© 2017 Copyright - Haijai.com
กู้ระเบิดอารมณ์
ปัญหาเรื่องความรุนแรงในเด็กกลายเป็นประเด็นที่ซับซ้อนมากขึ้น เมื่อความรุนแรงเริ่มในเด็กอายุน้อยลง ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นเด็กเล็กทั้งคู่ ครอบครัวสองครอบครัวของเด็กสองคน ต้องตกอยู่ภายใต้ความยุ่งยากที่จะทำใจ รับได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และต้องใช้เวลาในการเยียวยาจิตใจสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวของเด็กที่เป็นผู้กระทำความรุนแรง จะจัดการครอบครัวอย่างไรไม่ให้เด็กเติบโตต่อไปด้วยความเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรงต่อผู้อื่นซ้ำอีก
“คุณครูแอนเล่าว่า เธอกำลังจะพานักเรียนออกจากห้องเรียนในบ่ายวันหนึ่งที่อากาศร้อนจัด และเด็กๆ ชั้น ป.1 ของคุณครูหมดสมาธิที่จะนั่งเรียนในห้องเรียนที่อบอ้าว ขณะที่กำลังพาเด็กออกจากห้อง ได้ยินเสียงโต๊ะที่หลังห้องล้มตามมาด้วยอาการแตกฮือของเด็กในห้อง เพราะที่ท้ายห้องลูกศิษย์สองคนกำลังพุ่งเข้าชกต่อยกัน ครูแอนรีบปรี่เข้าไปแยกตัวเด็กออกจากกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือครูแอนถูกเด็กคนหนึ่งเตะและผลักออกมา พร้อมตะโกนด่าอย่างหยาบคายและหันกลับไปผลักคู่กรณีล้มหน้าฟาดกับมุมโต๊ะ หมดสติทันทีเลือดไหลอาบหน้า ส่วนคู่กรณียืนหายใจหอบอยู่ข้างๆ เรื่องจบลงที่การนำเด็กที่หมดสติไปส่งโรงพยาบาล ผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายนั่งเผชิญหน้ากันในห้องอาจารย์ใหญ่และถามคุณครูแอนว่าเกิดอะไรขึ้น ครูแอนก็อยากรู้เช่นกันว่าเกิดอะไรขึ้น”
ข่าวความรุนแรงในเด็กที่ปรากฏเป็นข่าวอาจรุนแรงกว่ากรณีของคุณครูแอนมาก แต่สิ่งเหล่านี้กำลังคืบคลานอยู่รอบตัวเด็ก การป้องกันการใช้ความรุนแรงในเด็กเป็นทักษะที่เด็กต้องได้รับการฝึกฝน นอกจากการดูที่เด็กแต่ละคนแล้ว ต้องดูสภาพแวดล้อมไม่ให้ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในเด็กด้วย ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กต้องหาสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังที่ผลักดันให้เกิด ไม่ใช่จบแค่ใครทำใคร ใครเริ่มก่อน และสภาพที่ต้องเผชิญสถานการณ์ทางอารมณ์ ทำให้เด็กต้องได้รับการฝึกฝนทักษะ การหาทางเลือกหรือทางออกของสถานการณ์ โดยไม่ใช้ความรุนแรง
การป้องกันความรุนแรงในเด็ก
เราไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดกับเด็ก ทางออกของปัญหานี้มาจากความร่วมมือกัน การดูแลเด็กแต่ละคน และการจัดการระบบในครอบครัว ในโรงเรียน รวมทั้งสังคมที่ไม่ส่งเสริมความรุนแรงให้เด็ก
• ทำข้อตกลงร่วม ต้องเป็นข้อตกลงร่วมในครอบครัว หรือในโรงเรียน ที่ทุกคนต้องสื่อสารให้เด็กรับรู้ว่าเรามีข้อตกลงหรือกฎที่จะไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน พ่อแม่ต้องบอกลูกเสมอว่าในบ้านเราไม่แกล้งกัน ไม่ตีกัน ไม่ทำลายข้าวของ เป็นต้น ในโรงเรียนต้องมีการประกาศ แจ้งให้ทราบ สื่อสารในเวทีครู เวทีนักเรียน ว่าเราเป็นโรงเรียนที่ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน
• สนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ ด้วยการจัดกิจกรรมให้เด็กได้ใช้ชีวิตกับกิจกรรมที่เพลิดเพลิน ได้เล่น ได้เรียนรู้ตามวัย การจัดตารางในบ้านสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็กๆ พื้นที่การเล่น หรือการจัดห้องเรียน จัดกิจกรรม ให้เหมาะกับเด็กในโรงเรียน ช่วยให้เด็กอยู่กับกิจกรรมมากกว่ามีเรื่องกระทบกัน
