© 2017 Copyright - Haijai.com
สอนเด็กน้อยให้รู้จักการให้อภัย เพื่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี
การให้อภัยถือเป็นการบรรเทาความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับตัวเอง เรื่องเลวร้ายทั้งหลายที่ทำให้เด็กน้อยเจ็บช้ำน้ำใจ หากฝังลึกอยู่ในสมองของเด็กนานวันเข้าอาจกลายเป็นการสร้างความเก็บกดให้กับตัวเด็กเอง ซึ่งส่งผลกระทบในการทำกิจกรรมที่สามารถช่วยในการพัฒนาเด็กหลายๆด้านโดยเฉพาะสภาพภาวะจิตใจของเขา เพราะฉะนั้นการให้อภัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญกับสมองและจิตใจของเด็กน้อยเป็นอย่างมาก
ประโยชน์ของการให้อภัย
การให้อภัยนั้นแม้ว่าจะไม่สามารถลบเลือนความเจ็บปวดแห่งความทรงจำไปได้อย่างสิ้นเชิง แต่จะสามารถช่วยลดหย่อน ความรุนแรงของความเจ็บปวดทางอารมณ์ออกไปได้ ซึ่งเวลาจะช่วยเยียวยาให้เด็กน้อยลืมเรื่องราวเหล่านั้นไปได้เอง
การให้อภัยยังช่วยในเรื่องของสุขภาพร่างกายในทุกระดับ รวมถึงด้านจิตใจและอารมณ์ เพราะความเกลียดชังและความเคียดแค้นนั้นเปรียบเสมือนสารพิษในร่างกายที่จะนำไปสู่อาการเจ็บป่วยได้ในที่สุด
วิธีสอนให้เด็กรู้จักอภัย
• สร้างความเข้าใจให้กับเด็ก
เมื่อเด็กรู้สึกไม่สบายใจ ก่อนอื่นผู้ปกครองจะต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุว่าเด็กมีความโกรธแค้นเกี่ยวกับเรื่องใด เมื่อคุณทราบถึงต้นสายปลายเหตุแล้วคุณควรให้ความเห็นอกเห็นใจ ปลอบโยนเด็กเมื่อเขาผิดหวัง และไม่ควรเมินเฉยเพราะนั่นหมายถึงการเพิ่มพูนความเก็บกดให้กับตัวเด็ก คุณควรทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาสามารถเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คุณฟังได้ จากนั้นคุณสามารถให้คำเเนะนำต่างๆ ที่ช่วยปรับสภาพจิตใจของเขา เพื่อให้เด็กนั้นสามารถให้อภัยกับเรื่องราวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับเขาได้ในที่สุด
• สอนเขาให้เข้าใจเกี่ยวกับสัจธรรมของชีวิต
คุณสามารถอธิบายให้เด็กฟังง่ายๆ ว่า คนเรามักลืมเรื่องราวความทุกข์เมื่อกำลังมีความสุข และในขณะเดียวกันก็สามารถลืมความสุขที่เคยได้รับได้อย่างง่ายดายเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ เพราะฉะนั้นปล่อยให้ความทุกข์ที่มาจากความโกรธนั้นผ่านพ้นไปเหมือนก้อนเมฆน้อยๆ ที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า และเรียนรู้ที่จะให้อภัย เพียงเท่านี้ความทุกข์ที่อยู่ภายในใจก็จะถูกทำลายไปจนหมดสิ้น
• เขียนเพื่อระบายความในใจ
ให้เด็กเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากำลังโกรธในจดหมายหรือในสมุดไดอารี่ การเขียนนั้นเป็นทางออกที่ดีในการระบายความในใจ ซึ่งเป็นการปลดปล่อยในสิ่งที่อัดอั้นตันใจออกมาเป็นตัวหนังสือ ถือเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง เพราะเด็กน้อยจะได้มีโอกาสทบทวนความคิดของตนเองถึงต้นสายปลายเหตุว่าทำไมเขาถึงโกรธ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวที่เล็กน้อยอย่างเช่น โดนเพื่อนๆ ล้อนิดๆ หน่อยๆ การเขียนนั้นจึงสามารถช่วยให้เขาทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดได้มากขึ้นและรู้สึกสบายใจขึ้น จนสามารถลืมความโกรธไปได้ในที่สุด
• เรียนรู้การให้อภัยจากผู้อื่น
คุณสามารถอธิบายให้เด็กฟังได้ว่า บางครั้งเขาก็อาจจะเป็นผู้ที่กระทำให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจได้เช่นกัน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งในบางครั้งผู้ที่ถูกกระทำนั้นยังสามารถให้อภัยกับเขาได้ เพราะฉะนั้นการที่เขาจะให้อภัยกับผู้อื่นบ้าง จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยากเย็นอะไร คุณสามารถเตือนสติเขาว่า ความทุกข์ที่เขาได้จากผู้อื่นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับเขาเพียงผู้เดียว แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ และคนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมเพราะการให้อภัยซึ่งกันและกัน
• ความโกรธบั่นทอนสุขภาพ
คุณควรชี้ให้เขาเห็นถึงอันตรายของความโกรธเเค้นที่มีต่อกับสุขภาพกายและสุขภาพใจ การที่เราโกรธใครสักคนเป็นระยะเวลานานนั้น สามารถบั่นทอนสุขภาพกายและเป็นการสร้างปัญหาทางจิตใจที่จะนำไปสู่โรคต่างๆ อาทิเช่น โรคซึมเศร้าหรือ โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งการให้อภัยเท่านั้นคือภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดโรคต่างๆ เหล่านี้ คุณสามารถชี้ให้เขาเห็นว่าความโกรธและความคับแค้นใจนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายต่อตัวเขาเองมากเพียงใด เพราะฉะนั้นการให้อภัยผู้อื่นจึงเป็นการส่งผลดีต่อตัวของเขาเองไม่ใช่ใครอื่น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.breeze.co.th
(Some images used under license from Shutterstock.com.)