Haijai.com


จะบอกลาขนคุดหนังไก่ทำไงดี


 
เปิดอ่าน 38427

จะบอกลาขนคุดหนังไก่ทำไงดี

 

 

ขนเป็นสิ่งเล็กๆ ที่สร้าปัญหายิ่งใหญ่ ให้กับใครหลายๆ คน โดยเฉพาะขนคุดที่เป็นปัญหาดวนใจผิวสวยของสาวๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากพันธุกรรม โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีโอกาสเกิดเป็นโรคขนคุดได้ง่าย และที่สาวๆ สมัยนี้เป็นกันมาก ก็เกิดจากการโกนขน ซึ่งเป็นวิธีการกำจัดขนที่รวดเร็วและเป็นที่นิยมมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นที่ขาหรือรักแร้ ทำให้เกิดเป็นเส้นขนแทงขึ้นมาใต้ผิวหนัง เห็นเป็นจุดดำๆ ทำให้ผิวหนังเป็นตุ่มๆ คล้ายสิว แต่ว่าจะไม่เหมือนสิวที่ทายา 1-2 วันก็ยุบ ขนคุดจึงก่อให้เกิดความรำคาญและปัญหาความสวยงาม ส่วนในรายที่มีเส้นขนค่อนข้างแข็ง ยังสามารถมีอาการอักเสบเป็นตุ่มแดง ไปจนถึงมีอาการเจ็บร่วมด้วยได้

 

  

ขนคุดเป็นโรคเกี่ยวกับผิวหนัง เพราะฉะนั้นแล้ว ก่อนที่เราจะพูดถึงขนคุด เราต้องไปความรู้จักกับผิวหนังก่อน ผิวหนังของคนเรานั้นประกอบด้วย 3 ส่วน ในส่วนของด้านบนจะเรียกว่า Epidermis หรือ ที่รู้จักทั่วไปคือ ชั้นหนังกำพร้า และด้านล่างจะเรียกว่า Dermis หรือ ชั้นหนังแท้ และ Subcutis หรือ ชั้นไขมัน นั่นเอง

 

 

Epidermis หรือชั้นหนังกำพร้า เป็นชั้นผิวหนังที่อยู่นอกสุดและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง ผิวชั้นหนังกำพร้าเกิดจากเซลล์ ซึ่งแบ่งตัวหน้าขึ้นเกิดเป็นเซลล์ผิวหนัง (Keratonocyte) และเซลล์สร้างเม็ดสี ทำหน้าที่ปกคลุมในส่วนที่เราเห็นเป็นผิวพรรณในคนเชื้อชาติต่างๆ

 

 

ในส่วนที่เราเห็นเป็นความเต่งตึง หรือเหี่ยวย่น เป็นผลมาจากชั้น Dermis หรือ ชั้นหนังแท้ โดยชั้นนี้จะประกอบด้วย เส้นขน เส้นเลือด เส้นประสาท และที่สำคัญคือคอลลาเจน ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดความเปล่งปลั่งของใบหน้าและผิวหนัง และชั้นหนังแท้ยังมีปุ่มประสาทพิเศษที่รับความรู้สึกต่างๆ ได้อีกด้วยเช่น รับความรู้สึกสัมผัสความเจ็บ ความร้อน ความเย็น เป็นต้น

 

 

Subcutis หรือ ชั้นไขมัน เป็นชั้นที่ลึกที่สุดของผิวหนังทั้งหมด เป็นส่วนรองรับผิวหนังให้คงรูปร่าง รับแรงกระแทก และสะสมพลังงานแก่ร่างกาย ให้ความอบอุ่นและเพิ่มความเต่งตึงแก่ผิวหนังอีกด้วย

 

 

นอกจากชั้นผิวหนังที่จำเป็นต้องรู้จักแล้ว มีอีกสองสิ่งที่จำเป็นต้องรู้จักเช่นกันนั่นก็คือ ขน กับ ต่อมเหงื่อ เพราะขนนั้นเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดขนคุดและต่อมเหงื่อ ที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นเหตุของการเป็นขนคุด

 

 

ขน โดยเฉลี่ยมนุษย์มีเส้นผมจำนวน 100,000-150,000 เส้น แต่ละเส้นหนาประมาณ 0.08 มิลลิเมตร และยาวขึ้นในราว 0.1-0.2 มิลลิเมตรต่อวัน รวมแล้วจะได้ผมยาว 30 เมตร ร้อยละ 90 ของผมหรือขนคือเคราติน (keration) สร้างจากรากที่อยู่ในรูขุมขน รากผมหรือขนจะกระจายอยู่ในชั้นผิวหนังแท้ในระดับความลึกต่างๆ และผลัดกันงอกโผล่มาทางรูขน โดยมีอายุขัยที่แตกต่างกันเฉลี่ย 2-3 ปี แล้วแต่ชนิดของเส้นขนนั้น

