
© 2017 Copyright - Haijai.com
ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความจำ คือ ความสามารถในการเรียกสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับมา สมองมักทำงานต่าง ในระยะสั้น โดยเก็บข้อมูลเพื่อการเรียกใช้ในอนาคต หากข้อมูลที่เข้ามาใหม่ไม่มีความโดดเด่น น่าสนใจ หรือเป็นเรื่องที่เราเห็นว่าไม่สำคัญข้อมูลนั้นๆ ก็จะค่อยๆ จางหายไปจากความจำระยะสั้น แต่หากข้อมูลที่เข้ามาเป็นเรื่องสะดุดตา ประทับใจ ข้อมูลนั้นจะเกิดเป็นภาพซ้ำๆ หลายครั้ง จะมีการเก็บภาพนั้นๆ ไว้ในสมองเป็นความจำระยะยาว สมองจะเรียบเรียงข้อมูลไว้ในหน่วยความจำพร้อมที่จะเรียกใช้ได้ แต่หากความจำที่จัดเก็บไว้ไม่ถูกเรียกใช้งานบ้างเลย ก็จะเกิดการลืมได้ เราจะเรียกความจำกลับมาได้ ถ้าสมองมีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี และพร้อมให้เรียกออกมาใช้งาน ซึ่งอาจถ่ายทอดออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การเขียน การวาดภาพ การพูด การเคลื่อนไหว การแสดง การขับร้อง หรือการละเล่นต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจำ จึงต้องการการจัดเก็บข้อมูล และการเรียกใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม การจัดเก็บข้อมูลเพื่อช่วยให้จำได้ดีขึ้น อาจทำได้หลายแบบแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน เช่น การจำเป็นประโยค การจำเป็นคำกลอน หรือใช้คำขวัญ บ้างก็ใช้ตัวย่อ สัญลักษณ์ คำคล้องจอง หรือจำเป็นจังหวะ เป็นเพลง แผนภาพ รูปทรง หรือการเชื่อมโยงกับสิ่งที่รู้จักคุ้นเคยมาก่อน หรือจัดทำแผนผังความจำ (mind map)
กลยุทธ์ที่จะทำให้ความจำคงทนก็คือ การทบทวนเพื่อรักษาความจำให้พร้อมใช้งาน อย่างไรก็ดีจุดเริ่มต้นในการจัดเก็บข้อมูลก็คือ ความพร้อมทางร่างกาย ได้แก่ การมีความตั้งใจ ไม่เครียด หรือวิตกกังวล ฉุนเฉียวจนเกินไป ความสนใจและการมีใจจดจ่อในการรับข้อมูล ย่อมทำให้ได้ข้อมูลที่จัดเก็บถูกต้องสมบูรณ์ และมีความหมายต่อการรับรู้มากขึ้น และเป็นการพัฒนาความจำให้มีประสิทธิภาพโดยตรง
ศาสตราจารย์ ศรียา นิยมธรรม
(Some images used under license from Shutterstock.com.)