© 2017 Copyright - Haijai.com
รู้ทันผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก
น้องลูกพีชมีผื่นที่แก้ม เป็นๆ หายๆ ตั้งแต่อายุ 3 เดือน ตอนนี้กำลังจะ1 ขวบแล้ว มีผื่นคันลามไปด้านนอกของแขนขาและลำตัว คุณแม่พาน้องลูกพีชไปพบคุณหมอ และคุณหมอวินิจฉัยว่า เป็นอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คุณแม่กลุ้มใจ ไม่แน่ใจลูกแพ้อาหารหรือไรฝุ่นด้วยมั้ย
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เป็นๆ หายๆ พบได้บ่อยในเด็ก ลักษณะอาการสำคัญของโรคคือ ผิวหนังแห้ง มีผื่นเป็นๆ หายๆ และมีอาการคันร่วมด้วย ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่อาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งทางพันธุกรรมและทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดผื่นขึ้นมาได้
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดผื่น
• สิ่งแวดล้อมที่มีสารระคายเคืองต่างๆ เช่น คลอรีนในสระว่ายน้ำ ชุดเสื้อหนาวของลูกที่ทำจากผ้าขนสัตว์ ตุ๊กตาที่อยู่รอบๆ เตียงลูก อากาศร้อนที่ทำให้เหงื่อออกและให้ผื่นเยอะขึ้น อากาศเย็น ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ ผิวแห้งก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้ผื่นเยอะขึ้นได้ด้วย
• อาหาร เกือบร้อยละ 20 ของเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง พบว่ามีการแพ้อาหารร่วมอยู่ด้วย อาหารที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ นมวัว ไข่ แป้งสาลีและถั่ว เมื่องดอาหารที่แพ้แล้ว อาการจะดีขึ้น
• สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น หรือเชื้อราต่างๆ ซึ่งเมื่อกำจัดสิ่งที่แพ้ออกไป อาการก็จะดีขึ้นเช่นกัน
การวินิจฉัยโรค
สามารถดูได้จากประวัติที่มีผื่นเป็นๆ หายๆ และมีอาการคัน โดยอาจมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว และอาจมีอาการอื่นๆ ที่พบร่วมกับผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ เช่น กลากน้ำนม ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณมือ เท้า (Hand and Foot Dermatitis) ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณรอบๆ ริมฝีปาก ตาอักเสบ รอยคล้ำใต้ตา หรือขนคุด การเกาเนื่องจากผื่นที่คันสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ง่าย ในกรณีที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น อาจต้องรับการตรวจเพิ่มเติมพิเศษทางห้องปฏิบัติการตามความเหมาะสม เพื่อหาปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้โรคกำเริบได้
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีการดำเนินโรคที่ยาวนาน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่ถึงลักษณะของโรค การดำเนินของโรค และสิ่งที่จะกระตุ้นให้โรครุนแรงขึ้น เพื่อช่วยควบคุมและป้องกันการดำเนินเนินของโรค ส่วนการดูแลรักษาและป้องกันนั้น สามารถทำได้โดยให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนังของลูก หลีกเลี่ยงสารที่ก่อความระคายเคืองกับผิว และทายาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการคัน
ยาทาสเตียรอยด์ (Topical corticosteroid) แม้จะเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงของยาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กๆ ที่มีผื่นบริเวณหน้าและข้อพับ ซึ่งเป็นบริเวณที่ยาถูกดูดซึมได้มาก ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ ไม่ว่าจะทั้งชนิดฉีดหรือชนิดรับประทาน เพราะอาจมีผลข้างเคียงของยา เช่น ผลข้างเคียงทางตา กดการทำงานของต่อมหมวกไต หรือการเจริญเติบโตช้าในเด็ก
ยาอีกกลุ่มที่เลือกใช้ถัดมาเพื่อลดการใช้ยาสเตียรอยด์ คือยาทาในกลุ่ม Topical immunomodulators เช่น Tacrolimus และ Pimecrolimus ซึ่งช่วยให้โรคสงบนานขึ้น และป้องกันการกำเริบของโรค แต่ตัวยามีราคาค่อนข้างแพง ส่วนยาปฏิชีวนะจะใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น มีตุ่มหนอง หรือน้ำเหลือง และใช้ยาแก้แพ้ในกลุ่มแอนติฮีสตามีนชนิดรับประทานเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน นอกจากนี้การฉายแสงอาทิตย์เทียม (Phototherapy) ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาเพื่อลดการใช้ยาสเตียรอยด์ในระยะเวลานานๆ แต่อาจมีผลข้างเคียงเรื่องการเกิดมะเร็งผิวหนังได้
โดยทั่วไปโรคจะมีอาการเป็นๆ หายๆ และอาการจะดีขึ้นหลังอายุ 10 ปี ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่โรงพยาบาลนะคะ
แพทย์หญิงฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)