• ชื่นชมเมื่อเด็กแสดงออกได้ดี ทำให้เด็กรู้ว่าเวลาที่เขาเล่นด้วยกัน จัดการกันเองในกลุ่ม ทำพฤติกรรมที่ไม่รุนแรง จะได้รับความชื่นชมทันที
• เตรียมพื้นที่สำหรับเวลาที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เหมือนบังเกอร์ให้หลบภัย จนกว่าจะปลอดภัย เวลาที่เด็กเกิดอารมณ์ การกำหนดพื้นที่ให้เขาได้แยกตัวออกไปชั่วคราวด้วยระยะเวลาที่พอเหมาะ และได้กลับเข้ามาในกลุ่มเมื่อพร้อมที่จะเล่นร่วมกันหรือทำกิจกรรมอีกครั้ง เป็นทางออกหนึ่งให้เด็ก แทนการระบายอารมณ์ใส่คนอื่น
• การเป็นแบบอย่างของผู้ใหญ่ เรื่องยากที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะผู้ใหญ่ยังคงแสดงความรุนแรงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ส่งผลให้เด็กเห็นแบบอย่าง และกดดันจากความรุนแรงที่ตนเองถูกกระทำ จนไปกระทำเด็กคนอื่นอย่างลูกศิษย์ครูแอน เมื่อดูจากประสบการณ์ที่เขาได้รับมา จะเข้าใจได้ว่า เมื่อเพื่อนเข้ามาดึงตัวเขาจากโต๊ะ เขารู้สึกเหมือนตัวเองโดนก่อกวน จึงตอบโต้กลับทันที
• การแก้ปัญหาร่วมกันของผู้ใหญ่ ถ้าเป็นครอบครัวผู้ใหญ่ต้องคุยกัน ร่วมมือในการดูแลเด็ก และต้องร่วมมือกันระหว่างครอบครัวกับโรงเรียนในการติดตามว่า เด็กมีท่าทีจะก่อความรุนแรงหรือไม่ จะช่วยกันดูแลฝึกฝนให้เขามีทักษะในการจัดการสถานการณ์ โดยไม่ใช้ความรุนแรงอย่างไร
ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรงในเด็กต้องเข้าไปดูสาเหตุเสมอ เกิดสถานการณ์อะไรเป็นตัวกระตุ้น เด็กสองคนนั่งใกล้กัน คนหนึ่งชอบเล่นชอบแหย่ บางครั้งก่อกวน อีกคนเฉยเมย ไม่ชอบให้ใครมาวุ่นวาย เพราะพ่อแม่เลิกกัน ทิ้งให้อยู่กับยายที่ปากจัด ถูกอีกฝ่ายแหย่มาหลายครั้ง วันนี้มาดึงแขน เลยฟาดกลับและตะลุมบอนกัน การดูแลในห้องเรียนจึงต้องสังเกตการณ์จัดคู่และการแยกคู่เด็กให้พอเหมาะ เป็นการหยุดก่อนจะเกิดเหตุ และอาจต้องดูเด็กแต่ละคน การเป็นเด็กไม่นิ่ง ชอบแหย่ เป็นความเสี่ยงที่จะเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ต้องทำงานกันกับพ่อแม่ในการหาวิธีที่จะช่วย อีกคนดูเงียบขรึม มีปมอยู่ในใจ ต้องการคนที่จะเข้ามาช่วยให้รู้สึกว่าสภาพครอบครัวที่อยู่รอบตัวจะไม่บั่นทอนความเป็นตัวตนที่ดีของเขา
คนที่ชอบแหย่ฟื้นจากสลบ เย็บแผลที่หน้านิดหน่อย อีกคนยายร้องไห้ด้วยความคับแค้นที่ลูกเอาหลานมาทิ้งให้เลี้ยง แต่ก็รักและยอมรับว่าไม่ใช่ความผิดของหลานที่จะต้องมารองรับอารมณ์ ทั้งสองครอบครัวต้องการการดูแลต่อ เพื่อช่วยกันกู้ระเบิดอารมณ์ เราทุกคนก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมมือกัน ช่วยเด็กเสี่ยงที่จะระเบิดความรุนแรงที่อยู่ใกล้ตัวเราได้หยุดความรุนแรงนั้น
ผู้ใหญ่ทุกคนได้เรียนรู้ว่าสามารถป้องกันความรุนแรงในเด็กทั้งสองคนได้ก่อนที่จะเกิดความรุนแรงมากไปกว่านี้ เริ่มจากวันนี้วันที่เริ่มสังเกตเห็นว่าลูกหลานกำลังมีภาวะอารมณ์ที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้ ให้ความเข้าใจสิ่งที่กระทบต่อความต้องการของเด็ก ให้เขาได้มีทางเลือกอื่นๆ ในการเผชิญสถานการณ์ที่จะกระตุ้นเร้าอารมณ์ของตนเอง ฝึกการควบคุมการระบายออกกว่าจะโตไปเผชิญชีวิตตามลำพัง ระเบิดอารมณ์ที่ฝังในตัวคงได้รับการกู้ออกไปเรียบร้อยแล้ว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)