© 2017 Copyright - Haijai.com
Simple & Safe? เรื่องใกล้ตัว ปลอดภัยชัวร์ไหม?
ในโลกใบเล็กของเจ้าตัวน้อยนั้น เรื่องที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ คิดว่าเป็นเรื่องง่ายใกล้ตัว บางครั้งก็อาจไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมกับเด็กๆ นัก คุณเคยสงสัยบางไหมค่ะว่า ลูกเราพร้อมที่จะไปสวนสัตว์หรือยัง ให้ลูกนั่งในรถเข็นของห้างสรรพสินค้าได้หรือเปล่า แล้วการพาเจ้าตัวน้อยซ้อนมอเตอร์ไซด์ล่ะ วัยไหนถึงจะเป็นวัยที่ปลอดภัย? เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราพบเจอบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน บ่อยเสียจนบางครั้งเราก็มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาๆ จะให้ลูกทำบ้างก็น่าจะได้ แต่คุณจะแน่ใจได้อย่างไรค่ะ ว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันนั้น จะปลอดภัยสำหรับเจ้าตัวเล็ก?
Can I Take My Baby Outside? ควรหรือไม่พาลูกออกไปนอกบ้าน?
คำตอบคือ ได้และไม่ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะพาลูกออกไปที่ไหน หากว่าเป็นสนามหน้าบ้าน หรือสวนสาธารณะใกล้ๆ บ้าน ในเวลาเช้าๆ ที่อากาศกำลังดี หรือยามเย็น ก่อนพระอาทิตย์ตก ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ให้ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่คนเยอะๆ เพราะว่าทารกโดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกๆ หลังคลอดร่างกายจะยังมีภูมิต้านทานต่ำ บวกกับความน่ารักน่าชัง ที่ใครๆ ก็ต้องการเข้าใกล้ เจ้าตัวน้อยก็อาจจะป่วยจากการได้รับเชื้อโรคจากมือที่ไม่สะอาด การไอ จาม ของคนรอบข้างได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ก่อนจะพาลูกน้อยไปห้างสรรพสินค้า ก็น่าจะคิดให้ถี่ถ้วนเสียก่อนค่ะ
Is It Safe to Let Baby Sit in a Shopping carts นั่งรถเข็นในห้างอันตรายหรือเปล่า?
ไม่บอกอาจจะไม่เชื่อค่ะว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยได้รับบาดเจ็บจากการนั่งในรถเข็น ที่ใช้ตามห้างสรรพสินค้า สาเหตุของอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการพลัดตก และทำให้เจ้าตัวเล็กได้รับบาดเจ็บบริเวณคอและศรีษะ ปัจจุบันนี้รถเข็นภายในห้างสรรพสินค้ามีให้เลือกหลายรูปแบบ และบางครั้งก็ดูเหมือนเป็นรถเด็กเล่น แต่ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรไตร่ตรองให้ดีก่อนจะอนุญาตให้ลูกนั่งในรถเข็นเหล่านั้นค่ะ รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ลำพัง ขณะที่คุณไปหยิบของที่ต้องการ ทางที่ดีควรมีผู้ช่วยดูแลลูกไปด้วยเสมอ แต่หากไม่มี การเลือกใช้รถเข็นสำหรับเจ้าตัวเล็กโดยเฉพาะก็น่าจะปลอดภัยกว่า
Ball Pit Safety? บ่อบอลปลอดภัยหรือไม่?