 

 

ต่อมเหงื่อ ทำหน้าที่หลัก คือ การปรับอุณหภูมิร่งกาย เวลาที่อากาศร้อนร่างกายจะขับเหงื่อออกมามาก เพราะฉะนั้นเหงื่อคือการปรับอุณหภูมิ เพื่อให้ระบายความร้อน ถ้ามีอากาศเย็นๆ เหงื่อก็จะไม่ออก แต่การที่เหงื่อออกหรือไม่ออกนอกจากจะเรื่องของอุณหภูมิแล้ว ยังเป็นเรื่องของความชื้นสัมพัทธ์อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น อากาศร้อนแต่เป็นอากาสที่ร้อนแห้ง ความชื้นสัมพัทธ์จะต่ำ ก็จะทำให้ไม่มีเหงื่อ เพราะว่าเหงื่อที่ออกมาจะระเหยได้ง่าย แต่ถ้าเป็นอากาศร้อนชื้น ความชื้นสัมพัทธ์จะทำให้เหงื่อระเหยไม่ดี เราก็จะเห็นเหงื่อที่ติดอยู่บนตัว เพราะฉะนั้นต่อมเหงื่อมีหน้าที่หลั่งเหงื่อออกมา ซึ่งจะประกอบไปด้วย น้ำ และเกลือแร่ จึงทำให้เหงื่อมีรสชาติที่เค็ม โดยส่วนใหญ่คนทั่วไปมักจะคิดว่าการเป็นขนคุด อาจจะเกิดจากต่อมเหงื่อซึ่งจริงๆ แล้ว ต่อมเหงื่อนั้นไม่เกี่ยวกับการเป็นขนคุดเลย เพียงแต่ต่อมเหงื่อนั้นมีท่อเปิดสู่ผิวทางรูขน

 

 

กำเนิดขนคุด

 

ขนคุดในทางการแพทย์จะจัดอยู่ในกลุ่มของรูขุมขนอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อที่รูขุมขน หรือจากการที่ปลายเส้นขนเหล่านั้นไปแทงรูขุมขน จนทำให้เกิดการอักเสบ หรือจากการที่มีการอุดตันของรูขน ทำให้เส้นขนนั้นขดอยู่ในรูขุมขน ไม่สามารถจะโผล่ขึ้นมาได้ ดังนั้น ต้นเหตุของขนคุดจึงคล้ายๆ กับการที่มีเล็บขบนั่นเอง เราสามารถแบ่งกลุ่มขนคุดตามสาเหตุการเกิดได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

 

 

 กลุ่มแรก คือ ผู้มีพันธุกรรมโรคภูมิแพ้จะมีโอกาสเกิดเป็นโรคขนคุดได้ง่าย บริเวณที่เกิดได้แก่ ต้นแขน ต้นขา หรือไหล่ เป็นต้น โรคขนคุดที่เกิดจากพันธุกรรมจะมีความผิดปกติของการสร้างเซลล์ผิวหนัง ที่ส่งผลให้มีการอุดตันของรูขุมขนด้วยสารเคราติน (keration) ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ส่งผลให้ขนไม่สามารถงอกทะลุรูขุมขนออกมาได้ เกิดเป็นขนคุดที่อยู่ใต้ผิวหนัง หรือในรูขุมขน เกิดอาการแดง การอักเสบเป็นหนอง เป็นฝี รอยดำ หรือแผลเป็น ขึ้นอยู่กับความรุนแรง โดยขนคุดที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรมนั้น จะเจอได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น อาการเป็นๆ หายๆ แต่อาจดีขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น

 

 

 กลุ่มที่สอง จะเกิดจากตำแหน่งสรีระทางกายภาพของแต่ละคน เช่น บริเวณท้ายทอยต้นคอ ใต้คาง ขาหนีบ จะมีลักษณะที่พับทับกัน ในคนผมสั้น ผมหยิกอาจเกิดการทิ่มผิวหนังบริเวณรอยพับนั้นจนเกิดการอักเสบหรือ อาจจะทำให้ขนไม่ยอมขึ้น แล้วไปเบียดตัวอยู่ในรูขุมขน จนทำให้เป็นขนคุดได้

 

 

 กลุ่มที่สาม คือ การโกนขน หนีบขน แหนบขน หรือการแว็กซ์ขนที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี เช่น การโกนขนหรือหนวดทวนทิศทางการงอก ทำให้เกิดปลายแหลมไปทิ่มแทงรูขนให้เกิดอาการอักเสบได้

 

 

อาการของโรคขนคุดเป็นอย่างไร

 

