
© 2017 Copyright - Haijai.com
ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) คือ ภาวะเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ โพรงอากาศรอบๆ จมูกมีทั้ง 4 คู่ ได้แก่ frontal sinuses ซึ่งอยู่บริเวณหน้าผาก maxillary sinuses อยู่ภายในกระดูกโหนกแก้ม ethmoids อยู่บริเวณใต้สันจมูกและ sphenoids อยู่บริเวณเหนือจมูกด้านหลังดวงตา สาเหตุของไซนัสอักเสบเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ซึ่งพบได้น้อย และจากการแพ้อากาศ
คำแนะนำผู้ป่วย
• ดื่มน้ำมากๆ (วันละ 6-10 แก้ว) เพื่อช่วยให้เมือกในทางเดินหายใจเหลว
• งดสูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่ทำให้เยื่อบุโพรงอากาศระคายเคืองและอักเสบ
• ติดตั้งเครื่องทำความชื้นที่บ้าน เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ การสูดไอน้ำอาจช่วยบรรเทาอาการลงได้ อาจใช้ผ้าขนหนูคลุมศีรษะขณะหายใจเอาไอน้ำที่ระเหยจากน้ำร้อนที่รองไว้ในภาชนะ
• ควรล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือล้างแผล หรือน้ำเกลือพ่นจมูกวันละหลายครั้ง
• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจมีส่วนทำให้เยื่อบุโพรงอากาศบวม
• พยายามนอนยกศีรษะให้สูง เพื่อช่วยระบายสารคัดหลั่งและลดการคั่งในโพรงอากาศ
• การประคบบริเวณที่อักเสบด้วยกระเป๋าน้ำร้อน หรือลูกประคบร้อนและเปียก อาจช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้ชั่วคราว
• การออกกำลังกายช่วยให้สารคัดหลั่งไหลออกได้ดีขึ้น จึงลดความดันในโพรงอากาศ
• หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหารที่แพ้บางชนิด ละอองเกสร รา ไรฝุ่น หรือสะเก็ดผิวหนังจากสัตว์
• หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระที่ใส่คลอรีนมากเกินไป เนื่องจากจะระคายเคืองเยื่อบุจมูกและโพรงอากาศ
• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ เพราะจะทำร่างกายให้สูญเสียน้ำ
ทางเลือกในการรักษา
ยาแก้ปวดและยาลดไข้ (Analgesics & Antipyretics)
• ยาแก้ปวด เช่น aspirin, ibuprofen และ paracetamol บรรเทาอาการปวดและลดไข้ที่เกิดร่วมกับไซนัสอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ในเด็กและวัยรุ่น เพราะอาจทำให้เกิด Reye’s syndrome
ยาบรรเทาอาการไอและหวัด (Cough & Cold Preparations)
• ยาสูตรผสมที่มียาลดอาการคัดจมูก ยาต้านฮิสทามีน ยาแก้ปวด และยาระงับอาการไอ ไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำ
• ยาระงับอาการไอและยาลดอาการคัดจมูกบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง ต้องระวังเมื่อจ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ที่ต้องขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร
ยาลดอาการคัดจมูกและยาอื่นๆ ที่ใช้กับจมูก (Decongestants & Other Nasal Preparations)
• ยาลดอาการคัดจมูก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม sympathomimetics เช่น naphazoline, phenylpropanolamine, phenylephrine, pseudoephedrine, oxymetazoline, tetrahydrozoline, tuaminoheptane, tymazoline และ xylomethazoline ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้การบวมของเยื่อบุจมูกและเยื่อบุโพรงอากาศลดลง
• ยาบางชนิด เช่น phenylpropanolamine เมื่อใช้ในขนาดที่สูงอาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง และเกิดอาการกล้ามเนื้อสั่น
• การใช้ยาลดอาการคัดจมูกในรูปแบบพ่น เป็นเวลานานอาจทำให้คัดจมูกจากการใช้ยา ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน
• ยาสเตียรอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่กับจมูก เช่น beclometasone, budesonide, fluticasone, mometasone, tixocortol และ traimcinolone ใช้สำหรับไซนัสอักเสบเรื้อรัง โดยลดการบวมและการอักเสบของเยื่อบุจมูก ทำให้สารคัดหลั่งไหลออกได้ดีขึ้น สามารถใช้อย่างต่อเนื่องได้โดยไม่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะภายในเนื่องจากยาไม่ถูกดูดซึม
• น้ำเกลือและน้ำทะเลในรูปยาพ่นหรือยาหยอดจมูก อาจมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการอักเสบและแห้งของเยื่อบุจมูกได้ ทำให้เยื่อบุจมูกชุ่มชื้นและขนเล็กๆ ที่เยื่อบุทำงานดีขึ้น
ยาปฏิชีวนะ (Oral Antibiotics)
• ยาปฏิชีวนะใช้สำหรับรักษาไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ยาที่เลือกใช้เป็นอันดับแรก ได้แก่ ยากลุ่ม penicillins (เช่น amoxicillin, amoxicillin/clavulanate และ ampicillin/sulbactam) และยาต้านแบคทีเรียชนิดผสม (เช่น co-trimoxazole) ยากลุ่ม macrolides ชนิดที่มีขอบเขตการฆ่าเชื้อกว้าง (เช่น azithromycin, clarithromycin, erythromycin-sulfisoxazole, midecamycin และ roxithromycin) ยากลุ่มอนุพันธ์ ma-crolides (เช่น telithromycin) ยากลุ่ม cephalosporins รุ่นที่สอง (เช่น cefaclor, cefprozil และ cefuroxime) ยากลุ่ม cephalosporins รุ่นที่สาม (เช่น cefdinir, cefetamet, cefpodoxime และ ceftibuten) ยากลุ่ม B-lactams อื่นๆ (เช่น loracarbef) ยากลุ่ม quinolones (เช่น gatifloxacin, levofloxacin และ moxifloxacin) และยาปฏิชีวนะอื่นๆ (เช่น clindamycin) ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับการติดเชื้อไวรัส
• การรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ควรใช้ยาปฏิชีวนะไม่น้อยกว่า 10 วัน (ควรใช้ประมาณ 14 วัน) ยาตัวแรกที่ใช้รักษาคือ amoxicillin (จะเป็นแบบมีตัวยา clavulanate หรือไม่ก็ได้
• ไซนัสอักเสบเรื้อรังให้ใช้ amoxicillin/clavulanate หรือในผู้ใหญ่อาจรับประทานยา cefuroxime หรือ moxifloxacin ก็ได้ ควรรับประทานยาปฏิชีวนะประมาณ 4-6 สัปดาห์
ยาต้านฮิสทามีนและยาแก้แพ้ (Antihistamine & Antiallergic)
• ยาต้านฮิสทามีนชนิดรับประทาน เช่น acrivastine, cetirizine, desloratadine, ebustine, fexofenadine, loratadine และ levocetirizine
• ยาต้านฮิสทามีนชนิดให้ทางจมูก เช่น azelastine และ levocabastine อาจมีประโยชน์เมื่อเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่มีอาการเนื่องมาจากภูมิแพ้เท่านั้น ยาบางตัวอาจจะทำให้เยื่อจมูกแห้งมากเกินไปและน้ำมูกเหนียวข้น ซึ่งจะทำให้อาการแย่ลง จึงควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยกลุ่มนี้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)