ลูกบอลหลากสีกองโตอยู่รวมในกันในบ่อใหญ่ๆ จะมีอะไรถูกใจเด็กๆ ไปมากกว่านี้ การได้ลงไปเล่นในบ่อบอลคงเป็นความฝันหนึ่งของเด็กๆ หลายคนค่ะ แต่บ่อบอลที่เราเห็นตามห้างสรรพสินค้า หรือในร้านอาหารฟาสฟู๊ดส์สุดฮิตนั้น ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ แน่หรือ? คำตอบคือ ไม่ค่ะ เพราะลูกบอลหลากสีที่เห็นนั้นเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคที่หลากหลายด้วยเช่นกัน โอกาสที่เด็กๆ จะป่วย และได้รับบาดเจ็บจากความสนุกสนานในบ่อบอลนั้นมีหลายประการ ดังนี้ค่ะ
• อาการป่วยจากการติดเชื้อ ผู้ผลิตบ่อบอลทั้งหลายออกมาแนะนำว่าเพื่อนสุขอนามัย ควรมีการทำความสะอาดลูกบอลในบ่อทุกๆ สัปดาห์ แต่ในทางปฏิบัติแล้วคงทำได้ยากค่ะ เพราะการทำความสะอาดลูกบอลจำนวนมากมายนั้นต้องใช้เวลา และแรงงานไม่ใช่น้อย ซึ่งคงไม่มีผู้ประกอบการคนไหนจะยอมลงทุนในเรื่องนี้ ด้วยเหตุนี้ เด็กๆ ที่เล่นในบ่อบอลจึงมีความเสี่ยงมากที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรีย อันเป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจอักเสบ และอาการท้องร่วง
• บาดแผลแตก ฟกช้ำ กระดูกหัก เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้เมื่อเด็กๆ หลายคนเล่นด้วยกัน โดยปราศจากผู้ใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด
• ขาดอากาศหายใจ อาจเกิดขึ้นได้เมื่อลูก ถูกเด็กคนอื่นๆ ล้มทับและจมลงอยู่ใต้ลูกบอล
• ภูมิแพ้ และลมพิษ สารลาเท็กส์ในลูกบอลพลาสติก อาจนำไปสู่อาการแพ้ และในรายที่แพ้มากๆ นั้นทำให้เกิดผื่นลมพิษขั้นรายแรงจนถึงช๊อกได้
When to Start Sweet? อาหารหวานๆ เมื่อไรดี?
จากการเปิดเผยข้อมูลของสสส. พบว่าเด็กไทยกว่า 3 ล้านคนเริ่มส่งสัญญาณเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 อันเป็นโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีรสหวานมากเกินไป เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยขวบปีแรก และกำลังจะเริ่มให้อาหารเสริม อาจมีคำถามว่าจะปรุงรสหวานให้ลูกได้หรือไม่
คำตอบคือ คุณควรเน้นอาหารเสริมแบบธรรมชาติสำหรับลูกที่อายุ 6 เดือน เช่น น้ำส้มคั้น กล้วยน้ำว้าสุกขูดบดละเอียด หากคุณเลี้ยงลูกด้วยนมผงควรเลือกชนิดที่ไม่เติมน้ำตาล น้ำผึ้งหรือสารที่ให้ความหวาน ปริมาณการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมในเด็กแต่ละวัยคือ เด็กเล็ก ต้องไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่ควรได้รับน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงตกใจ ใช่ไหมค่ะ เพราะเพียงแค่นมที่เราชงให้ลูกนั้น หากใส่น้ำตาล 2 ช้อนชา ลูกดื่มนมวันละ 4 ครั้ง ก็เท่ากับว่าลูกได้รับน้ำตาลเข้าไปถึง 8 ช้อนชาเลยทีเดียว นี่ยังไม่รวม น้ำตาลที่อยู่ในอาหารอื่นๆ อีกนะคะ
ดังนั้น คุณควรหลีกเลี่ยงการปรุงรสชาติต่างๆ ในอาหารของลูกให้ได้นานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรสหวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ด ยิ่งคุณยืดระยะเวลาไม่ให้ลูกได้รับรู้รสชาติ โดยเฉพาะรสหวานที่มักมากับลูกอม ขนมต่างๆ นั้น ได้นานเท่าไร ก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพของเจ้าตัวเล็กได้มากเท่านั้น ค่ะ
Can I Take My Baby to the Zoo? พาคุณหนูไปสวนสัตว์ได้ไหม?
