้ยาบำบัดเพื่อกระตุ้นสารเซโรโทนินในสมองให้หลั่งออกมาให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบผ่อนคลาย ก่อนจะเข้ารับการบำบัดในขั้นต่อไป ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมความงาม ก่อนเข้ารับการทำศัลยกรรม ควรมีการทดสอบจิตวิทยาก่อนเข้ารับการศัลยกรรม ซึ่งศัลยแพทย์ที่ดีจะต้องพูดคุยซักถามเพื่อตรวจสอบสภาพจิตใจ และตรวจความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีอาการบีบีดี จนต้องทำศัลยกรรมซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ในอนาคต
(Some images used under license from Shutterstock.com.)