
© 2017 Copyright - Haijai.com
แก้ไขสายตาสั้น
เป็นที่ทราบกันดีว่าการแก้ไขสายตาสั้นที่มีกันมานาน ได้แก่ การใช้แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ ทั้ง 2 วิธีเป็นการแก้ไขสายตาสั้นชั่วคราว แก้ได้เฉพาะเวลาที่ใช้แว่นหรือคอนแทคเลนส์ เมื่อถอดออก สายตาก็กลับไปสั้นเหมือนเดิม แม้ว่าปัจจุบันจะมีวิธีการที่เรียกว่า โอเคเลนส์ (OK lens) ที่ใส่เวลากลางคืนตอนเช้าตื่นมาตาหายสั้น แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวและต้องใส่คอนแทคเลนส์ตอนนอนทุกคืน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีวิธีแก้ไขสายตาสั้นแบบถาวร กล่าวคือสายตาสั้นหายขาดเลย ได้แก่ การแก้ไขโดยวิธีผ่าตัด อาจจะเป็นด้วยแสงเลเซอร์หรือด้วยมีด
สายตาสั้นเกิดจากอะไร
สายตาสั้นเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างกำลังหักเหของแสง (จากกระจกตาและแก้วตา) กับความยาวลูกตา หากจะแก้ไขความไม่สมดุลนี้คงต้องทำที่กระจกตา แก้วตา หรือความยาวลูกตา สำหรับความยาวลูกตา เราคงไม่สามารถทำให้ลูกตาหดสั้นลงได้ แต่การแก้ไขที่กระจกตาและแก้วตาน่าจะพอทำได้ ดังนั้น การรักษาสายตาสั้นจึงมุ่งมาที่กระจกตาหรือแก้วตา
การแก้ไขที่กระจกตา
สายตาสั้นเกิดจากกระจกตามีกำลังหักเหมากเกินไป นั่นคือ ตาโค้งมากเกินไป หากจะแก้ภาวะสายตาสั้น ต้องลดความโค้งของกระจกตาลง หรือทำให้กระจกตาแบนลง ซึ่งน่าจะทำได้ไม่ยาก เพราะกระจกตาวางอยู่ข้างหน้าดวงตาเลย การแก้ปัญหาที่กระจกตานั้นดวงตาไม่ทะลุ ถือเป็นการผ่าตัดนอกลูกตา ไม่เข้าไปรบกวนส่วนต่างๆ ภายในลูกตา ไม่ต้องกังวลเรื่องการติดเชื้อภายในลูกตา อีกทั้งกระจกตาแม้จะมีขนาดบาง แต่ก็มีกำลังหักเหของแสงมาก (ประมาณ 45 ไดออปเตอร์) การเข้าไปทำอะไรเพียงน้อยนิด อาจแก้ไขสายตาสั้นได้มาก การผ่าตัดที่กระจกตาเพื่อรักษาสายตาสั้น อาจทำโดยการทำ Radial keratotomy (RK), PRK (photorefractive keratotomy) และการทำเลสิค (lasik)
• การทำ RK (radial keratotomy) เป็นการกรีดกระจกตาเป็นเส้นรัศมี โดยเว้นตรงกลางที่ตรงกับรูม่านตาไว้ขนาด 3-5 มิลลิเมตร โดยกรีดให้ลึกประมาณ 30-90 % ของความหนากระจกตา เป็นเส้นรัศมีมาถึงขอบกระจกตา จำนวนรอยที่กรีดอาจเป็น 4, 6, 8, 12 เส้น โดยแบ่งระยะให้สม่ำเสมอกัน จำนวนที่กรีดตลอดจนความลึกขึ้นอยู่กับขนาดของสายตาสั้น ยิ่งสั้นมากยิ่งต้องกรีดลึกและจำนวนมาก วิธีนี้ใช้เครื่องมือง่ายๆ ราคาถูก แต่แก้ได้เฉพาะสายตาสั้นน้อย (100-400) ปัจจุบันไม่นิยมเพราะความยากในการกรีดให้สม่ำเสมอ ผลที่ได้ไม่แน่นอน อีกทั้งปัจจุบันมีเครื่องมือที่ละเอียดและแม่นยำกว่า ปัจจุบันยังมีการนำวิธีนี้มาใช้แก้ไขสายตาเอียง โดยกรีดไปยังแนวที่เอียง
