© 2017 Copyright - Haijai.com
สารอันตรายรายวัน
ในชีวิตประจำวัน มนุษย์มีความเสี่ยงในการได้รับสารพิษและสารปนเปื้อนหลากหลายชนิด ซึ่งสารพิษหรือสารเคมีชนิดต่างๆ สามารถปนเปื้อนมาในรูปแบบและสภาพที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน การฉีด การหายใจ หรือการสัมผัสทางผิวหนัง แล้วทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยความรุนแรงในการเกิดพิษขึ้นอยู่กับชนิด คุณสมบัติ ปริมาณ และช่องทางที่ได้รับสารพิษนั้น สารพิษบางชนิดอาจสะสมไว้ที่ตับหรือชั้นไขมันใต้ผิวหนัง และทำให้เกิดการทำงานของร่งกายที่ผิดปกติไปในที่สุด
ประเภทของสารเป็นพิษ
สารพิษอาจปนเปื้อนมากับสิ่งที่เราใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยจำแนกตามแหล่งกำเนิด
สารพิษที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
• สารพิษในดิน น้ำ อากาศ เช่น จุลินทรีย์ (แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส)
• สารพิษจากพืช เช่น เห็ดพิษ พืชมีพิษ
• สารพิษจากสัตว์ เช่น งูพิษ ผึ้ง แมงป่อง
สารพิษที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
• สารเคมีเคราะห์ที่ใช้ในการอุปโภค เช่น น้ำยา ล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ
• ยาหรือเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาโรค เช่น การรับประทานยาเกินขนาด การใช้ยาผิดวิธี
• สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ได้แก่ สารเคมีป้องกัน และกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เช่น ยาฆ่าแมลง
• สารเคมีที่ใช้หรือเกิดจากกระบวนการผลิตทาง อุตสาหกรรม เช่น โลหะหนัก
• สารไฮโดรคาร์บอนจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
• สารกัมมันตรังสีที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
สาเหตุของการได้รับสารพิษ
• ความประมาทเลินเล่อและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น รับประทานอาหารที่มีพิษหรือปนเปื้อนสารพิษ รับประทานยาผิด สัมผัสสัตว์ แมลง หรือสารพิษ สูดหายใจ รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ตั้งใจ
• ตัดสินใจผิดพลาดตั้งใจบริโภคสารพิษ เช่น รับประทานสารพิษหรือยาเกินขนาดเพื่อหวังผลในการฆ่าตัวตาย
• ความบกพร่องของกระบวนการจัดเก็บหรือกำจัดสารเคมีและสารพิษ โดยขนาดความเป็นระเบียบหรือมักง่าย เช่น การเก็บสารพิษหรือยารวมกับอาหารหรือสิ่งของที่ใช้อุปโภคบริโภค หรือเก็บไว้ใกล้มือเด็ก ไม่มีฉลากปิดชื่อและวิธีการใช้สารเคมีทำให้เกิดความสับสน กำจัดสารพิษด้วยวิธีการไม่เหมาะสม เช่น ปล่อยควันพิษลอยสู่อากาศ ปล่อยสารเคมีเป็นพิษลงสู่แม่น้ำคูคลอง ไม่แยกขยะมีพิษออกจากขยะทั่วไป หรือกำจัดขยะโดยวิธีการเผาทำลาย โดยไม่ผ่านกรรมวิธีที่ถูกต้อง
กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อการได้รับพิษในชีวิตประจำวัน
เนื่องจากในปัจจุบันเราดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและเทคโนโลยี ดังนั้น มนุษย์เราทุกคนจึงมีความเสี่ยงในการได้รับสารพิษอันเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันหรือการประกอบอาชีพ ดังเช่น เด็กอาจบริโภคสารเคมีหรือยา โดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากความซุกซนและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้สูงอายุอาจรับประทานยาเกินขนาดหรือผิดประเภทจากการไม่อ่านข้อมูลในฉลากยา เด็กสาววัยรุ่นตั้งใจรับประทานยาล้างห้องน้ำ เพราะน้อยใจคนรัก และหวังผลเรียกร้องความสนใจ หรือฆ่าตัวตาย ชายวัยกลางคนนำเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติมาบริโภค โดยไม่ทราบว่าเป็นเห็ดมีพิษ พนักงานโรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมสูดดมเอาละอองน้ำมันผ่านการหายใจ ชาวสวนสัมผัสยาฆ่าแมลงอยู่เป็นประจำ เป็นต้น
สารพิษที่พบได้บ่อยและอาการแสดง
