Haijai.com


มลพิษในอากาศ


 
เปิดอ่าน 1934

มลพิษในอากาศ

 

 

มลพิษในอากาศ คือ สารต่างๆ ในอากาศที่ส่งผลกระทบต่อคน สัตว์ พืช และสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ มีหลายรูปแบบ ทั้งในรูปของฝุ่น ละอองสารเคมี ละอองเชื้อโรค จุลชีพต่างๆ หรือในรูปของก๊าซ ขึ้นอยู่กับว่ามีสารพิษอะไรผสมอยู่ในนั้น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ จากการวิจัยพบว่าถึงแม้คุณภาพอากาศที่ได้จะอยู่ในระดับค่ามาตรฐานที่กำหนด แต่ก็ยังส่งผลต่อสุขภาพอยู่ดี ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่พบจากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และสตรีตั้งครรภ์

 

 

แหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศ

 

ที่มาของมลพิษในอากาศสามารถแบ่งได้เป็น 2 แหล่งใหญ่ คือ มนุษย์ และ ธรรมชาติ

 

 

 มนุษย์ กิจกรรมของมนุษย์หลายอย่างสร้างให้เกิดมลพิษที่สำคัญคือ การทำอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินหรือแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลาย และ การจราจร ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแต่ใช้น้ำมัน ทำให้เกิดการเผาไหม้ของน้ำมันแก๊สโซลีน ซึ่งถ้าการสันดาปไม่สมบูรณ์จะเกิดคาร์บอนมอนน็อกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ การเกษตรกรรม ก็สามารถก่อให้เกิดมลพิษได้ เช่นเดียวกัน เช่น การเผาซากพืช เป็นต้น

 

 

บางกิจกรรมที่กล่าวมายังก่อให้เกิดไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเมื่อมาอยู่ในอากาศขณะที่มีแสงแดดจะทำปฏิกิริยา ก่อให้เกิดโอโซนตามมา ซึ่งโอโซนชนิดนี้ แตกต่างกับโอโซนในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟีย ที่ป้องกันรังสียูวี ช่วยให้เราไม่เป็นมะเร็งหรือต้อกระจก ผลการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า โอโซนชนิดนี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว เช่น หอบ หืด โรคปอด และผู้ป่วยโรคหัวใจ มีอาการรุนแรงมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคปอด มีอาการติดเชื้อในปอด เมื่อต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศเข้าไป อาจจะเสียชีวิตทันทีหรือเสียชีวิตภายใน 2-3 วัน เรียกว่าเป็นผลกระทบเฉียบพลัน

 

 

 ธรรมชาติ มลภาวะที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด หรือการระเหยของสารกัมมันตรังสีในดิน หรือการเน่าสลายของซากพืชซากสัตว์ที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ แต่ก็น้อยกว่าที่มนุษย์สร้างขึ้นมาก

 

 

ผลกระทบของมลพิษต่อสุขภาพ

 

มลพิษนอกจากจะทำให้เกิดผลกระทบในผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ ทำให้อาการรุนแรงขึ้นแล้ว ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นยังพบว่ามลพิษจะส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์คลอดก่อนกำหนดและบุตรมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ซึ่งวิธีป้องกันที่สามารถใช้ได้ทั้งกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง คือ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในแหล่งอุตสาหกรรม พื้นที่ที่มีการจราจรแออัด ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในบริเวณนั้น ต้องใส่หน้ากากอนามัยปิดจมูกทุกครั้ง จะช่วยป้องกันเรื่องของฝุ่นละอองได้ แต่ต้องเป็นหน้ากากที่ดีมีความละเอียด อีกเรื่องหนึ่งที่อยากให้ทุกคนพึงระวังคือ ไม่ควรไปวิ่งออกกำลังกายริมถนน เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศเยอะ ควรเข้าไปวิ่งในสวนธารนะดีกว่า

 

 

สิ่งหนึ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงแหล่งมลพิษ คือ การร่วมด้วยช่วยกันลดมลพิษ โดยลดกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ รณรงค์ให้หันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นแทน การใช้น้ำมัน เช่น ใช้พลังงานลม แสงแดด และพลังงานน้ำ เดินทางด้วยรถสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมทั้งนำวิธีรีไซเคิลมาใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญที่สุดคือเราทุกคนต้องมีความตระหนักรู้  ในการมีส่วนร่วมลดมลภาวะ ซึ่งครอบครัวคือจุดเริ่มต้นหลักในการปลูกฝังแนวคิดนี้แก่ลูกหลาน อากาศเป็นของสาธารณะ ทุกคนมีสิทธิ์ใช้ จึงต้องช่วยกันดูแลรักษาให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราและคนที่เรารัก

 

 

รศ.ดร.นิตยา วัจนะภูมิ

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อม

(Some images used under license from Shutterstock.com.)