© 2017 Copyright - Haijai.com
เทคนิคทาครีมกันแดด ให้สวยเริ่ดรับลมร้อน
ร้อนจริงๆ ร้อนจริงๆ อาการร้อนๆ แบบนี้นับได้ว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของผิวทีเดียว นอกจากอุณหภูมิทะลุ 40 องศา แล้วในช่วงนี้ ทำเอาหลายคนร้อนจนแทบละลาย ทำให้ไม่สบายเนื้อสบายตัว แล้วเจ้าศัตรูตัวร้ายนี้ ยังทำให้ผิวไหม้ หรือคล้ำกันไปเลยทีเดียว แถมยังเป็นอันตรายต่อผิวสวยๆ ของคุณอีกต่างหาก
อากาศที่ร้อนแรงแสงแดดแผดเผาอย่างนี้ อาจนำมาซึ่งปัญหาผิวได้ง่าย เจองานเข้าอย่างนี้หลายคนถึงกับกุมขมับ เพราะทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านแล้ว แต่ผิวกลับยังคล้ำไม่เลิก ผลลัพธ์กลับไม่เป็นอย่างที่คิด นั่นอาจจะไม่ได้เป็นเพราะคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แต่อาจเป็นเพราะคุณไม่รู้วิธีการทาครีมที่ถูกต้องต่างหาก
การเลือกครีมกันแดดให้เหมาะสมกับสภาพผิวก็มีความสำคัญไม่น้อย มีข้อไหนที่คุณยังขาดตกบกพร่องในการใช้ครีมกันแดดอย่างถูกวิธีกันบ้าง หลายคนสับสนและสงสัยว่าการทาครีมกันแดดควรทาก่อนครีมบำรุง หรือหลังครีมบำรุงกันแน่ แล้วทาตอนไหน
จริงๆ แล้วควรทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวก่อนรอจนครีมซึมลงผิวสักพัก จากนั้นจึงเกลี่ยครีมกันแดดลงไปบางๆ ให้ทั่วใบหน้าและลำคอ จะช่วยให้ครีมกันแดดเกาะติดผิวหน้าได้ตลอดวัน สำหรับสาวๆ ที่มีผิวมันและผิวแพ้ง่าย ให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีเนื้อบางเบาในรูปแบบของเจล หรือเซรั่ม เพื่อไม่ให้เกิดการอุดตันและระคายเคืองผิวได้ง่าย ส่วนคนที่มีผิวแห้ง หรือผิวผสม จะเหมาะกับครีมกันแดดชนิดโลชั่น หรือครีมที่มีความเข้มข้น และช่วยให้ผิวดูชุ่มชื่นไม่แห้งกร้าน
ซึ่งประโยชน์ของครีมกันแดด จะช่วยปกป้องการทำลายเซลล์ผิวหนัง จากรังสีอัลตร้าไวโอเลตในแสงแดด ซึ่งเป็นต้นเหตุของมะเร็งผิวหนัง และยังทำให้เกิดการสร้างเม็ดสีใต้ผิวหนัง ดังนั้น การใช้ครีมกันแดด จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดจุดด่างดำบนผิวหนังมากกว่า
วิธีทาครีมกันแดดที่ถูกต้องและได้ผล
1.ควรทาครีมกันแดดบางๆ แต้มครีมให้ทั่วทั้ง 5 จุด บนใบหน้า คือ เริ่มจากหน้าผาก จมูก แก้มทั้งสองข้างและคาง แล้วใช้นิ้วกลางและนิ้วนางในการเกลี่ยครีมให้ทั่วใบหน้า โดยเริ่มจากบริเวณที่กว้างที่สุดก่อน เช่น โหนกแก้มส่วนกลาง ไปยังส่วนข้างๆ โดยทางด้านซ้ายออกซ้าย และทางด้านขวาออกขวา แล้วตามด้วยแนวสันจมูก ใต้โพรงจมูก คาง และหน้าผาก โดยเว้นบริเวณรอบดวงตาไว้
