
© 2017 Copyright - Haijai.com
พัฒนาการทักษะด้านภาษา และการสื่อสาร
ระหว่างการก้าวเข้าสู่ปี่ที่ 2 และปีที่ 3 ของชีวิตน้อยๆ เด็กวัยเตาะแตะจะเริ่มสะสมสิ่งที่ได้ยินที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวในชีวิตประจำวัน คำศัพท์ใหม่ๆ ที่เด็กได้ยินมาจากคนรอบข้าง ทำให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้และเริ่มพูดเป็นประโยคสั้นๆ บางครั้งก็อาจพูดไปด้วย และเล่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ และคนที่ดูแลอยู่ใกล้ชิดจะเข้าใจคำพูดของเด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดี สำหรับคนแปลกหน้าที่เข้ามาพูดคุยด้วยกับเด็ก มักจะไม่ค่อยเข้าใจคำพูดที่เด็กพูดออกไปนัก หรือถ้าเข้าใจบ้างก็เพียงแค่ 70% อาจต้องรอให้หนูน้อยย่างเข้า 3 ขวบ ที่เด็กวัยนี้จะมีวิธีการพูดที่ชัดถ้อยชัดคำขึ้น ฟังแล้วเข้าใจได้ง่ายขึ้น
เด็กๆ ในวัยนี้ต้องการการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในการส่งเสริมให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นผ่านการพูด เพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษา การสื่อสาร เพื่อนำไปสู่ทักษะในการอ่าน รวมทั้งทักษะในการเขียนด้วย
• สำหรับเด็กวัยเตาะแตะนี้ คำแรกๆ ที่สามารถพูดได้มาจากสิ่งที่ได้พบเห็นบ่อยๆ และได้ยินบ่อยๆ เช่น มามะ หม่ำๆ ไปๆ ป่าปะ เจ เจ๊ เป็นต้น ซึ่งเด็กแต่ละคนออกเสียงเรียกสิ่งต่างๆ แตกต่างกันไป
• หลักจากเด็กๆ เริ่มสะสมคำศัพท์ต่างๆ แล้วที่เคยได้มาแล้วนั้น ต่อมาเด็กก็จะเริ่มผสมเป็นคำพูดสั้นๆ เข้าด้วยกัน เช่น มามะไปๆ พร้อมกับใช้ภาษากายร่วมด้วยในการสื่อสาร
• ระหว่างช่วงอายุ 2-3 ปี เด็กๆ สามารถพูดได้ 500-1000 คำ และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น
• สามารถใช้คำนาม เช่น เพื่อ รถ หนังสือ ตุ๊กตา ขนม รวมถึงคำกริยา เช่น เล่น เดิน วิ่ง นอน คำคุณศัพท์ เช่น เปียก เร็ว ช้า เละคำคุณศัพท์ เช่น หนู เธอ พี่ น้องรวมถึงสถานที่ เช่น ข้างใน ข้างนอก เป็นต้น อีกทั้งเด็กๆ เริ่มเข้าใจเกี่ยวกับคำถาม เช่น ทำไม อะไร ที่ไหน อีกด้วย
• เริ่มที่จะเข้าใจความเป็นเจ้าของ เช่น ของหนู ของพี่ และเมื่อเด็กย่างเข้าปีที่ 3 จะเริ่มเข้าใจความหมายอย่างชัดเจนของคำว่า ของเธอ และของฉัน
• เริ่มเข้าใจและใช้คำเป็นประโยค เช่น “แม่อยู่ในรถ” “ใส่รองเท้า” และพัฒนาเป็นประโยคที่ยาวและผสมคำมากขึ้น เช่น “ไป ไป ” เป็น “หนูไปด้วย” “เท้า เท้า” เป็น “ใส่รองเท้า” เด็กอาจใช้คำ หรือ พูดไม่ถูกในบางครั้ง ผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสและช่วยเหลือ เด็กที่ไม่ได้รับโอกาสในการพูดหรือให้ทำอะไรด้วยตนเอง อาจจะพลาดโอกาสในการพัฒนา และการเรียนรู้ เช่น เด็กบางคนที่แม้อายุเข้า 6 ขวบ แต่ยังไม่สามารถใส่เสื้อผ้า ช่วยเหลือตนเองได้ เพราะคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงพี่เลี้ยงไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กได้พูด และได้ลงมือทำเองก่อนเลย มีแต่จะเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้เสร็จก่อนทุกครั้ง
• เด็กเริ่มที่จะสามารถพูดสื่อสาร เล่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับตนเองระหว่างวัน เช่น “หนูไปเซเว่น (เซเว่น เอเลเว่น)” หนูไปทำอะไรจ๊ะ “หนูซื้อ ไอติม”
• เด็กเริ่มสื่อสารถึงผู้คนและสิ่งของที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันขณะนั้น เช่น “คุณยายไปซื้อของ” “พี่เพลงไม่อยู่”
• สามารถตอบคำถามต่างๆ จากผู้ใหญ่ได้จากคำถามที่เริ่มต้นด้วย “ใคร, อะไร และที่ไหน” แต่เด็กจะยังไม่สามารถเข้าใจและตอบคำถามที่เริ่มต้นด้วย “ทำไม และ อย่างไร” ได้ ผู้ใหญ่ต้องใจเย็นนะคะ รอให้หนูโตกว่านี้รับรองผู้ใหญ่จะตอบคำถามหนูไม่ทันแน่นอนค่ะ
• เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ที่หนูน้อยวัยนี้ สามารถดำเนินชีวิตอยู่เป็นประจำ เช่น “เก็บของเล่น และใส่เข้าในกล่องนะจ๊ะ” หรือ “มานี่ลูก มาทานแอปเปิ้ล”
• เข้าใจกิจวัตรประจำวันและสามารถคาดเดาได้ว่าอะไรขะเกิดขึ้น เช่น หากคุณแม่บอกหนูด้วยวัย 2 ขวบนี้ว่าให้ไปใส่รองเท้า หนูน้อยคนเก่งคนนี้จะรู้ได้ทันทีว่าจะไปเดินเล่นที่สวนกัน
• หนูน้อยสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ หากไม่สามารถทำบางสิ่งได้
• สามารถพูดเลียนเสียงหรือเลียนแบบผู้ใหญ่ได้ ในขธเดียวกันเด็กวัยนี้ยังชอบออกคำสั่งให้ผู้อื่นทำตาม โดยเฉพาะเพื่อนหรือน้องที่อายุน้อยกว่า
(Some images used under license from Shutterstock.com.)