
© 2017 Copyright - Haijai.com
พัฒนาการด้านภาษา และการสื่อสารที่สามารถเข้าใจได้ดีขึ้น
เด็กได้ก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 4 ของชีวิตแล้วคะ ซึ่งในวัยนี้เด็กยังคงพัฒนาด้านการสื่อสาร และภาษาอย่างต่อเนื่อง การจัดสิ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีในการเรียนรู้จะช่วยส่งเสริมความต้องการในการสื่อสาร ทักษะด้านภาษา การเพิ่มพูนคำศัพท์ใหม่ให้กับเด็กมากขึ้น เด็กจะไม่เป็นผู้ฟังอีกต่อไป แต่เด็กจะเริ่มเป็นผู้ร่วมสนทนาไปกับคุณด้วย อาจเป็นผู้เริ่มเมื่อมีความต้องการอยากรู้ ช่างสงสัย ครุ่นคิด หาคำตอบ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีของการเรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกแห่งการศึกษาในอนาคต เด็กมักถามผู้ใหญ่ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หรือคำพูดที่ได้ยินมา “คุณแม่ครับ เมื่อตะกี้คุณน้าพูดหมายถึงอะไรครับ” หรือยังสามารถรู้ได้ทันทีว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้องในการพูดของผู้ใหญ่ เช่น “คุณแม่ครับ ทำไมเมื่อตะกี้คุณตา พูดว่าถ้วยครับ มันเรียกว่า แก้วต่างหากครับ”
เจื้อยแจ้ว ช่างคุย ช่างฉอเลาะ
เด็กวัย 4 ขวบนี้ เริ่มสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวผ่านจากสิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น ผ่านหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง ผ่านการเล่นกับเพื่อน ผ่านรายการทีวีที่ได้ชม และสั่งสมโดยเลือกเฉพาะสิ่งที่ตนเองสนใจ
• เริ่มใช้ประโยคที่ยาวขึ้นโดยสามารถเชื่อมประโยคสั้นๆ เข้าด้วยกัน
• สามารถร่วมสนทนาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มากกว่าเมื่อลูกอายุน้อยกว่านี้ ซึ่งจะเข้าใจเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น
• สามารถเล่าสิ่งต่างที่ได้เห็นพบเจอมาเป็นเรื่องได้ ซึ่งในบางครั้งอาจให้ข้อมูลมากจนเกินไป หรือน้อยจนเกินไป หรือการจัดลำดับก่อนหลังยังไม่ถูกต้อง ผู้ใหญ่ควรอดทน หรือ เริ่มต้นให้เพื่อให้เด็กจะได้ฝึกฝนและจบสิ่งที่ต้องการสื่อสารได้
• รู้จักให้โอกาสให้ผู้อื่นได้แสดงความคิดเห็นในการร่วมสนทนา ลูกรู้จักเป็นฝ่ายที่จะรอ ฟังผู้อื่นเล่าเรื่องราวที่อยากจะพูดได้มากขึ้นด้วย เช่น เด็กอาจจะพูดว่า “เธอว่าอย่างไรหล่ะ”
• เข้าใจคำสั่งที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น “เอาบัตรไปให้คุณน้า หลังจากนั้นเอาถุงที่คุณน้าให้ เสร็จแล้วเดินออกมาทางประตูด้านหน้านะคะ” เด็กสามารถทำตามได้ ซึ่งผู้ใหญ่อาจเป็นเพียงผู้เฝ้าดู หรือให้คำแนะนำ เด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจหากสามารถทำได้สำเร็จด้วยตนเอง ทุกขั้นตอน เด็กบางคนอาจจะไม่เข้าใจคำว่า “หลังจาก” “เสร็จแล้ว” หรือ “ก่อน และ หลัง” ซึ่งผู้ใหญ่ควรเน้นให้ชัดเจนเพื่อให้เด็กเข้าใจและสามารถทำได้ เด็กบางครั้งอาจต้องใช้เวลา ผู้ใหญ่ควรใจเย็น และไม่ควรเปรียบเทียบ
• เริ่มสร้างสิ่งแวดล้อมในการใช้ภาษาที่สุภาพ เริ่มพูดกับลูกโดยใช้คำลงท้าย “ครับ ค่ะ ขา” เด็กๆ ไม่ได้เรียนรู้จากการสั่งสอนเท่านั้น แต่เด็กเรียนรู้และปฎิบัติตามจากสิ่งที่ได้เห็น ฉะนั้นการสร้างสิ่งแวดล้อมและตัวอย่างที่ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ “ลูกจ๋า ช่วยหยิบหนังสือข้างๆ หนูให้คุณแม่หน่อยซิค่ะ” “คุณพ่อขา ไปทำงานมาเหนื่อยไหมค่ะ”
การสื่อสารด้วยคำพูดที่สุภาพกันระหว่างคุณพ่อ และ คุณแม่ ถือเป็นตัวอย่างที่จำเป็นค่ะ เด็กเปรียบเหมือนผ้าขาว ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กที่พูดจาสุภาพอ่อนหวาน ตัวอย่างและสิ่งแวดล้อมจำเป็น วัยนี้เป็นวัยสำคัญที่จะปลูกฝังจนเป็นคุณลักษณะนิสัยประจำตัวของลูกค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)