จากากรสะสมของโปรตีนเคราตินอุดตันรูขุมขน ทำให้ขนไม่สามารถงอกพ้นผิวหนังออกมาได้ตามปกติ จึงเกิดเป็นตุ่มตามรูขุมขมากมาย ทำให้ผิวหนังดูสากคล้ายกระดาษทราย หรือหนังไก่ บริเวณที่พบได้ คือ หลังแขนและต้นขา บริเวณใบหน้าก็สามารถเกิดได้เช่นกัน ซึ่งมักพบในเด็ก ซึ่งบางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสิว แตกต่างกันที่ไม่เห็นหัวสิว ซึ่งตุ่มจากโรคขนคุดเหล่านี้มักมีสีเนื้อ มีการอักเสบได้บ้าง ซึ่งอาจทำให้มีรอยแดงหรือมีอาการคันร่วมด้วย

 

 

การรักษาขนคุด

 

หากมีอาการขนคุด หรือสงสัยว่าเป็นโรคขนคุด ควรพบปรึกษาแพทย์ผิวหนัง ในการตรวจวินิจฉัยนั้น ไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เนื่องจากโรคขนคุดจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่รักษาหายขาด เป็นเพียงการรักษาตามอาการ

 

 

ในคนที่เป็นขนคุดที่เกิดจากพันธุกรรม การรักษาคือ ให้ความชุ่มชื่นกับผิว เพื่อทำให้สิ่งที่อุดตันรูขุมขนนิ่มและหลุดออกง่าย การให้ยาบางตัวจะไปช่วยทำให้การผลัดเซลล์ดีขึ้นและมีฤทธิ์ทำให้เซลล์หลุดลอกนั่นเอง ซึ่งยาจะคล้ายๆ กับยารักษาสิว โดยจะลดอาการอักเสบอาการแดง หรือลดการติดเชื้อในกรณีที่มีจุดแดงๆ เป็นหนองเกิดขึ้น ยารักษาบางกรณีจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาปฏิชีวนะ ตามอาการของโรค ทั้งนี้ทั้งนั้นจำเป็นที่ต้องใช้ยาต่อเนื่องตามอาการ ถ้าไม่มีจุดแดง ก้ไม่ต้องใช้ยาลดการอักเสบ ใช้แค่ยาทำให้เซลล์ผลัดอย่างเดียว โดยจะต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มเห็นผล แต่สิ่งที่ตามมาจะมีเรื่องของรอยแดง หรือรอยดำที่เหลืออยู่ ถ้าของใหม่ไม่ขึ้น ของเก่าก็จะหายเลือนไปเหมือนรอยสิว

 

 

หากสาเหตุเกิดจากการโกนขนที่ผิดวิธี ก็ต้องดูแลที่วิธีการโกน ควรโกนตามแนวขนไม่ให้โกนย้อนขึ้น เพื่อมิให้ปลายขนแหลมสั้นเกินไป จนทิ่มแทงรูขน เพราะถ้าหากโกนย้อน อาจจะรู้สึกเกลี้ยงกว่า แต่อาจจะทำให้เกิดขนคุดได้ และที่สำคัญควรใช้มีดโกนที่สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางรอยถลอกจากการโกน

 

 

ผู้ที่มีขนคุดตามบริเวณข้อพับ ควรหลีกเลี่ยงการโกน หรือตัดผมสั้น โดยใช้ปัตตาเลี่ยน เพราะจะทำให้ขนที่เกิดใหม่ไปทิ่มแทง หากจำเป็นควรตัดโดยใช้หวีรอง แต่หากยังมีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อพิจารณายาปฏิชีวนะ หรือกำจัดขนถาวร ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถรักษาขนคุดด้วยวิธีการกำจัดขนถาวร เช่น การกำจัดขนด้วยไฟฟ้า, การใช้แสง IPL, การใช้แสงเลเซอร์กำจัดขนเป็นต้น

 

 

การกำจัดขนด้วยไฟฟ้า

 

โดยเครื่องมือชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นเข้มจี้ขนาดเล็ก โดยผู้ทำการรักษาจะสอดเข็มเข้าไปในรูขุมขน เพื่อทำการส่งกระแสไฟฟ้าไปทำงานรูขุมขน หรือโครงสร้างเนื้อเยื่อที่จะทำให้เกิดการสร้างขนด้านล่าง แต่วิธีนี้มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดแผลเป็นตรงบริเวณที่ทำได้ และถ้าหากการทำลายไม่สมบูรณ์ ก็อาจทำให้ขนนั้นงอกขึ้นมาใหม่และอุดตันรูขุมขน ทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบได้อีกด้วย การใช้แสง IPL (Intense Pulse Light) เป็นการใช้แถบแสงหลายความยาวของคลื่นที่ทำลายเส้นขน แต่ผลที่ได้ก็มีข้อจำกัด เพราะแสงนี้จะไม่มีความจำเพาะต่อเส้นขนมากพอ จึงทำให้ผลการรักษาไม่ดีนัก ซึ่งอาจจะทำให้ขนกลับมางอกได้ไวกว่าเดิม อีกทั้งระหว่างการรักษาก็อาจจะทำให้เกิดผิวไหม้ได้

