© 2017 Copyright - Haijai.com
Q : การเคี้ยวข้าวแบบบดเอื้อง จะช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้นจริงหรือเปล่าคะ
A : การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดนั้นมีการสอนตั้งแต่เด็กๆ ให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียดไม่ให้เล่นหรือหัวเราะระหว่างกินอาหาร เพราะอาจสำลักอาหารลงหลอดลมได้ การเคี้ยวอาหารแนะนำเคี้ยว 30-40 ครั้ง ซึ่งทำให้น้ำลายคลุกเคล้าอาหารได้ดี และน้ำลายซึ่งมีน้ำย่อยสามารช่วยย่อยพวกแป้งได้ เมื่อเราเคี้ยวข้าวหรือข้าวเหนียว จึงรู้สึกว่ามีรสหวาน เมื่ออาหารถูกเคี้ยวให้เป็นชิ้นเล็กๆ กลืนได้สะดวกไม่ติดคอ และยังไม่ต้องใช้กรดและด่างเพื่อมาทำให้อาหารก้อนเล็กลงไปอีกมากนัก การกินอาหารผู้ใหญ่มักแนะนำว่าเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่ควรดื่มน้ำมากขณะรับประทานอาหาร ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องห้ามดื่มน้ำมาก ที่ผู้ใหญ่ห้ามไม่ให้ดื่มน้ำมาก เพราะน้ำจะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะเจือจาง ประกอบกับน้ำเมื่อดื่มเข้าไปเต็มกระเพาะทำให้กินอาหารน้อยลง ปัจจุบันมีข้อมูลที่อธิบายว่าการกินอาหารโดยการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดแล้วกลืน ทำให้กินอาหารได้น้อยลง เนื่องจากฮอร์โมน Ghrelin ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นสมองทำให้รู้สึกหิวนั้นสร้างมาจากเยื่อบุกระเพาะ การกินอาหารช้าๆ อาหารเคลื่อนลงไปสู่กระเพาะ อาหารจะฉาบเยื่อบุกระเพาะซึ่งได้รับการ feedback หรือปฏิกิริยาป้อนกลับต่อเยื่อบุกระเพาะว่าได้อาหารแล้ว จะเริ่มลดการหลั่งฮอร์โมนออกมา จึงรู้สึกอิ่ม แต่ถ้ากินเร็วๆ อาหารได้มีโอกาสสัมผัสกับเยื่อบุกระเพาะน้อยเพราะอาหารที่เคลื่อนเข้าสู่กระเพาะเร็วจะกระตุ้นให้กระเพาะบีบตัว ขับเคลื่อนอาหารลงไปสู่ลำไส้เล็กเสียแล้ว ฮอร์โมนจากกระเพาะยังหลั่งต่อไป ผู้ที่กินเร็วๆ จึงมักกินมาก แต่กินช้าเคี้ยวอาหารแบบเคี้ยวเอื้องอาจไม่เหมาะกับสังคมเร่งรีบในปัจจุบัน และอาจทำให้ฟันสึก ควรเดินสายกลาง แต่ละคำเคี้ยวอย่างมีสติ 30 ครั้งก็พอ
ดร.วันดี วราวิทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)