2.จำนวนครั้งที่ทาต่อวัน เรื่องนี้คำนึงถึงเรื่องระยะเวลาในการป้องกันแดดของครีมกันแดดด้วย ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ที่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น และประสิทธิภาพก็จะค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าทำงานอยู่ในห้องแอร์หรือออฟฟิศ เลือก SPF 15 ก็เพียงพอแล้ว ทาเพียงวันละครั้งก็เพียงพอ ส่วนคนที่ชอบเล่นกีฬา หรือต้องอยู่กลางแจ้งนานๆ ทำให้มีเหงื่อออกได้ง่าย ควรเลือกครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไป
3.ปริมาณของครีมกันแดดที่ควรใช้ ด้วยราคาของครีมกันแดดที่ค่อนข้างสูง หลายคนใช้ในปริมาณที่น้อยนิด ไม่มากพอต่อการกันแดดในแต่ละวัน อย่าลืมทาครีมบริเวณลำคอเด็ดขาด ปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผิวหน้าและคอ คือ ปริมาณ 1 ช้อนชา ส่วนครีมกันแดดที่ใช้กับแขนและขา ปริมาณที่เพียงพออยู่ที่ 1 ช้อนโต๊ะ
4.การทาครีมที่คอเริ่มจากบริเวณที่กว้างที่สุดของคอก่อน คือ บริเวณฐานลำคอแล้วใช้ปลายนิ้วทั้งหมดค่อยๆ ลูบไล้ขึ้น ไม่ควรทาลง เพราะจำทำให้ผิวบริเวณลำคอหย่อนทำให้เกิดรอยย่นภายหลังได้
วิธีเลือกซื้อครีมกันแดด
1.ดูค่า SPF ครีมกันแดดยี่ห้อนั้น ว่าสามารถป้องกัน UVB ได้กี่เท่า ซึ่งครีมกันแดดที่ดีควรจะป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB สำหรับ UVA นั้นเป็นรังสีที่ทำให้เซลล์ผิวเสียหายจนเป็นรอยเหี่ยวย่นได้ แต่ยังไม่มีค่ามาตรฐานกำหนด ปัจจุบันจึงนิยมใช้ PA และเครื่องหมาย + เป็นตัวบอก ดังนั้น ควรเลือกครีมกันแดดที่ระบุว่า PA++ ขึ้นไป ส่วน UVB นั้น เป็นครีมกันแดดที่ป้องกันอาการแพ้ แดงแสบ และรอยไหม้ของผิวหนัง โดยปกติคนไทยมีผิวคล้ำซึ่งเม็ดสีสามารถป้องกัน UVB ได้บ้าง ดังนั้น ควรเลือกครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 15 ก็เพียงพอ
2.สำหรับคนที่มีผิวขาว ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงกว่าปกติเล็กน้อย เพราะผิวขาวจะไวต่อการรับแสงแดดมากกว่าคนผิวคล้ำนั่นเอง โดยควรเลือกดังนี้
• ผิวขาวแบบชาวยุโรป เป็นผิวบางมาก เกิดผิวไหม้ง่ายมากหลังสัมผัสกับแสงแดด ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงๆ (SPF 45-60)
• ผิวขาวอมชมพูแบบคนเอเชีย เป็นผิวที่บอบบางมากเกิดผิวไหม้ได้ไว ทำให้ผิวเป็นสีแทนได้ ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ค่อนข้างสูง (SPF 30-45)
• ผิวขาวเหลืองในคนเอเชีย ผิวชนิดนี้บอบบางแต่ยังมีเมลานินอยู่บ้าง จึงสามารถทนต่อแสงแดดได้ดีกว่า
ผิว 2 ชนิดแรก ควรเลือกครีมกันแดดชนิดที่มีค่า SPF ปานกลาง (SPF 30)
3.ผิวคล้ำ เป็นผิวที่มีเมลานินสูง ไม่เกิดการไหม้ ไม่เกิดสีแทน จึงควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มี SPF ต่ำ (SPF 15) ก็เพียงพอแล้ว
หนุ่มสาวทั้งหลายรู้เคล็ดลับการใช้ครีมกันแดดอย่างถูกวิธี และมีประสิทธิภาพอย่างนี้แล้ว คราวนี้ต่อให้เผชิญกี่แดดก็เอาอยู่
กิรณา แก้วกาหลง (โปรน้อง)
(Some images used under license from Shutterstock.com.)