Haijai.com


ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน


 
เปิดอ่าน 24138

ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน

 

 

ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome : ARDS) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากเนื้อปอดมีพยาธิสภาพรุนแรง เช่น การติดเชื้อหรือการอักเสบ ส่งผลให้มีการกระจายของโรคแพร่ไปยังปอดทั้ง 2 ข้าง ทำให้มีภาวะขาดออกซิเจนเป็นอย่างมาก ผู้เขียนขอใช้คำเปรียบเทียบว่า “ปอดร้องไห้ หรือปอดขี้แย” เนื่องจากมีการอักเสบขึ้นภายในถุงลมปอด ส่งผลกระทบต่อการและเปลี่ยนออกซิเจนภายในปอด ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีคนเป็นโรคนี้บ่อยแค่ไหน แต่ในประเทศอเมริกาพบว่ามีคนเป็นโรคนี้ถึง 150,000 คน ต่อปีเลยทีเดียว

 

 

อาการและความรุนแรง

 

ผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันจะมีอาการหายใจลำบาก ทำให้ต้องหายใจเร็วและแรง เกิดอาการหอบเหนื่อย หน้าอกบุ๋ม หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอกมีอาการไอ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการตัวเขียว หายใจไม่ทัน เริ่มไม่ค่อยรู้สึกตัว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

 

สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง

 

ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียวพลันมักเกิดหลังจากมีโรคอื่นที่เป็นสาเหตุนำมาก่อน และส่งผลให้เกิดภาวะนี้ตามมา โรคที่เกิดนำมาก่อนแบ่งเป็น โรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติที่ปอดโดยตรง เช่น การเกิดภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อ จมน้ำ สำลัก กับ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ระบบอื่น แต่ส่งผลกระทบมาที่ปอด เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง การเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง การเกิดภาวะกระดูกหักหลายชิ้น การได้รับเลือดในปริมาณมากหรือเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น

 

 

การวินิจฉัย

 

เกณฑ์การวินิจฉัย Berlin diagnosis ARDS เมื่อปี ค.ศ.2011 ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยจะเกิดภาวะการหายใจล้มเหลวและแย่ลงกว่าเดิมภายใน 1 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่มักเกิดภายใน 3 วัน) หลังจากมีเหตุนำดังที่กล่าวมาข้างต้น ภาวะการหายใจล้มเหลวดังกล่าวไม่ได้เกิดจากหัวใจล้มเหลวหรือการได้รับสารน้ำมากเกินไป ถ้าวัดค่าออกซิเจนในกระแสเลือดจะพบว่าอยู่ในระดับต่ำ ภาพเอกซเรย์ที่ปอดจะปรากฏฝ้าขาวอยู่ภายในปอดทั้งสองข้าง

 

 

การดูแลรักษา

 

หลักสำคัญของการรักษาคือการจัดการกับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้โดยตรง โดยการให้ยาปฏิชีวนะรักษาอาการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุ ส่วนการรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่

 

 การใช้เครื่องช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างเหมาะสมช่วยผ่อนการออกแรงหายใจ และยังช่วยให้ถุงลมในปอดที่แฟบอยู่ขยายออกได้มากขึ้น ปริมาณออกซิเจนจะสามารถเข้าไปในถุงลมได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างไม่เหมาะสม หรือมากจนเกินไป จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเกิดอันตรายได้ อันตรายที่เกิดจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ มักเกิดจากการใช้ความดันอากาศที่สูงมากเกินหรือปริมาตรอากาศที่สูงมากเกิน ทำให้เนื้อเยื่อภายในถุงลมปอดถูกทำลาย หรือมีการขยายขนาดใหญ่จนเกินไป และการดันลมเข้าและออกเป็นช่วงๆ จะเกิดแรงกระชากเปิดปิดภายในถุงลมจนไปทำลายเนื้อเยื่อของถุงลม หรือทำให้ถุงลมถูกถ่างขยายจนมีขนาดใหญ่เกินไป (over distention) การใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วย ARDS ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนข้างต้นให้มากที่สุด เรียกว่าเป็นวิธีการช่วยหายใจแบบป้องกันอันตรายต่อเนื้อปอด

 

 

หลักใหญ่ในการตั้งเครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วย ARDS ประกอบด้วย

 

1.Plateau pressure หรือ alveolar pressure ควรน้อยกว่า 30 ซม. น้ำ

 

 

2.ปริมาตรอากาศควรตั้งประมาณ 6 มล./กก. ของน้ำหนัก ตัวมาตรฐาน

 

 

3.ตั้งแรงดันบวกในการอัดอากาศ ซึ่งจะทำให้ถุงลมที่แฟบอยู่เปิดออก ลดการกระชากเปิดปิดถุงลม เพิ่มประสิทธิภาพของถุงลมในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและทำให้ความยืดหยุ่นของปอดเพิ่มขึ้น โดยไม่ส่งผลให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยลดต่ำลง

 

 

4.ตั้งความเข้มข้นออกซิเจนที่ไม่สูงเกินไป โดยมีเป้าหมายให้ความอิ่มตัวของออกซิเจนราว 90%

 

 

ในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องออกซิเจนระดับรุนแรงที่การใช้เครื่องช่วยหายใจปกติข้างต้น ไม่สามารถแก้ไขภาวะพร่องออกซิเจนได้ อาจมีการใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษ เช่น เครื่องช่วยหายใจความถี่สูง หรือการใช้ก๊าซไนตริกออกไซด์ เพื่อลดความดันในปอดร่วมด้วย

 

 

 การใช้ยา ปัจจุบันยังไม่มียาตัวใด ที่พิสูจน์ได้ว่าสามารถใช้รักษาผู้ป่วย ARDS และลดอัตราการตายได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นยาเพิ่มแรงตึงผิวในปอด ยาฉีดต้านสารพิษ ยาลดการอักเสบหรือสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ล้วนแต่ยังไม่ได้ผลว่า สามารถลดอัตราการตายจากโรคนี้ได้ การใช้ยาจึงเป็นเพียงการบรรเทาอาการไม่สุขสบายทางกายต่างๆ ได้แก่ ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาบรรเทาอาการเจ็บปวด เป็นต้น

 

 

 การดูแลทางด้านโภชนาการ การให้สารน้ำและเกลือแร่แก่ร่างกายอย่างเพียงพอ

 

 

 การเฝ้าดูแลรักษาไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การเกิดภาวะไตวาย หรือการติดเชื้อซ้ำซ้อนเพิ่มเข้าไปอีก เป็นต้น

 

 

ในระยะวิกฤติผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตจากภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ราวร้อยละ 30-40 โดยผู้ป่วยจะเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว โดยความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะมากขึ้นในผู้สูงอายุ ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าให้การรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุการณ์เกิดภาวะนี้อย่างรวดเร็ว เช่น การรักษาการติดเชื้อ การใช้เครื่องช่วยหายใจแบบป้องกันอันตรายปอด และดูแลภาวะแทรกซ้อนอย่างเหมาะสม ก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

 

 

นพ.อนัฆพงษ์ พันธุ์มณี

อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)