
© 2017 Copyright - Haijai.com
Big Kids Fear เด็กโต ก็กลัวเหมือนกันนะ
ความกลัวไม่เข้าใครออกใครค่ะ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ยังกลัวได้ แล้วนับประสาอะไรกับเด็กๆ ที่แม้จะโตมากขึ้น เข้าโรงเรียน มีเพื่อน มีสังคมเล็กๆ แต่กระนั้นความกลัวและความวิตกกังวลก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่คอยรังควานใจเจ้าตัวเล็กอยู่ดี เมื่อเจ้าตัวเล็กตัวขึ้น รูปแบบความกลัวก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อเป็นเด็กเล็กค่ะ ความกลัวของเด็กในวัยนี้ จะเป็นเรื่องของกลัวเรื่องร้ายแรงต่างๆ จะเกิดขึ้นกับตน ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บ หรือการสูญเสียจากภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงกลัวว่าบุคคลอันเป็นที่รักจะได้รับอันตราย นอกจากนี้ยังกลัวไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ ที่โรงเรียน กลัวโดนเพื่อนล้อ จะเห็นได้ว่าความกลัวของหนูน้อยวัยเรียนนี้ จะมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามทำความเข้าใจ รับฟัง และให้คำปรึกษาเมื่อลูกต้องการเพื่อให้เขาก้าวผ่านความกลัวในขั้นนี้ไปได้ค่ะ
ขจัดความกลัว ด้วยความเข้าใจ
ไม่ว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะอยู่ในวัยไหน และกำลังหวาดกลัวอะไรอยู่ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดความกังวลให้กับเจ้าตัวเล็กได้ คงหนีไม่พ้นความเข้าใจจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ ความกลัวของเด็กๆ แต่ละคน ขึ้นอยู่กับระดับความกังวล ประสบกาณ์ที่ผ่านๆ มา และจินตนาการของเด็กๆ เอง หากคุณพบว่าความกลัวของลูกกลายเป็นสิ่งเรื้อรัง ให้เวลาลูกของคุณในการปรับตัว และช่วยลูกหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่นำความกลัวมาให้เขา นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ ในการช่วยเหลือลูกน้อยให้ก้าวข้าวความกลัว ไม่ว่าจะเป็น
• ไม่บ่น ไม่ตำหนิ การบ่นหรือตำหนิเจ้าตัวเล็กไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรค่ะ ลองนึกถึงความกลัวของคุณเองไม่ว่าจะในปัจจุบัน หรือเมื่อคุณยังเป็นเด็ก คุณได้ยินคำว่า “ผีไม่มีจริงหรอกน่า” “อย่าอ้อนไปหน่อยเลย” หรือ “ไปเล่นกับเจ้าด่างเถอะ มันไม่กัดหรอก” คำพูดเหล่านี้ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นหรือไม่ ถ้าคำตอบของคุณคือไม่ คำตอบของเจ้าตัวเล็กก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
• ยอมรับความกลัวของลูก และปลอบใจเมื่อลูกรู้สึกกลัว หากคุณอยากจะอธิบายให้เจ้าตัวน้อยเข้าใจว่า เงาไหวๆ ที่หน้าต่างนั้นไม่ใช่ผี คุณก็สามารถทำได้แต่อย่าคาดหวังให้เจ้าตัวเล็กเข้าใจและยอมรับ คุณต้องไม่ลืมว่าความกลัวบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะนั่นแสดงว่าลูกของคุณตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัย หากคุณคอยให้กำลังใจและแนะแนวทางเมื่อหนูน้อยโตขึ้น เขาก็จะเรียนรู้ที่จะควบคุมความกลัวของตัวเองได้ในที่สุด
• แสดงวิธีรับมือกับความกลัว เช่น สอนลูกให้หายใจลึกๆ สวดมนต์บทสั้นๆ หรือนับ 1 – 10 สำหรับคุณหนูช่างจินตนาการลองให้ลูกเปลี่ยนปีศาจร้าย ให้กลายเป็นปีศาจแสนตลก หรือจะเล่านิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความกลัว และการต่อสู้กับความกลัว ให้ลูกฟัง ก็ได้เช่นเดียวกัน
ความกลัวสำหรับผู้ใหญ่อย่างเราๆ อาจเป็นเรื่องเล็กๆ ที่จัดการได้ แต่สำหรับเจ้าตัวเล็กแล้ว ความกลัว อาจเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ในโลกบนโลกใบเล็กของลูก การที่คุณอยู่เคียงข้าง และเข้าใจว่าความกลัว เป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการของลูก ก็จะช่วยทำให้เรื่องใหญ่ๆ ในโลกใบเล็กของลูก กลายเป็นเรื่องเล็กๆ ในโลกใบใหญ่ ที่จัดการได้ในที่สุด
Scary Society สังคมอุดมความกลัว
เคยรู้สึกไหมค่ะว่า สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ยิ่งหากว่าเราเปิดรับสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แล้วล่ะก็ เราก็จะได้ยินได้ฟังเรื่องน่ากลัวต่างๆ ในสังคมมากมาย ไม่ว่าจะคนทะเลาะ ฆ่าฟัน ชกชิงวิ่งราว ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ตึกถล่ม พายุ ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ผู้ใหญ่หลายคนเกิดอาการเครียดเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเจ้าตัวเล็กภายในบ้านด้วย ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ เพื่อป้องกันเจ้าตัวเล็กจากสังคมที่อุดมไปด้วยความหวาดกลัวค่ะ
• เด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 6 ปีไม่สามารถแยกแยะเรื่องจริงกับเรื่องสมมติได้ จึงไม่แปลกที่เขาจะกลัวมังกรพ่นไฟในนิทาน พอๆ กับภาพพายุทอร์นาโดที่เห็นในทีวี ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำว่า การให้เด็กๆ เห็นภาพความรุนแรงในสื่อบ่อยๆ จะส่งผลต่อการรับรู้ของเด็กๆ ทำให้เขาคุ้นชินกับภาพที่เห็น เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรระมัดระวังในการเปิดทีวีต่อหน้าลูก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรพูดคุย อธิบาย และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
• กรณีที่ลูกเกิดความกังวลกับภาพที่เห็นในข่าว คุณควรให้ความมั่นใจกับลูกว่า เหตุการณ์เช่นนั้นจะไม่เกิดกับเรา ในสังคมนี้มีคนที่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัยมากมาย และพ่อกับแม่ก็จะอยู่ใกล้ๆ ลูกเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องราวเหล่านั้นเกิดขึ้น
• ระวังที่จะไม่แสดงอาการกังวลต่อหน้าลูก บ่อยครั้งคุณพ่อคุณแม่เองเป็นต้นเหตุที่ทำให้ลูกหวาดกลัวค่ะ เช่น หลังจากที่คุณฟังข่าวสตรอม์ เซิจร์ คุณก็อาจโวยวาย เตรียมเสบียงสำหรับ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้จะนำมาซึ่งความกลัวของลูก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องระงับอารมณ์ของตนเองด้วย หากเป็นไปได้ ไม่เพียงแต่เจ้าตัวเล็กเท่านั้นที่ควรจำกัดการดูข่าว คุณเองก็เช่นกัน หากว่าการดูข่าวนั้นนำมาซึ่งความวิตกกังวล ท่านติช นัช ฮันท์ ภิกษุชาวเวียดนาม กล่าวไว้ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องดูข่าวทุกวัน และหากมีเรื่องสำคัญจริงๆ ใครสักคน ก็จะบอกเรื่องนั้นให้เราได้รู้เอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)