© 2017 Copyright - Haijai.com
ข้อจำกัด รากฟันเทียม (ตอนจบ)
ความเดิมตอนที่แล้ว... รากฟันเทียม
หลังจากนักศึกษาฝึกงานได้ข้อมูลในการทำรากฟันเทียมจากคุณหมอจุ้มจิ้มไปแล้ว วันนี้จึงได้พาคุณพ่อมาปรึกษากับคุณหมอด้วยตนเอง
คุณพ่อนักศึกษา : ลูกสาวผมเล่าขั้นตอนการทำรากฟันเทียมให้ฟังคร่าวๆ แล้ว แต่เห็นบอกว่าต้องมาให้คุณหมอตรวจก่อน อย่างผมนี่ทำได้หรือเปล่าครับ
หมอจุ้มจิ้ม : ก่อนอื่นต้องถามคุณพ่อก่อนค่ะว่า มีโรคประจำตัวอะไรหรือเปล่า เพราะบางคนไม่สามารถใส่รากฟันเทียมได้ หากเข้าข่ายข้อห้าม คือ มีโรคประจำตัวที่ทำให้ไม่สามารถผ่าตัด โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ได้ เช่น เป็นโรคเบาหวานแบบที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจที่ควบคุมโรคไม่ได้ นอกจากนี้ผู้ที่สูบบุหรี่ก็มีอัตราความสำเร็จของการทำรากฟันเทียมน้อยกว่าคนไม่สูบ โดยเสี่ยงที่รากฟันเทียมจะไม่ยึดติดกับกระดูก ทั้งยังมีรายงานว่าผู้ที่กินยารักษาโรคกระดูกพรุนบางชนิด หลังผ่าตัดฝังรากเทียม หรือผ่าตัดในช่องปากแล้วแผลไม่หาย โดยแพทย์กำลังศึกษาความชัดเจนกันอยู่ค่ะ
คุณพ่อนักศึกษา : ผมไม่มีโรคประจำตัว แล้วก็ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วยครับ
หมอจุ้มจิ้ม : ถ้าอย่างนี้ก็มีโอกาสที่จะทำได้ค่ะ เพราะข้อห้ามอื่นๆ คุณพ่อก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ข้อห้ามที่ว่า เช่น มีความพิการหรือเป็นโรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ ตั้งครรภ์อยู่ระหว่างการรักษาอาการทางจิต ไม่ให้ความร่วมมือกับการรักษา เป็นต้น
ต่อไปก็เหลือแต่ตรวจสภาพภายในช่องปากว่ามีการอักเสบหรือโรคเหงือกอยู่หรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องรักษาให้ดีก่อน แล้วก็ต้องเอกซเรย์ดูความหนาของกระดูกบริเวณที่จะใส่รากฟันเทียมด้วย ถ้าไม่หนาแน่นพอ ก็ต้องดูว่าจะสามารถปลูกเพิ่มเนื้อและความหนาของกระดูกได้หรือไม่ ถ้าทำได้ถึงจะใส่รากฟันเทียมได้ค่ะ
คุณพ่อนักศึกษา : แล้วข้อเสียด้านอื่นๆ ละครับ มีอะไรบ้าง
หมอจุ้มจิ้ม :
• ข้อเสียที่ คือ ราคา เพราะเทคโนโลยีส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามา เครื่องมือแต่ละชิ้นมีราคาแพงค่ารักษาจึงแพงไปด้วย ปกติค่ารักษาจะอยู่ที่ 3-4 หมื่นบ้านขึ้นไปจนถึง 7-8 หมื่นบาทต่อซี่ ขึ้นอยู่กับสถานที่ ทันตแพทย์ผู้ทำ รวมถึงระบบของรากเทียมที่ใช้ นอกจากนี้ถ้าหากผู้ป่วยมีกระดูกไม่แข็งแรงหรือไม่เพียงพออย่างที่บอกคุณพ่อไป ก็ต้องมีการผ่าตัดเพื่อเสริมกระดูกอีก ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
• ข้อเสียที่ 2 คือ ความสวยงาม ถ้าเปรียบกับฟันปลอมติดแน่นด้วยกันแล้ว รากเทียมจะทำให้สวยงามได้ยากกว่าในบริเวณฟันหน้าบน ดังนั้น ถ้าหากเป็นบุคคลที่มีริมฝีปากสั้น หรือยิ้มแล้วเห็นคอฟันหรือคนเหงือกบาง หรือมีการถอนฟันไปเป็นระยะเวลานานๆ จนกระดูกละลายตัว ควรปรึกษาทันตแพทย์ที่ให้การรักษาถึงแนวโน้มการเกิดปัญหาเหล่านี้ รวมถึงการป้องกันและการแก้ไขก่อนตัดสินใจค่ะ
• ข้อเสียที่ 3 คือ การผ่าตัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนกังวลใจมากที่สุด แต่การผ่าตัดก็มีทั้งง่ายและยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดฝังรากเทียม อาจจะต้องมีการผ่าตัดหลายครั้ง จึงควรให้ทันตแพทย์ที่มีความสามารถเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะดูแลให้
• ข้อเสียที่ 4 คือ ระยะเวลา การทำรากเทียมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 เดือน ถึงแม้จะมีบางระบบ สามารถย่นระยะเวลาลงมาเหลือเพียง 2 เดือนแล้วก็ตาม แต่ก็มีหลายๆ กรณีที่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานาน ผู้ป่วยบางคนที่ใจร้อนอาจจะไม่ชอบ ก็จำเป็นต้องไปทำเป็นฟันปลอมประเภทอื่นต่อไปค่ะ
ข้อเสียข้อสุดท้ายที่อยากจะเน้นคือ เรื่องของความต้านทานต่อเชื้อโรค ถึงแม้รากเทียมจะมีลักษณะใกล้เคียงฟันธรรมชาติมาก แต่ก็มีความต้านทานต่อเชื้อโรคต่ำกว่า จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาความสะอาดให้ดี เพราะถ้ามีการอักเสบของกระดูกรอบๆ รากฟันแล้ว อัตราการละลัวของกระดูกจะเร็วกว่าและรุนแรงกว่าที่เกิดในฟันธรรมชาติ และอาจจะมีการติดเชื้อได้ง่ายด้วยค่ะ
แต่ถ้าเปรียบกับการใส่ฟันปลอมติดแน่นแบบอื่น การฝังรากเทียมก็มีข้อดีกว่าหลายอย่าง ในแง่ของความรู้สึกและการใช้งานได้เหมือนฟันธรรมชาติมากกว่า ที่สำคัญรากฟันเทียมยังช่วยถ่ายเทน้ำหนักในการเคี้ยวอาหารให้ถ่ายเทไปยังขากรรไกร จึงช่วยรักษากระดูกให้มีสภาพเดิมได้มากกว่าค่ะ
คุณพ่อนักศึกษา : มีข้อดีข้อเสียต่างกันไปแบบนี้ คงต้องใช้เวลาตัดสินใจสักพัก ยังไงก็ขอบคุณมากครับคุณหมอ
หมอจุ้มจิ้ม : ยินดีค่ะ ค่อยๆ ศึกาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ ถ้าสงสัยอะไรก็มาปรึกษาหมอได้เลยค่ะ
ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร ทันตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)