
© 2017 Copyright - Haijai.com
กินอย่างไรให้ปลอดภัยจากสารปรุงแต่งอาหาร
มีคำถามมากมายจากคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่ ในเรื่องของการรับประทานอาหารอย่างไร จึงจะปลอดภัยต่อร่างกายของคุณแม่และก็ลูกน้อยในครรภ์ และอาหารที่ปลอดภัยนั้นจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะได้คุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน สิ่งที่คุณแม่กังวลกันอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องแปลกและเป็นเรื่องใหญ่คะ เพราะไม่ว่าจะมือเก่า มือใหม่ จะท้องสอง ท้องสาม ก็ไม่วายที่จะเป็นกังวลกับเรื่องของอาหารการกินค่ะ เพื่อความเป็นกลางในการเลือกรับประทานอาหารในคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น คงต้องมองให้เป็นเรื่องง่ายๆ เข้าไว้ แต่เน้นไปที่เรื่องของความสะอาดในอาหารเป็นหลัก เพราะหากเป็นกังวลมากจนเกินไป ก็อาจจะส่งผลเสียต่อสภาพร่างกาย และก็จิตใจด้วย ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์ การพิถีพิถันเลือกวัตถุดิบสำหรับนำมาปรุงอาหาร จึงเป็นสิ่งที่ต้องคัดสรรมาเป็นพิเศษตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้ได้เมนูที่ปรุงเสร็จใหม่ ปราศจากสารปรุงแต่งอาหาร
เลือกทานอย่างไรให้ปลอดภัย
• เลือกซื้อพืชผักใบเขียว และสีเหลืองที่ให้เบต้าแคโรทีนสูง เนื่องจากสารนี้มีคุณสมบัติในการทำลายพิษที่ดี
• หากจะทานหวาน ต้องระวังเรื่องสารให้ความหวานในกลุ่มของขัณฑสกร เพราะสารกลุ่มนี้หากทานสะสมมากๆ จะผ่านรกเข้าสู่ทารกในครรภ์และมีผลต่อทารกครรภ์ได้
• หากเป็นไปได้อาหารที่ทานในทุกมื้อ ก็ควรที่จะเป็นอาหารที่ปรุงเองจากวัตถุดิบที่สด และใหม่ เพราะนำอาหารที่ผ่านการถนอมอาหารอย่างการหมัก หรือดอง ก็อาจจะทำให้ได้รับสารเคมีที่ใช้ในการเก็บถนอมได้
• เลือกซื้ออาหารสด เช่น ปลา ควรระวังในเรื่องของสารปรอท อย่างปลาดาบ ปลาทูน่า(จะมีสารปรอทสูงกว่าปลาชนิดอื่น) แต่หากอยากที่จะทานปลาทูน่าจริงๆ ก็สามารถสอบถามจากร้านขายปลาที่ไว้ใจได้ ว่าคัดสรรมาเป็นอย่างดีแล้ว
• อาหารกึ่งสำเร็จรูปอย่าง ไส้กรอกฝรั่ง กุนเชียง ปลากระป๋อง ต้องระวังให้ดี เพราะอาหารเหล่านี้ อาจมีสารปรุงแต่งอย่างสารไนเทรต (nitrates) และไนไทรต์ (nitrites) ดินประสิว
• ผักและผลไม้สด อย่าง แตงกวา มะเขือเทศ มะเขือ แอปเปิ้ล ควรล้างด้วยน้ำนานๆ และใช้มือถูขัดเบาๆ เพื่อความแน่ใจในเรื่องของความสะอาดจากสารเคมี อาจใช้น้ำยาล้างผักโดยเฉพาะ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี
• เลือกผักผลไม้ตามฤดูกาล เพื่อหลีกเลี่ยงพืชผักที่ปลูกโดยใช้กรรมวิธีทางเคมีบังคับการเจริญเติบโต
• เลือกซื้อผักผลไม้ที่มีตราสัญลักษณ์อาหารปลอดภัยจากกระทรวงเกษตรฯ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุณมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่จะนำไปปรุงอาหารนั้น ปลอดภัยจากสารเคมีอย่างแน่นอน
• เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายหลาย ไม่ควรทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพื่อให้ปริมาณสารพิษหรือสารเคมีที่อาจมีอยู่ในอาหาร ไม่สะสมกันเป็นจำนวนมากจนเกิดเป็นพิษต่อร่างกาย
สารปรุงแต่งอาหารประเภทที่ไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพร่างกายที่คุณแม่ตั้งสามารถนำมาปรุงในอาหารได้ เพื่อให้เกิดรสชาติ กลิ่น และสี ตัวอย่างเช่น สีธรรมชาติที่นำมาตกแต่งในอาหาร คือ สีเขียว ที่ได้จากใบเตยหอม พริกเขียว สีเหลือง จากขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ลูกตาลยี ไข่แดง ฟักทอง ดอกคำฝอย สีแดง จากดอกระเจี๊ยบ มะเขือเทศ พริกแดง ถั่วแดง สีน้ำเงิน จากดอกอัญชัญ ส่วนรสชาติของอาหารอาจมาจากสารให้รสหวาน เช่น น้ำตาลทราย กลูโคส แบะแซ สำหรับกลิ่นของอาหารอาจได้มาจากสารแต่งกลิ่นธรรมชาติ เช่น น้ำนมแมว หรือหัวน้ำหอมจากผลไม้ต่างๆ ผงชูรส เป็นสารปรุงแต่งรสอาหาร มีชื่อทางเคมีว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมท ผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง หรือจากกากน้ำตาล ลักษณะของผงชูรสแท้จะเป็นเกล็ดหรือผลึกสีขาวขุ่น มีรสชาติคล้ายเนื้อต้ม หากจำเป็นต้องใช้ในการเพิ่มรสชาติในอาหาร ควรใช้ในปริมาณประมาณ 1/500-1/800 ส่วนของอาหารหรือประมาณ 1 ช้อนชาต่ออาหาร 10 ถ้วยตวง และไม่ควรใช้ผงชูรสในการปรุงแต่งในอาหารทารก และหญิงมีครรภ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)