
© 2017 Copyright - Haijai.com
พฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ
Parasomnia หรือในภาษาไทยคือ ความผิดปกติในพฤติกรรมขณะนอน ซึ่งความผิดปกติในกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องของการที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมขณะนอน หรืออารมณ์ที่ผิดปกติในระหว่างการนอนหลับ โดยอาการที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ 5 อย่างดังต่อไปนี้
ภาวะนอนละเมอ (Sleep walking disorder)
เป็นความผิดปกติในช่วงของการนอนหลับแบบ NREM ผู้ป่วยจะลุกจากเตียง เดินไปมาหรือไปทำกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อนได้ เช่น อาจเดินไปเปิดประตู เปิดไฟ เดินออกนอกบ้าน หรือพูดประโยคสั้นๆ ได้ โดยผู้ป่วยจะลืมตา แต่มักจะลืมตาแบบตาลอย มองค้างแบบไม่มีจุดหมายชัดเจน และไม่ตอบสนองเมื่อเรียกหรือพูดด้วย เมื่อถูกปลุกให้ตื่นขณะละเมอ ก็จะจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น จำไม่ได้ว่าทำอะไรไปบ้างหรือกำลังฝันว่าอะไร บางคนอาจจะสับสนมึนงงอยู่หลายนาทีถึงจะกลับมารับรู้ได้ปกติ การเดินละเมอนี้พบได้บ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยในเด็กประมาณร้อยละ 2-3 จะมีอาการนอนละเมอ ในขณะที่ผู้ใหญ่พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ช่วงอายุที่พบการนอนละเมอได้มากที่สุด คือ เด็กช่วงอายุ 4-8 ปี การนอนละเมอสามารถพบได้ในคนทั่วๆ ไป หากเกิดนานๆ ครั้ง ไม่ถือว่าผิดปกติอะไร นอกจากมีอาการเป็นซ้ำๆ ทุกเดือน จนทำให้มีปัญหาการนอนหรือก่อให้เกิดอันตรายจึงจะถือว่าผิดปกติ
การรักษา ในเด็ก การรักษาจะเน้นไปที่การป้องกันอันตรายจากการละเมอ เช่น อาจเดินตกบันได หรือเปิดน้ำทิ้งไว้ เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือการรักษาอย่างอื่น เพราะส่วนใหญ่อาการจะน้อยลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้นการจะเข้าไปปลุกผู้ที่กำลังละเมอ คนที่จะเข้าไปปลุกต้องระวังตัวเองด้วย เพราะผู้กำลังมีอาการละเมออยู่อาจสับสน ดิ้น จนทำให้ตัวเองหรือคนที่ปลุกได้รับบาดเจ็บได้ ในผู้ใหญ่หากเป็นบ่อยจนมีปัญหา การรักษาด้วยยา เช่น ยา clonazepam มีประสิทธิภาพดีในการรักษาการนอนละเมอ
ภาวะตกใจกลัวตอนกลางคืน (Sleep terror disorder, night terrors, pavomocturmus)
อาการหลักของ sleep terror คือ การที่ผู้ป่วยมีการกรีดร้องหรือร้องไห้ขึ้นมาทันทีกลางดึก หลังจากร้องก็จะมีอาการเหมือนตกใจกลัวอะไรอย่างมาก เช่น อาจมีอาการใจสั่น เหงื่อตก หรือมือเย็น เป็นต้น โดยอาการส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ประมาณ 1-10 นาที แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น ในระหว่างที่เกิดอาการ ผู้ป่วยมักจะจำไม่ได้หรือจำได้น้อยมากกว่าฝันหรือกลัวอะไร โดยส่วนใหญ่พบว่าในขณะที่มีอาการดังกล่าว คนที่เป็นจะครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือถ้าตื่นเต็มที่ก็มักจะสับสนหรือพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง อาการนี้พบได้บ่อยในเด็ก โดยเด็กอายุ 2-3 ขวบ พบได้บ่อยถึงร้อยละ 19.7 ในขณะที่ในผู้ใหญ่พบได้น้อย เพียงประมาณร้อยละ 2 เท่านั้น
การรักษา สำหรับในเด็กเล็ก โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษาอะไรเป็นพิเศษ เพราะส่วนใหญ่เมื่อโตขึ้นอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง พ่อแม่เพียงเข้าใจว่าธรรมชาติของอาการเป็นแบบนี้ คือ เมื่อเด็กร้องขึ้นมาสักพักก็จะหายไปเอง แล้วก็ให้เด็กหลับต่อ สำหรับในเด็กโตและเด็กวัยรุ่น การประเมินว่าเด็กเครียดหรือไม่อาจเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะพบว่า ความเครียดหรือปัญหาในครอบครัวอาจทำให้เกิด Sleep terror ได้ หากอาการไม่ดีขึ้นจริงๆ การรักษาด้วยยาคลายกังวล เช่น ยา diazepam สามารถลดอาการได้ดี
ภาวะฝันร้าย (Nightmare disorder)
