
© 2017 Copyright - Haijai.com
ความผิดปกติของการนอนหลับ
ตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่องทำไมเราต้องนอนหลับหลับนานเท่าใดจึงจะเพียงพอ และตอนนี้เราจะมาคุยเรื่องความผิดปกติของการนอนหลับ และสุขลักษณะการนอนที่ถูกต้อง
ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับนั้น แบ่งออกเป็นเป็น 6 กลุ่ม ซึ่งแบ่งย่อยลงไปอีกเป็นหลายสิบโรค ตัวอย่างโรคที่น่าสนใจมีดังนี้
1.ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ เช่น นอนไม่หลับจากสุขลักษณะการนอนไม่ดี (Inadequate sleep hygiene) นอนไม่หลับจากการกินยา (Insomnia due to drug or substance) นอนไม่หลับจากความเครียด (Psychophysiological insomnia) นอนไม่หลับจากโรคประจำตัวอื่นๆ (Insomnia due to medical condition)
2.ความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจขณะหลับ เช่น ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea) ซึ่งพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
3.ความผิดปกติเกี่ยวกับเวลาการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับเนื่องจากเดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตเวลาโลก (Jet lag) นอนไม่หลับเนื่องจากเปลี่ยนเวลาการทำงาน (Shift work type)
4.ความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมขณะนอนหลับ เช่น ฝันร้าย (Sleep terror) ละเมอเดิน (Sleep walking) ปัสสาวะรดที่นอน (Sleep enuresis)
5.ความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวขณะหลับ เช่น กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome) ความผิดปกติของขากระตุกเป็นช่วงๆ (Periodic limb movement disorder)
6.อาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่พบได้ในคนปกติ แต่ไม่หายขาด เช่น นอนกรน (Snoring) ละเมอ (Sleep talking) หลับนาน (Long sleep) หลับน้อย (Short sleep)
คิดไม่ถึงใช่ไหมคะ ว่าอาการที่เราคิดว่าพบได้เป็นปกติกลับเป็นอาการหนึ่งของโรคได้ ความรู้เรื่องโรคเกี่ยวกับการนอนหลับยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทยค่ะ หากท่านผู้อ่านมีอาการอ่อนล้า รู้สึกไม่สดชื่น คล้ายพักผ่อนไม่เพียงพอทั้งที่ชั่วโมงนอนมากแล้ว หรือทำแบบทดสอบจากตอนที่แล้วได้คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับสิบ ท่านอาจมีความผิดปกติในการนอน และอาจเป็นโรคในกลุ่มโรคเหล่านี้
อาการสำคัญที่ควรสนใจ คือ อาการนอนกรน และควรสนใจมากเป็นพิเศษในผู้ที่นอนกรนไปสักครู่แล้วหยุดกรน ตามด้วยอาการสะดุ้งดูคล้ายขาดอากาศ พยายามจะหายใจ ลองสังเกตคนในครอบครัวดูนะคะ เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือคนชรา มีอาการเหล่านี้ได้ทุกวัย อาการนี้สำคัญเพราะเป็นอาการแสดงหนึ่งของภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง สัมพันธ์กับโรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก นอกจากนั้นยังเป็นความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่ยานพาหนะ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา
คุณภาพการนอนที่ดีมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของเรามาก แต่อาจเป็นเรื่องที่เราคิดไม่ถึงและละเลยไป เราสามารถปรับและทดลองรักษาตนเอง เพื่อความสดชื่นในการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อประสิทธิภาพการเรียนและการทำงานที่ดีขึ้น ดวยการปฏิบัติตามสุขลักษณะการนอนที่ดี
สุขลักษณะการนอนที่ดี
• จัดสภาพแวดล้อมห้องนอนให้เหมาะแก่การนอนหลับ
• ใช้ห้องนอนเพื่อการนอนและกิจกรรมทางเพศเท่านั้น งดเว้นกิจกรรมอื่น เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ รับประทานอาหาร
• ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มสารกระตุ้นหลังเวลาบ่าย เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง
• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากมีสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้นอนไม่หลับ
• ออกกำลังกายในช่วงเช้า อย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น ไม่ควรออกกำลังกายหนักในช่วงเย็นหรือก่อนนอน เนื่องจากสารสื่อประสาทจะทำให้ตื่นตัวและนอนไม่หลับ
• ฝึกนิสัยตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อให้วงจรการนอนหลับ-ตื่นของเราทำงานได้ดี
• ถ้านอนไม่หลับควรลุกขึ้นจากที่นอน ทำกิจกรรมที่รู้สึกผ่อนคลาย เมื่อง่วงจึงค่อยกลับไปนอน ไม่ควรข่มตาหรือนับแกะโดยคาดหวังให้หลับ
• ไม่ควรรับประทานยานอนหลับ นอกจากแพทย์สั่ง และไม่ควรรับประทานเกินกว่าแพทย์สั่ง
พญ.อนุช ดุรงค์พันธุ์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)