
© 2017 Copyright - Haijai.com
เนื้องอกในมดลูกขณะตั้งครรภ์ต้องดูแลอย่างไร
“คุณแม่ตั้งครรภ์ คงมีหลายรายที่มีความกังวล เมื่อทราบว่า มีเนื้องอกมดลูกอยู่ในร่างกาย ในขณะตั้งครรภ์ โดยมากมักทราบจากการที่คุณหมอตรวจอัลตราซาวนด์ดูทารกในครรภ์ แล้วพบเนื้องอก คำถามที่ตามมาคือ เนื้องอกจะมีผลต่อการตั้งครรภ์ หรือทารกในครรภ์หรือไม่ จะมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดหรือไม่ ระหว่างการผ่าตัดคลอดบุตรสามารถตัดเนื้องอกออกได้หรือไม่”
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจและรู้จัก “เนื้องอกมดลูก” หรือ “Myoma uteri หรือ Fibroids หรือ Leiomyoma” กันก่อน ว่าเนื้องอกชนิดนี้เป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ แรกเริ่มมีขนาดเล็กๆ เท่าเมล็ดถั่วแล้วค่อยๆ โตขึ้นช้าๆ ซึ่งพบได้ในคนทั่วไปได้ร้อยละ 20-25 โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น โอกาสการเกิดเนื้องอกก็จะสูงขึ้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิด เนื้องอกมดลูกเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงถูกตัดมดลูกมากที่สุด โดยทั่วไป สามารถแบ่งชนิดเนื้องอกเป็น 4 ชนิด คือ
1.ชนิดที่แทรกเข้าไปในโพรงมดลูก (Submucous myoma)
2.ชนิดที่ฝังในกล้ามเนื้อมดลูก(Intramural myoma)
3.ชนิดที่อยู่ที่ผิวของมดลูก หรือมีลักษณะยื่นออกไปในช่องท้อง (Subserous myoma) รวมถึงชนิดที่เป็นติ่งมีก้านห้อยลงออกมา (Pedunculated myoma)
4.ชนิดที่อยู่ที่บริเวณปากมดลูก (Cervical myoma)
โดยปกติเนื้องอกมดลูกทำให้เกิดอาการได้หลายอย่างตามชนิดและตำแหน่งของการเกิด เช่น เนื้องอกที่แทรกอยู่ในเนื้อมดลูก หรือยื่นออกมาที่ผิวของโพรงมดลูก ทำให้โพรงมดลูกขยายออก ก็จะทำให้เลือดประจำเดือนออกมาก เป็นลิ่มเลือด หรือออกนานผิดปกติ ปวดถ่วงท้องน้อยโดยเฉพาะปวดเวลามีรอบเดือน เพราะเนื้องอกจะขวางการบีบตัวของมดลูก ถ้าเป็นชนิดที่ยื่นออกมาที่นอกตัวมดลูกทางด้านหน้าก็อาจไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือถ้ายื่นออกไปด้านหลังของมดลูกก็อาจไปกดเบียดลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องผูกตามมาได้ โดยมากตรวจพบจากการตรวจคลำหน้าท้อง หรือ ตรวจภายใน ส่วนใหญ่จะยืนยันโดยการตรวจอัลตร้าซาวนด์ การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของก้อน ตำแหน่งที่เป็น อาการของคนไข้ และความต้องการมีบุตรในอนาคต ในก้อนขนาดไม่ใหญ่มากและไม่มีอาการผิดปกติ แพทย์อาจใช้วิธีตรวจติดตามขนาดของก้อน และติดตามอาการไปก่อน หรือใช้ยา ในการควบคุม เช่น ยากลุ่มฮอร์โมน ซึ่งมีทั้งชนิดกินและฉีด หรือการฉีดสารบางชนิดเข้าไปในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตัวเนื้องอกให้เกิดการอุดตัน เพื่อไม่ให้เลือดไปเลี้ยงตัวเนื้องอกได้ (Uterine artery embolization : UAE)ในรายที่มีอาการมากอาจพิจารณาทำการผ่าตัด ซึ่งทำได้ทั้งการตัดเฉพาะเนื้องอกออก หรือตัดมดลูกออกเลย ทั้งนี้ขึ้นกับความต้องการมีบุตรของคนไข้ และการผ่าตัดในปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดส่องกล้อง(Laparoscopy or Hysteroscopy) ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และตำแหน่งของเนื้องอก โดยปกติข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัด เช่น การที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ (เทียบกับมดลูกขณะตั้งครรภ์ คือ ใหญ่กว่ามดลูกขณะตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์) การกดเบียดของเนื้องอกต่ออวัยวะข้างเคียง เช่นกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย อาการปวดท้องมาก โดยเฉพาะอาการปวดประจำเดือน การที่มีเลือดประจำเดือนออกมากและนานจนเกิดภาวะซีด การแท้งบุตรบ่อยๆ หรือภาวะมีบุตรยาก และการที่ก้อนเนื้องอกโตไวเกินไป ส่วนการเกิดเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 การมีเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์มักมีคำถามตามมาดังนี้
คำถาม เนื้องอกมดลูกทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กในท้องไหมคะ ?
ตอบ ส่วนใหญ่การศึกษาจากหลายงานวิจัยไม่พบว่าเนื้องอกทำให้เด็กเจริญเติบโตช้า หรือ เสียชีวิตในครรภ์แต่อย่างใด
คำถาม เนื้องอกมดลูก มีวิธีการรักษาอย่างไร ในขณะตั้งครรภ์คะ ?
ตอบ การเฝ้าติดตามขนาดของก้อนและอาการ ส่วนใหญ่จะผ่าตัดในกรณีที่มีอาการปวดมากๆ และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา โดยมากพิจารณาผ่าตัดในไตรมาสที่สอง และเป็นก้อนชนิดที่ยื่นออกไปในช่องท้อง (Subserous myoma) หรือชนิดที่เป็นติ่งห้อยลงออกมา (Pedunculate myoma) หรือมีการบิดขั้วของก้อน
นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)