ภาวะนี้คือการที่ผู้ป่วยฝันร้ายจนตื่นบ่อยๆ โดยที่ตอนที่ตื่นขึ้นมาผู้ป่วยสามารถจำได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และฝันเกี่ยวกับอะไร ซึ่งจะต่างจาก night terror ที่ผู้ป่วยแทบจะไม่รู้หรือจำอะไรไม่ได้เลย โดยทั่วไปผู้ใหญ่กว่าร้อยละ 50 จะมีฝันร้ายบ้างนานๆ ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จะจัดว่าผิดปกติเมื่ออาการฝันร้ายนั้น เป็นบ่อยจนเกิดปัญหาต่อการนอน เช่น ทำให้ตื่นกลางดึกอาทิตย์ละหลายวันจนทำให้นอนไม่พอ หรือเกิดความกลัวเวลาที่จะเข้านอน ภาวะฝันร้ายที่ผิดปกตินี้ (มากกว่าหนึ่งครั้งต่อเดือน) พบได้บ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยในเด็กพบได้ประมาณร้อยละ 1-4 ในขณะที่ผู้ใหญ่พบประมาณร้อยละ 1
การรักษา ในเด็กเล็กจะเหมือนกับภาวะอื่นๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ คือ ไม่จำเป็นต้องรักษาอะไร เพราะอาการจะลดลงเองตามอายุที่มากขึ้น แต่ก็ควรพิจารณาด้วยว่าเด็กมีความเครียดด้วยหรือไม่ เพราะว่า การมีความเครียดที่สูงทำให้เกิดอาการฝันร้ายบ่อยขึ้น สำหรับวัยผู้ใหญ่ที่ฝันร้ายบ่อยๆ อาจเกิดจากโรคทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า ความผิดปกติของจิตใจภายหลังเหตุการณ์รุนแรง (Posttraumatic Stress Disorder, PTSD) ยาบางชนิดหรือสารเสพติด การรักษาจึงเป็นการกำจัดต้นเหตุ ในขณะที่การใช้ยา เช่น กลุ่มยาคลายกังวล (Anxiolytics) สามารถลดการเกิดฝันร้ายได้ดี
ภาวะผีอำ (Sleep paralysis)
ผีอำ คือ การที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา แต่ไม่สามารถขยับตัวได้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการนอนหลับแบบ REM โดยตอนที่ตื่นมาคนๆ นั้นจะรู้สึกตัวดี มองเห็นและได้ยินเสียง แต่ขยับตัวไม่ได้ อาการมักเป็นอยู่ไม่นาน ผู้ที่เป็นก็จะเริ่มขยับตัวได้ตามปกติ อาการผีอำนั้นพบได้ในคนทั่วไป โดยพบว่าคนส่วนใหญ่ร้อยละ 40-60 เคยเจอภาวะผีอำมาแล้วทั้งสิ้น แต่ส่วนใหญ่จะนานๆ เป็นที
การรักษา การเกิดอาการผีอำแบบนานๆ เป็นที ไม่จำเป็นต้องรักษาอะไร เพราะอาการจะหายได้เองอยู่แล้ว โดยปัจจัยที่ทำให้คนมีอาการผีอำบ่อยขึ้น ได้แก่ การอดนอน การนอนผิดเวลา และความเครียด แต่หากใครมีอาการผีอำบ่อยมาก เป็นสัปดาห์ละหลายวัน ก็ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดจากโรคบางอย่างเช่น familial sleep paralysis โรค narcolepsy หรือเกิดจากการใช้ยาบางชนิด
ภาวะพฤติกรรมผิดปกติในช่วงการนอน แบบ REM (REM sleep behavior disorder)
จากตอนก่อน ผมได้พูดถึงเรื่องการนอนที่ปกติ เราพบว่าโดยปกติแล้วระหว่างที่เราอยู่ในช่วงการนอนแบบ REM ร่างกายจะเกิดอัมพาตตามตัว คือ ไม่สามารถขยับแขนขาได้ แต่ในภาวะนี้สมองเกิดคามผิดปกติในการทำงานในช่วงการนอนแบบ REM ทำให้แทนที่ร่างกายจะเป็นอัมพาต ดันเกิดขยับตัวได้ ผู้ป่วยจึงส่งเสียงร้องหรือมีการขยับตัวตามเนื้อหาที่ฝัน เช่น ดิ้น ต่อย หรือวิ่ง เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายกับตัวเองหรือคนที่นอนข้างๆ ได้ เช่น เหวี่ยงแขนกระแทกกำแพงจนกระดูกหัก หรือถีบคนที่นอนด้วยจนตกเตียง เป็นต้น
พฤติกรรมผิดปกติในช่วงการนอนแบบ REM มักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยพบได้เพียงร้อยละ 0.38-0.5 เท่านั้น โดยอาการมักเป็นเรื้อรัง และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยความผิดปกติชนิดนี้พบว่าสัมพันธ์กับโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น ดังนั้นคนที่อายุมากแล้วเกิดมีความผิปกติของการนอนชนิดนี้ จึงต้องเฝ้าระวังและตรวจหาโรคที่อาจจะเป็นสาเหตุ ส่วนในวัยผู้ใหญ่มักเกิดจากการใช้ยาบางชนิด หรือโรค narcolepsy
การรักษา ถ้ามีสาเหตุที่ชัดเจน การรักษาที่ต้นเหตุ จะช่วยให้อาการดีขึ้นเอง ส่วนการจัดการกับอาการของโรคจะเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ ถ้าอาการเป็นมาก การใช้ยา เช่น clonazepam สามารถลดอาการได้
จะเห็นได้ว่าความผิดปกติของพฤติกรรมในขณะนอนนั้น หลายอย่างคนทั่วไปก็อาจจะเป็นได้ในบางครั้งบางคราว หากพบในเด็กเล็กหรือนานๆ เป็นทีในวัยผู้ใหญ่ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติและไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่หากพบว่าอาการเกิดบ่อยหรือรบกวนการนอนอย่างมาก ก็ควรที่จะพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษาต่อไปครับ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)