Haijai.com


Separate Anxiety แม่จ๋า อย่าทิ้งหนูไป


 
เปิดอ่าน 2453

Separate Anxiety แม่จ๋า อย่าทิ้งหนูไป

 

 

“แล้วหนูกลัวอะไรอีก?” เจ้าตัวดี ลอยหน้าลอยตาถามอย่างท้าทาย คุณแม่มองลูกอย่างเอ็นดู ก่อนจะเล่าต่อว่า “พอลูกอายุประมาณ 9 เดือน อาการกลัวคนแปลกหน้าก็ค่อยๆ ดีขึ้น ตอนแรกแม่ก็โล่งใจ แต่ที่ไหนได้ ลูกกลับมาติดพ่อกับแม่แจ ไม่ยอมให้คลาดสายตาเลย แม่เปิดตำราดู เลยรู้ว่านี่เป็นความกลัวอีกเรื่องหนึ่ง ที่อยู่ในพัฒนาการของเด็กวัย 7-18 เดือน ที่จะเป็นกังวลใจทุกครั้งที่พ่อแม่ หรือคนใกล้ชิดไม่อยู่ใกล้ๆ ลูกของเพื่อนๆ แม่บางคนก็มีอาการมากกว่าหนูเสียอีก เรื่องนี้ทำให้แม่รู้ว่าเด็กแต่ละคนแสดงอาการกลัวออกมาไม่เหมือนกัน และระยะของพัฒนาการในขั้นนี้ก็ยาวนานไม่เท่ากันด้วย

 

 

ความวิตกกังวลเมื่อลูกไม่เห็นพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ นั้น เป็นสัญญาณที่ดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกนั้น เป็นความผูกพันที่ลึกซึ้ง ทำให้พ่อแม่ได้รู้ว่าลูกรู้สึกอบอุ่น มั่นคงและมีความสุขเมื่อมีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ นอกจากนี้ยังเป็นการบ่งบอกด้วยว่า ลูกมีพัฒนาการด้านสติปัญญา เพราะลูกรู้ว่าจะแสดงออกเพื่อให้พ่อแม่รู้ถึงความรู้สึกของลูกได้อย่างไร และไม่ก้มหน้ายอมรับสถานการณ์ที่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ระหว่างนี้พ่อกับแม่ก็ช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นคงทางใจมากขึ้น หลายวิธี

 

 

 ให้ความรักกับลูกเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ เพราะในวัยทารกนั้น ลูกต้องการความอบอุ่น เพื่อเป็นพื้นฐานของความมั่นคงทางอารมณ์ต่อไป

 

 

 หลีกเลี่ยงการอยู่ห่างจากลูกเป็นเวลานานๆ หรือหากจำเป็นต้องไปธุระ ก็บอกกับลูกตรงๆ ไม่ควรหลบออกไปเมื่อลูกเผลอ เพราะจะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจในตัวพ่อและแม่

 

 

 สอนลูกให้เข้าใจเรื่องการดำรงอยู่ของวัตถุ ทำให้ลูกเขาใจว่าสิ่งๆ ต่างนั้นยังคงอยู่ แม้ว่าลูกจะไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นก็ตาม ด้วยการเล่นเกมจ๊ะเอ๋ หรือซ่อนหา หรือกำของเล่นไว้ในมือแล้วให้ลูกทายว่าสิ่งของนั้นอยู่ในมือข้างใด

 

 

 ฝึกการอยู่ห่างจากลูกในเวลาสั้นๆ เช่น บอกให้ลูกนั่งรอสักครู่ในห้องที่ปลอดภัย ขณะที่แม่ไปหยิบของอีกห้องหนึ่ง

 

 

 หากจำเป็นต้องออกไปธุระ อธิบายให้ลูกฟัง และบอกลาลูกพร้อมรอยยิ้ม ย้ำให้ลูกเข้าใจว่าไม่นานจะกลับมา

 

 

Fear Face

 

ความกังวลที่ไม่ต้องการอยู่ห่างจากคุณพ่อคุณแม่นั้น จะเกิดขึ้นไม่นานค่ะ โดยทั่วไปเมื่อเจ้าตัวน้อยอายุครบ 2 ปี ก็มีแนวโน้มว่าเด็กๆ จะลืมคุณและหมกมุ่นอยู่กับของเล่นชิ้นโปรดได้ไม่ยาก ไม่กี่นาทีหลังจากที่คุณคล้อยหลังไป ดังนั้นตักตวงช่วงเวลาที่เจ้าตัวน้อยต้องการให้คุณอยู่ใกล้ๆ ไว้ให้ดีนะคะ เพราะช่วงเวลานี้จะผ่านไปเร็วอย่างที่คุณคาดไม่ถึง

 

 

Mom Must Know

 

79% ของทารกวัย 9 เดือน จะเริ่มแสดงอาการตอบสนองความรู้สึกกลัว

(Some images used under license from Shutterstock.com.)