เห็ดพิษ
เห็ดพิษมีหลากหลายประเภทและทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกัน เช่น มึนงง เวียนศีรษะ ไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องร่วง หากรุนแรงจะทำให้ตับอักเสบ ไตวาย หัวใจวาย ชักเกร็ง และเสียชีวิต
ลักษณะเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้
เห็ดมีพิษ
• ส่วนใหญ่เจริญงอกงามในป่า
• ก้านสูง ลำต้นโป่งพองออก โดยเฉพาะที่ฐานกับที่วงแหวนเห็นชัดเจน
• สีผิวของหมวกมีได้หลายสี เช่น สีมะนาวถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง
เห็ดรับประทานได้
• ส่วนใหญ่เจริญในทุ่งหญ้า
• ก้านสั้น อ้วนป้อม และไม่โป่งพองออก ผิวเรียบ ไม่ขรุขระ ไม่มีสะเก็ด
• สีผิวของหมวกส่วนใหญ่ เป็นสีขาวถึงสีน้ำตาล
หน่อไม้พิษ
ในกระป๋องบรรจุอาหาร ในขวด หรือในปี๊บปิดสนิท ที่ใช้บรรจุของหมักดองรวมทั้งหน่อไม้จะมีเชื้อ Clostridium botulinum ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบมากในดิน และเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อย เมื่อบริโภคอาหารหมักดองที่ปนเปื้อนเชื้อโรคจะเกิดอาการมองเห็นภาพซ้อน หนังตาตก พูดไม่ชัด กลืนน้ำและอาหารลำบาก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปากแห้ง ต่อจากนั้นกล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง หากอาการรุนแรง กล้ามเนื้อในระบบหายใจจะอ่อนแรงจนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
ยาฆ่าแมลง
• กลุ่มออร์แกโนคลอรีน เช่น DDT หากได้รับในปริมาณน้อยจะสะสมในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง เมื่อได้เป็นจำนวนมากจะทำให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ท้องร่วง หรือเสียชีวิตได้
• กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต เช่น พาราไธออน ถ้าไม่รับในปริมาณมากจะทำให้หมดสติ น้ำลายฟูมปาก กลั้นอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้ และหยุดหายใจ
ยาเบื่อหนูและสารเคมีปราบสัตว์แทะ
เป็นสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดหนูและสัตว์ บางชนิดมีพิษร้ายแรงมาก ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน วิงเวียนศีรษะ กระสับกระส่าย สารเคมีในกลุ่มนี้ประกอบด้วยซิงค์หรือวาร์ฟาริน
สารพิษที่เข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ
ได้แก่ ละอองสารพิษหรือแก๊สพิษ
• แก๊สที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจ เช่น ละอองน้ำมันในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ละอองฝุ่นจากโรงงานโม่หินและถลุงแร่ แก๊สพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลระคายเคืองต่อคอ หลอดลม และปอด
• แก๊สที่ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เช่น แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเกิดจากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมหมดสติ เมื่อสูดดมเข้าไปจะไปแย่งจับออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง ร่างกายจึงขาดออกซิเจน ซึ่งถ้าช่วยเหลือไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
• แก๊สที่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย เช่น แก๊ส อาร์ซีนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ปัสสาวะเป็นเลือด ตาเหลือง ตัวเหลือง
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อสัมผัสสารมีพิษ
ได้รับสารพิษทางปาก
• ในกรณีผู้ป่วยรู้สึกตัวดีและไม่มีอาการชัก ควรรีบทำให้สารพิษเจือจาง โดยการดื่มน้ำอุ่น น้ำชา หรือนมเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากสารพิษต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร
• ในกรณีที่ต้องใช้เวลานานในการนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล ควรทำให้อาเจียนเพื่อเอาสารพิษออกจากกระเพาะอาหารโดยการใช้นิ้วล้วงคอ
• ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย จากนั้นรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
• ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้ช่วยเป่าลมเข้าทางปาก หรือจมูก หากผู้ป่วยหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้กดหน้าอกนวดหัวใจ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
• ในกรณีที่รับประทานสารพิษเข้าไปนานกว่า 1 ชั่วโมง หรือไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยอาเจียนได้ ให้ผู้ป่วยบริโภคผงถ่าน (Activated charcoal) ละลายน้ำ หรือรับประทานไข่ขาวดิบ เพื่อช่วยชะลอการดูดซึมของสารพิษเข้าสู่กระเพาะอาหาร
ข้อห้ามในการทำให้ผู้ป่วยอาเจียน
• ผู้ป่วยซึหมดสติ
• ได้รับสารพิษที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง
• รับประทานสารพิษจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เช่น น้ำมันเบนซิน
• มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ
ได้รับสารพิษทางการหายใจ
• ควรนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีสารพิษโดยเร็วที่สุด และเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
• ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก โดยการเป่าลมเข้าทางปากหรือจมูก หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จัดท่าเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยการนอนตะแคง
• ให้ยาดมเพื่อช่วยกระตุ้นการหายใจ
สัมผัสสารพิษทางผิวหนัง
• ชำระล้างบริเวณที่สัมผัสโดนสารพิษด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก
• หากสารละลายกรดหรือด่างเข้าตา ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดด้วยการกรอกตาไปมา แล้วรีบนำส่งแพทย์
วิธีการป้องกันอันตรายจากสารพิษ
• พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเป็นพิษ เพื่อกิจกรรมต่างๆ
• ก่อนใช้ยาและสารเคมี ควรอ่านฉลากและวิธีการใช้ให้เข้าใจอย่างละเอียดแล้วปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมทั้งศึกษาให้เข้าใจถึงอันตรายและผลข้างเคียงของสารเคมีแต่ละชนิด
• หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ยา และสารเคมีที่ไม่รู้จัก ไม่มีแหล่งที่มาหรือฉลากที่บอกรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน
• หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีสารเคมีหรือสารพิษโดยไม่จำเป็น เช่น โณงงานอุตสาหกรรม โรงงานถลุงแร่ หากมีความจำเป็นให้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อการป้องกันอันตรายในขณะทำงานหรือสัมผัสสารเคมี
• หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือสารเคมีในขณะเมาสุรา
• เก็บยาหรือสารมีพิษไว้ในตู้อย่างมิดชิด พ้นมือเด็กและปิดฉลากชื่อและวิธีการใช้ยาหรือสารมีพิษเหล่านั้นด้วย
• ควรมีการตรวจสุขภาพ สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
• ห้ามล้างภาชนะที่บรรจุสารเคมีลงในทะเล แม่น้ำ คูคลอง
• ภาชนะบรรจุสารเคมีเมื่อใช้หมดแล้วให้ทำลายและฝังดินเสีย
• แยกขยะมีพิษออกจากขยะทั่วไปก่อนทิ้ง
มนุษย์เราอุปโภคบริโภค เพื่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน และเพื่อการประกอบอาชีพ โดยยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมและสารเคมีเพื่ออำนวยความสะดวก ดังนั้นการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทและมีสติรู้รอบอยู่เสมอ จะช่วยให้เราห่างไกลจากการได้รับสารพิษและผลข้างเคียงของสารพิษได้ไม่ยาก นอกจากนั้นการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสารพิษและการช่วยเหลือเบื้องต้น จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ในกรณีได้รับสารพิษ
นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)