Haijai.com


โรคหัวใจชนิดไม่เขียวและมีเลือดไปปอดมาก


 
เปิดอ่าน 3257

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดไม่เขียว

 

 

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งพบได้ 8 รายต่อเด็กแรกเกิดมีชีวิต 1,000 ราย โดยทั่วๆ ไปแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มเลือดไปปอดน้อย (ชนิดเขียว) และกลุ่มเลือดไปปอดมาก (ชนิดไม่เขียว) เรามาดูกลุ่มเลือดไปปอดมากกันต่อดีกว่าค่ะ

 

 

ภาวะไม่เขียวและมีเลือดไปปอดมาก

 

เจ้าตัวน้อยจะมีอาการเขียวไม่มาก ที่สำคัญจะมีลักษณะอาการของหัวใจวาย เช่น หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย เหงื่อมาก เลี้ยงไม่โต ตับโต หัวใจเต้นเร็ว และหัวใจโต เริ่มมีได้ตั้งแต่อายุ 4-6 สัปดาห์ จะไม่มีอาการขาดออกซิเจนเฉียบพลัน (hypoxic spells) นิ้วก็จะปุ้มไม่มาก พัฒนาการทางด้านที่ต้องใช้กล้ามเนื้อจะช้ากว่าปกติ เพราะเหนื่อยง่าย

 

 

วิธีดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจชนิดไม่เขียวและมีเลือดไปปอดมาก

 

1.ลูกจะเป็นหวัดได้บ่อยๆ จึงไม่ควรพาไปในที่ชุมชนที่มีผู้คนหนาแน่น หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ หรือถ้าเป็นหวัดควรรีบรักษาให้หายโดยเร็ว และจะมีผลแทรกซ้อนจากหวัดได้ง่ายและบ่อยกว่าเด็กทั่วไป

 

 

2.สามารถพาลูกไปรับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามระยะเวลาเหมือนเด็กปกติทั่วไปได้

 

 

3.รับประทานอาหารได้ทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดเป็นของแสลง แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัด เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ปรุงอาหารตามปกติแต่ไม่ควรใส่เกลือเพิ่ม เด็กสามารถเติบโตได้พอสมควรถ้าได้อาหารครบทุกหมู่ เช่น เนื้อ นม ไข่ ผัก ผลไม้ โดยเน้นอาหารพวกไขมัน โดยใช้น้ำมันพืชในการทอด ผัดแทนการต้มหรือลวก

 

 

4.รับประทานยาที่แพทย์ให้อย่างสม่ำเสมอ จะมียาอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

 

 

 ยารักษาอาการทั่วๆ ไป ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการหวัด ยาบำรุงร่างกาย ยากลุ่มนี้โดยเฉพาะยาบำรุง ไม่จำเป็นต้องให้ทุกวันก็ได้ เพราะใช้เสริมอาหาร

 

 

 ยารักษาหรือบรรเทาอาการทางหัวใจ ได้แก่ ยา Lanoxin ยาขับปัสสาวะ ให้กินยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ โดยมีข้อแนะนำดังนี้

 

 

-ถ้าได้ยาขับปัสสาวะร่วมด้วย ควรกินผลไม้มากขึ้น เช่น กล้วย ส้ม สับปะรด เป็นต้น

 

 

-ในระหว่างที่รับประทานยา โดยเฉพาะยา Lanoxin ถ้ามีอาการชีพจรเต้นไม่ปกติ หรือคลื่นไส้ อาเจียนมาก ควรหยุดยาทันที และรีบมาพบแพทย์ ควรนำซองยาไปทุกครั้งที่พบแพทย์เพื่อประโยชน์แก่ตัวลูกเอง

 

 

5.ดูแลฟันของลูกให้ดี สุขภาพฟันและเหงือกที่ไม่สมบูรณ์นั้นจะเป็นแหล่งเชื้อโรคที่สำคัญ ควรดูแลฟันตั้งแต่ลูกอายุยังน้อยๆ โดยเริ่มจากการเช็ดเหงือกก่อนนอน เพื่อให้ลูกชินกับการทำความสะอาดฟัน จากนั้นเริ่มเช็ดฟัน แปรงฟัน และพาลูกไปตรวจฟันอย่างน้อยปีละครั้ง ฟันผุเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคอยู่มากมาย อาจเป็นแหล่งกระจายเชื้อให้ลูกติดเชื้อในหัวใจได้

 

 

6.ความผิดปกติที่หัวใจนั้นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมในเวลาต่อมา แพทย์จะเป็นผู้บอกในเวลาต่อมาว่าสามารถให้ความช่วยเหลือด้วยวิธีใดบ้าง ถ้าหากต้องผ่าตัดจะบอกเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

 

 

7.ควรพาลูกมาติดตามรับการรักษาเป็นระยะตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์แก่ตัวลูกเอง ถ้ามีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นก็จะสามารถช่วยได้เร็วขึ้น

 

 

8.หากลูกต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยการใส่สายสวนเข้าภายในตัวร่างกาย เช่น ส่องกล้องดูอวัยวะภายใน หรือตรวจรักษาฟันด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ให้แจ้งแก่แพทย์ผู้ดูแลเสมอว่าลูกเป็นโรคหัวใจ จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อโรค) ก่อนเสมอ โดยให้รับประทานยาตามสั่งอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากประการหนึ่ง เนื่องจากการตรวจหรือรักษาดังกล่าวข้างต้น สามารถทำให้เกิดเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจในภายหลังได้

 

 

โรงพยาบาลพระรามเก้า

มูลนิธิโรคหัวใจเด็ก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)