สวนสัตว์ดูเหมือนว่าจะเป็นสถานที่หรรษาสำหรับคุณหนูๆ ค่ะ เพราะว่าเจ้าตัวเล็กจะได้เห็น ลิง ช้าง สิงโต ยีราฟ ฯลฯ เหมือนกับในนิทานที่คุณแม่เล่า แต่คราวนี้เป็นตัวจริง เสียงจริง ทำไมจะไม่น่าตื่นเต้นล่ะ แต่ก่อนที่คุณจะพาเจ้าตัวน้อยไปสวนสัตว์ คุณก็ควรคำนึงถึงเหตุผลหลายประการประกอบกัน เริ่มตั้งแต่
• อายุของลูก หากเจ้าตัวน้อยของคุณอายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่ขอแนะนำให้พาไปสวนสัตว์ที่ต้องเดินตากแดดร้อนๆ ค่ะ หากคุณต้องการพาลูกไป สวนสัตว์เปิด ที่คุณสามารถขับรถเข้าไปดูสัตว์ได้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ลูกน้อยแตะต้องสัตว์ต่างๆ นะคะ ส่วนคุณหนูๆ ที่อายุ 6 เดือนขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 1 ปี ก็อาจจะได้รับความสนุกสนานตื่นเต้นเพียงระยะสั้น หากคุณต้องการให้ลูกได้เรียนรู้จากการไปสวนสัตว์ จริงๆ น่าจะรอจนลูกน้อยอายุประมาณ 3 ปีก่อน ไม่เพียงแต่เด็กๆ จะเริ่มจดจำและเรียนรู้ได้ดีเท่านั้น แต่ยังมีภูมิต้านทานเชื้อโรคมากขึ้นกว่าตอนเป็นเบบี้ด้วย
• สถาพอากาศ ในวันที่ร้อนเกินไป คงไม่เหมาะที่จะพาเด็กๆ ไปสวนสัตว์ค่ะ ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณหนูๆ งอแงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ยังอาจจะเหนื่อยมากเป็นสองเท่า หากจะไปลองเลือกเป็นช่วงครึ่งวันเช้า ที่แดดยังไม่แรงนัก เพื่อความสุขของทุกคนในครอบครัว
• แผนสำรอง การไปเที่ยวสวนสัตว์ครั้งแรกของคุณหนูๆ อาจเป็นประสบการณ์น่าประทับใจ หรือฝันร้ายที่ยากจะลืมเลือนก็ได้ค่ะ ลองจินตนาการดูว่าเด็กๆ ที่เคยเห็นแต่พี่ยีราฟในหนังสือนิทาน กับตุ๊กตาช้างน้อยที่นอนกอดได้ เมื่อพบเจอเจ้าสัตว์ตัวโตเหล่านี้ขึ้นมาจริงๆ คุณหนูๆ ก็อาจจะร้องแง จนทำเอาวันอันแสนสุข กลายเป็นวันอันแสนเศร้า ฉะนั้นเผื่อใจไว้ด้วยค่ะว่า ลูกอาจไม่สนุกกับทริปนี้ และเตรียมแผนสำรองให้พร้อมอยู่เสมอ
Will My Baby Safe in Public Pool สระว่ายน้ำทั่วไป ปลอดภัยไหมสำหรับลูก?
การว่ายน้ำสำหรับเด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิดจนถึงขวบปีแรกนั้น จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ น้ำในสระต้องสะอาดปลอดภัย รวมทั้งมีอุณหภูมิที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงพอจะทราบมาว่าการออกกำลังกายในน้ำสำหรับเด็กเล็ก เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ใช่ว่าทุกสระว่ายน้ำจะเหมาะสมสำหรับเจ้าตัวเล็กค่ะ
สระว่ายน้ำทั่วไปตามหมู่บ้าน โรงแรม รีสอร์ท หรือสวนน้ำต่างๆ มักจะไม่มีการควบคุมอุณภูมิน้ำ และปริมาณคลอรีนในน้ำก็อาจจะมากเกินกว่าที่ผิวบางๆ ของหนูน้อยขวบปีแรกจะรับได้ ดังนั้นทารกในวัยนี้ หากจะเล่นน้ำ ก็ควรเป็นสระที่ได้รับการปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม รวมทั้งจำกัดปริมาณคลอรีนในน้ำด้วย และแม้ว่าลูกของคุณจะอายุเกิน 1 ปีแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะปล่อยให้เจ้าตัวน้อยเล่นน้ำเพียงลำพังได้ค่ะ ระยะปลอดภัยเมื่อเจ้าตัวเล็กลงเล่นน้ำคือ ต้องอยู่ไม่ห่างจากผู้ใหญ่เกิน 1 ช่วงแขน
นอกจากนี้ สมาคมกุมารแพทย์ได้ออกมาระบุว่าเด็กที่มีวัยไม่เกิน 4 ขวบ หากไปเรียนว่ายน้ำ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากการจมน้ำ เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่พร้อมทั้งพัฒนาการ และทักษะ หนำซ้ำยังติดเชื้อได้ง่ายกว่าเด็กโต สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกได้ว่ายน้ำต๋อมแต๋ม ในสระว่ายน้ำสาธารณะเร็วกว่านั้น ก็อาจขอคำแนะนำจากกุมารแพทย์ของลูกเพื่อความมั่นใจค่ะ
How to Keep Baby Safe on Motorcycle? พาลูกซ้อนมอเตอร์ไซด์ ให้ปลอดภัยอย่างไรดี?