 

 

การใช้เลเซอร์กำจัดขน

 

การใช้เลเซอร์กำจัดขน เป็นเทคโนโลยีกำจัดขนในปัจจุบันที่มีความสุขแน่นอนและปลอดภัยสูง หลักการทำงานของเลเซอร์ชนิดนี้ คือ ใช้แสงเลเซอร์ไปทำให้รูขุมขนที่ทำหน้าที่ในการสร้างขนมีการฝ่อเล็กลง พลังงานแสงเลเซอร์จะถูกส่งไปที่รากขน ส่งผลให้ขนใหม่ที่จะสร้าง ออกมามีขนาดเล็กลง และขนงอกช้าและทำให้บางลง และขนหายไปในที่สุด การกำจัดขนด้วยแสงจะทำลายเส้นขนประมาณ 15%-30% ภายหลังการรักษา 1 ครั้ง โดยทั่วไปต้องรักษาประมาณ 5-8 ครั้ง การรักษามักทำทุก 4-6 สัปดาห์ และผลของการรักษานั้น จะขึ้นอยู่กับสีของขนและสีผิวเท่านั้น โดยทั่วไปที่พบคนที่มีเส้นขนสีดำหรือสีดำเข้ม จะเห็นผลได้ดีกว่าคนที่มีเส้นขนสีอ่อน และคนผิวขาวจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าคนผิวคล้ำอีกด้วย

 

 

แม้ว่าการกำจัดขนจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันขนคุด แต่ก็ยังไม่สามารถเห็นผลได้ 100% เพราะฉะนั้น ถ้าหากต้องการกำจัดขนถาวร หรือใช้เลเซอร์ในการกำจัดขน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

 

 

การป้องกันและการดูแลตนเอง

 

เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคขนคุด มีพื้นฐานส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรม ดังนั้น จึงไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้เท่าที่ควร แต่การรักษาความชุ่มชื่นของผิวหนังจะช่วยลดการเกิดอาการได้

 

 

หลักการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคขนคุด คือ จะต้องรักษาความชุ่มชื่นของผิวหนังด้วยการทาโลชั่น การใช้บู่อ่อนๆ (เช่น สบู่เด็กอ่อน) ลดการระคายเคือง และงดอาบน้ำอุ่นทั้งนี้ เพื่อลดโอกาสการเกิดผิวแห้งและลดการกำเริบของอาการขนคุดลงได้

 

 

ในส่วนข้อควรระวัง ในช่วงที่เป็นขนคุด ไม่ควรที่จะขัด ถู เพราะหลายๆ คนคิดว่าการที่เป็นขนคุด จะเกิดจากการอุดตัน ซึ่งขนคุดเกิดจากสิ่งอุดตันก็จริง แต่การขัดถูกจะทำให้เกิดอาการอักเสบได้ คล้ายๆ กับคนที่เป็นสิวแล้วห้ามบีบสิว เพราะฉะนั้นการขัดไม่ใช่วิธีการรักษา การขัดจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้มากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อห้ามนั่นก็คือการแกะเกาขนคุด เพราะจะทำให้เกิดเป็นแผลแดง และบางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดการเลือดออกการแกะเกาบ่อยๆ จะทำให้เป็นแผลและเกิดรอยดำขึ้นได้ ควรสมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อไม่ให้รัดเสียดสีบริเวณที่เป็นขนคุด สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยลดการอักเสบบวมแดงได้

 

 

“ต้องทราบเสียก่อนว่าตัวเองนั้นเป็นขนคุดชนิดไหน เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง แม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคที่เราดูแลได้ง่าย แต่ที่เราเป็นกังวลจะเป็นเรื่องของความสวยงามเป็นส่วนใหญ่ คนที่มาไม่ได้มาเพราะเจ็บ แต่จะมาพบแพทย์เพราะความไม่สวย ไม่เนียน ถ้าหากได้รับการรักษาถูกต้อง และได้รับยาอย่างพอเหมาะแล้วนั้นจะสามารถทุเลา แม้ไม่หายเป็นปกติ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ได้ การรักษาด้วยการทายา ก็ควรจะเรียนรู้ว่ายาที่จะทานั้นเหมาะแก่การรักษาของเราหรือไม่ เพราะบางคนไปซื้อยามาเอง อาจจะทำให้ไม่ถูกกับโรคที่เราเป็นนัก เพราะฉะนั้น เราจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะได้ป้องกันได้อย่างถูกวิธี”

 

 

นพ.รัฐภรณ์ อึ๊งภากรณ์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)