สิ่งที่เราพบเห็นได้บ่อยจนเป็นภาพที่ชินตาบนท้องถนน อีกภาพหนึ่งคงหนีไม่พ้น ภาพเด็กๆ ที่นั่งซ้อนมอเตอร์ไซด์ โดยปราศจากหมวกกันน็อคบนศรีษะ ซ้ำร้ายกว่านั้นผู้ใหญ่บางคน ยังปล่อยให้ลูกหลานตัวเล็ก 2-3 คนซ้อนกันท้ายกันยาวเป็นขบวน เช้าๆ เด็กบางคนยังนั่งกินข้าวบนมอเตอร์ไซด์ เร่งรีบกันขนาดนั้นเชียวหรือ?
รู้หรือไม่ว่า จากสถิติอุบัติเหตุโดยรถมอเตอร์ไซด์ มีเด็กอายุ 0-15 ปีได้รับบาดเจ็บ ปีละกว่า 100,000 ราย กว่า 12,000 รายต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และกว่า 400 รายเสียชีวิต! เมื่อเป็นอย่างนี้เราจะป้องกันให้เด็กๆ ปลอดภัยจากการโดยสารรถมอเตอร์ไซด์ได้อย่างไร
การใส่หมวกกันน็อคเป็นการป้องกันที่ดีวิธีหนึ่ง แต่หากจะปลอดภัยจริงๆ นั้น เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรโดยสารรถมอเตอร์ไซด์ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนหนูน้อยวัยมากกว่า 2 ปี หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงค่ะ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ควรสวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่ที่รู้ว่าเจ้าตัวน้อยของตนต้องเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซด์ ควรจะลงทุนเลือกหมวกันน็อคที่มีคุณภาพไว้ให้เจ้าตัวเล็ก ซึ่งการหลักการเลือกหมวกกันน็อคที่ดี จะต้องเลือกให้พอดีกับขนาดศรีษะของลูก ไม่ควรซื้อเผื่อโต เพราะอาจเป็นอันตรายต่อศรีษะและกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอของลูกได้ คุณควรพาลูกไปซื้อและลองหมวกกันน็อคด้วยกัน วิธีการลองคือ เมื่อสวมหมวกดีแล้ว ให้ลูกเหลือบตามองด้านบน ว่าเห็นขอบหมวกด้านหน้าหรือไม่ ถ้าไม่เห็นแสดงว่าหมวกลอยสูงเกินไป ต้องปรับสายรัดให้พอดี รวมทั้งถ้าก้มๆ เงยๆ แล้วหมวกหลุดก็ต้องปรับสายคาดใหม่ ถ้าปรับเท่าไรไม่พอดี ควรลองใบที่เล็กลง
ปัจจุบันหมวกกันน็อคมีหลายขนาดคือ
• ขนาดเล็กสุด เส้นรอบวง 500 มิลลิเมตร
• ขนาดกลาง เด็กอายุ 2-5 ปี เส้นรอบวง 530-550 มิลลิเมตร
• ขนาดใหญ่ เด็กอายุ 6-12 ปี เส้นรอบวง 570-580 มิลลิเมตร
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงในการเลือกหมวกกันน็อค คือ
• มีความแข็งแรงเคาะแล้วจะรู้สึกว่าไม่ใช่เป็นเพียงพลาสติกบางๆ เปลือกในมักเป็นโฟม แต่ต้องมีความแข็งและหนาเพียงพอที่จะดูดซับแรงกระแทกหากลองเอานิ้วกดูแล้วอ่อนนิ่มยุบง่ายตามแรงกด หมวกนั้นมักจะไม่ได้มาตราฐาน
• สายรัดคาง ต้องแข็งแรง สายต้องยึดติดหมวกอย่างแน่นหนา ไม่หลุดง่ายเวลาออกแรงกระชาก หัวล็อคต้องแข็งแรง ใส่ง่ายถอดง่าย ล็อคแล้วลองกระชากดูว่าจะหลุดง่ายหรือไม่
• ควรมีเครื่องหมายมาตราฐานอุตสาหกรรม(มอก.) และที่เครื่องหมายจะมีชื่อบริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายอยู่ด้วยถ้ามาตราฐานปลอมมักมีแต่เครื่องหมายอย่างเดียว
Does My Kid Ready to Stay Home Alone ลูกพร้อมไหม ถ้าต้องอยู่บ้านคนเดียว?
ในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเด็กแต่ละคนค่ะ แต่คุณก็ควรให้ลูกอายุมากกว่า 10 ปีเสียก่อน ที่จะปล่อยให้หนูน้อยอยู่บ้านเพียงลำพัง เพราะหากต่ำกว่านั้น เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เด็กๆ อาจตื่นตระหนกและไม่รู้ว่าจะรับมือกับสถานการณ์อย่างไร คุณอาจลองถามคำถามเหล่านี้กับลูก เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเจ้าตัวเล็ก เช่น ลูกจะทำอย่างไรหากไฟไหม้ ลูกจำเบอร์โทรศัพท์มือถือของพ่อแม่ได้หรือไม่ ถ้ามีคนมากดกริ่งประตูหน้าบ้านลูกจะเปิดหรือไม่ ฯลฯ คำถามเหล่านี้ จะเปิดโอกาสให้คุณได้รู้ว่าลูกน้อยของคุณพร้อมที่จะดูแลตัวเองได้มากแค่ไหน ขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้คุณได้สอนทักษะที่จำเป็นให้กับลูกไปพลางๆ ก่อนที่เจ้าตัวเล็กจะถึงวัยที่ต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้นค่ะ
Does My Kid Ready to Take a Bus ลูกพร้อมจะขึ้นรถเมล์คนเดียวหรือยัง?
คำถามนี้ คงได้คำตอบเช่นเดียวกับการปล่อยให้ลูกอยู่บ้านคนเดียวค่ะ ความพร้อมของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่โดยทั่วไปก็ควรรอให้ลูกอายุเกิน 10 ปีเสียก่อนจึงอนุญาตให้เขาเดินทางคนเดียว และถ้าเลือกได้ การให้ลูกเดินทางด้วยรถไฟฟ้าไม่ว่าจะบนดิน หรือใต้ดิน ก็น่าจะปลอดภัยกว่าการโดยสารรถเมล์ ระหว่างนี้ คุณอาจพาลูกไปขึ้นรถเมล์ และรถไฟฟ้าไปพลางๆ พร้อมกับสอนสิ่งที่ลูกควรรู้เพื่อความปลอดภัย อันได้แก่
• รถเมล์ สอนลูกให้รอรถบริเวณป้าย ไม่ลงไปยืนริมถนน รอให้รถเมล์จอดสนิทแล้วค่อยขึ้น หากว่าคนแน่นมาก จนต้องยืนโหนบริเวณประตู ควรรอคันถัดไปดีกว่า เมื่อขึ้นไปอยู่บนรถเมล์แล้วต้องไม่ยื่นศรีษะ แขน มือ ออกมานอกตัวรถ รวมทั้งระวังคนแปลกหน้าที่มาอยู่ใกล้ๆ สอนลูกว่าไม่ควรหลับขณะนั่งบนรถเมล์ เพราะไม่เพียงจะทำให้เลยป้ายที่จะต้องลง แต่ยังเสี่ยงต่อการที่คนร้ายจะทำอันตรายเราได้ง่ายด้วย เมื่อจะลงรถ ควรรอให้รถจอดให้สนิท มองซ้ายขวา ก่อนจะก้าวลงอย่างระมัดระวัง และไม่ควรคุยมือถือขณะลงรถด้วย
• รถไฟฟ้า ขณะยืนรอบอกลูกให้ยืนหลังเส้นสีเหลืองเสมอ ไม่วิ่งบนสถานีรถไฟฟ้า ไม่วิ่งขึ้นหรือลงบันไดเลื่อน และเมื่อได้ยินเสียง ปี๊ปๆ ก็ไม่ควรวิ่งเข้าไปในขบวนรถเพราะว่าประตูกำลังจะปิด ขณะอยู่ในรถหากไม่ได้นั่ง ก็ควรเกาะราวจับไว้เสมอ ไม่ยืนพิงประตู และระวังคนแปลกหน้าที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ด้วย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)