• การทำ PRK (photorefractive keratotomy) เป็นวิธีทำให้กระจกตาแบนลงด้วยแสงเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer laser) ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่น 193 นาโนเมตร มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถขูดผิวกระจกตาออกได้บางมากในแต่ละครั้ง บางขนาดต่ำกว่า 1 ไมครอน โดยก่อให้เกิดความร้อนต่อผิวที่ตัดและบริเวณใกล้เคียง (ไกลไปเพียง 0.2-0.3 ไมครอน) เล็กน้อย จึงไม่ทำลายเนื้อเยื่อของกระจกตา มีการอักเสบน้อยกว่าการทำด้วยใบมีด การทำ PRK ต้องเริ่มจากขูดผิวหน้าของกระจกตา (ชั้น epithelium) ออก แล้วใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ยิงลงไปโดยฝานออก 10 ไมครอน จะแก้ได้ประมาณ 1 ไดออปเตอร์ (สั้น 100) การฝานออกด้วยเลเซอร์ขนาดใดขึ้นกับขนาดสายตาสั้น วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะสายตาสั้นน้อยๆ (100-200) ไม่เหมาะในผู้ที่สายตาสั้นมาก เพราะต้องฝานออกหนามาก การฝานออกมากทำให้เกิดฝ้าขาว (haze) หลังทำมาก ซึ่งในบางรายฝ้านี้อยู่นานหรือไม่หาย ทำให้สายตามัวลงได้ อีกทั้งหลังทำจะเจ็บปวดมากนาน 2-3 วัน เพราะมีการทำลายชั้นผิว epithelium
• การทำ Lasic (laser in situ keratomileusis) เรียกกันทับศัพท์ว่า เลสิค เป็นการใช้เครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ เช่นเดียวกับวิธี PRK ต่างกันตรงที่ PRK จะขูดหรือลอกกระจกตาบริเวณกลางๆ ออก ส่วน Lasik ต้องใช้เครื่องฝานกระจกตา (microkeratiome) โดยฝานกระจกตาขนาด 100-200 ไมครอน เปิดเป็นฝาแล้วใช้เลเซอร์ยิง แล้วปิดฝาที่เปิดไว้โดยไม่ต้องเย็บ ฝานกระจกตาออกได้มากโดยไม่เกิดฝ้าขาว (haze) วิธีนี้เป็นการใช้เลเซอร์ฝานเนื้อตรงกลางของกระจกตา ส่วน PRK ฝานบริเวณผิวกระจกตา ยกเว้น ผู้มีกระจกตาบางจะฝานออกมากไม่ได้ เพราะทำให้กระจกตาที่เหลือบางเกินไป ทำให้กระจกตาไม่คงรูป วิธีนี้ปัจจุบันทำกันมาก แก้ไขสายตาสั้นได้มาก อาจถึงสายตาสั้นเป็น 1000 ถ้ากระจกตาหนาพอ อีกทั้งไม่มีการเจ็บปวดสายตาเห็นชัดได้รวดเร็ว
ทั้งการทำเลสิคและ PRK ต้องใช้เครื่องเลเซอร์ที่มีราคาแพง และเลสิคต้องใช้เครื่องฝานกระจกตาด้วย ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีเลสิคให้ได้ผลดีขึ้นในผู้ที่มีกระจกตาบางด้วยวิธี Epi-lasik โดยการฝานกระจกตาออกเป็นฝาบางลงกว่าเก่า กระจกตาที่เหลือมากกว่าจึงแก้ไขสายตาสั้นได้มากขึ้น ส่วน Microkeratiome ก็มีการพัฒนาใช้ Femto second laser ฝานกระจกตาแทน จึงทำได้ละเอียดและแม่นยำ ลดโอกาสของการเกิดอาการข้างเคียงได้ดี แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงจากเครื่อง Femtosecond laser
การทำที่แก้วตา
สายตาสั้นเป็นเพราะกำลังหักเหของแสงจากกระจกตาและแก้วตามีมากเกินไป จะทำอย่างไรที่จะลดกำลังของแก้วตาลง เพื่อแก้ไขสายตาสั้น การเข้าไปทำแบบกระจกตาคงทำไม่ได้ เพราะแก้วตาจะขุ่นขาว หากมีอะไรมาสัมผัสอาจก่อให้เกิดต้อกระจกบดบังการมองเห็นแบบถาวรไปเลย ด้วยเหตุที่จักษุแพทย์มีความคุ้นเคยกับการผ่าตัดเอาแก้วตาออกจากภาวะต้อกระจก เมื่อเอาแก้วตาออกจะเกิดภาวะสายตายาว ซึ่งแก้ไขได้โดยใช้กำลังเทียบที่พอเหมาะที่แก้ไขภาวะสายตายาวที่เกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยนั้นมีสายตาสั้นอยู่ด้วยก็สามารถเลือกแก้วตาเทียมที่เหมาะสมแก้ไขไปในทีเดียวได้ การแก้ไขสายตาสั้นด้วยวิธีทำที่แก้วตามีข้อดีกว่าการทำที่กระจกตาบางอย่าง เช่น ใช้เครื่องมือง่ายๆ ไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง เทคนิคการผ่าตัดที่หมอตาทุกคนคุ้นเคยไม่ต้องฝึกฝนใหม่ แก้ไขสายตาสั้นมากๆ ได้ดี อุบัติการณ์ของ Regress คือ สายตาสั้นกลับคืนไม่มี แต่มีข้อเสีย คือ การทำผ่าตัดเข้าไปถึงชั้นในของลูกตาอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากกว่า อีกทั้งการเอาแก้วตาธรรมชาติออก ทำให้กระบวนการเพ่ง (accommodation) เสียไป เป็นต้น การผ่าตัดกับแก้วตาเพื่อแก้ไขสายตาสั้นอาจทำได้โดย เอาแก้วตาธรรมชาติออกอย่างเดียว เอาแก้วตาธรรมชาติออกแล้วตามด้วยฝังแก้วตาเทียมที่เหมาะสมเข้าไปแทนที่ และการฝังเลนส์เสริม (implantable contact lens : ICL)
• การเอาแก้วตาธรรมชาติออกอย่างเดียว เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นมาก ประมาณ 1200-1500 ซึ่งจะใกล้เคียงกับกำลังหักเหของแก้วตา แต่ในทางตรงข้ามก่อนทำผ่าตัดจะต้องมีการวัดสายตา วัดกำลังกระจกตาความยาวลูกตา คำนวณดูว่าหากเอาแก้วตาออกอย่างเดียว สายตาจะเป็นอย่างไร หากออกมาใกล้เคียงกับสายตาปกติ การทำวิธีนี้เหมาะสมดี ด้วยการใช้เครื่องมือสลายต้อกระจกที่มีใช้อยู่ประจำ (phacoemulsification) แผลผ่าตัดขนาดเล็กไม่ต้องเย็บแผล การผ่าตัดทำได้ง่าย แผลหายเร็ว สายตาเห็นชัดทันทีในวันรุ่งขึ้น
• การเอาแก้วตาธรรมชาติออก ตามด้วยแก้วตาเทียมที่เหมาะสม หากการวัดพบว่าเมื่อเอาแก้วตาธรรมชาติออก สายตายังสั้นหรือมีสายตายาวอยู่บ้าง สามารถเลือกแก้วตาเทียมที่เหมาะสมเข้าไปแทนที่ วิธีการทำเหมือนกับการรักษาต้อกระจกร่วมกับฝังแก้วตาเทียม
• การฝังเลนส์เสริม อาจเรียกอีกอย่างว่า phakic IOL โดยไม่ยุ่งกับเลนส์ธรรมชาติ แต่นำเลนส์แก้ไขสายตาที่ผิดปกติ ซึ่งแทนที่จะวางที่หน้าตาดังเช่นคอนแทคเลนส์ ก็ฝังเลนส์นี้เข้าไปในตา ไม่ต้องถอดเข้าถอดออกมาทำความสะอาด เลนส์ที่ฝังอาจใช้ขาเลนส์ยันอยู่กับมุมตา (angle of anterior chamber) หรือขยับไปวางข้างหลังเล็กน้อย โดยหนีบเข้ากับม่านตา หรือวางหลังม่านตาหน้าตัวแก้วตาธรรมชาติ วิธีนี้ต้องทำการผ่าตัดเปิดแผลขนาดกว้างพอที่จะสอดเลนส์เสริมนี้เข้าไป แม้ไม่ได้ทำอะไรกับเลนส์ธรรมชาติ แต่ก็ต้องเปิดแผลแบบเดียวกับการผ่าตัดเกี่ยวกับแก้วตาและสอดเลนส์เข้าไปวางใกล้เลนส์ธรรมชาติ อาจกระทบกับแก้วตาธรรมชาติได้
แม้ปัจจุบันจะมีวิธีแก้ไขสายตาสั้นได้ถาวร แต่ต้องมีการผ่าตัด ซึ่งเฉกเช่นการผ่าตัดทุกชนิด อาจมีผลแทรกซ้อนหลักๆ ได้แก่ ได้ผลไม่ตามที่มุงหมาย (เช่น อยากแก้สายตาสั้น 500 ให้เหลือ 0 แต่ทำแล้วอาจเหลือ 50 ซึ่งอาจต้องทำใหม่ หรือทำเพิ่มเติม หรือบางรายทำไม่ได้) มีภาวะแทรกซ้อนแผลไม่ติด (จากเนื้อเยื่อที่ผิดปกติของผู้ป่วย) เสียเลือด (ข้อนี้พบได้น้อย) มีการติดเชื้อ ซึ่งยุ่งยากในการรักษาอีกทั้งอาจมีผลเสียสืบเนื่องทำให้สายตาลดลง โดยไม่มีทางแก้ไข ผลเสียต่อเนื่องตามมา เช่น การทำที่กระจกตาทำให้ตาแบนลง การหักเหของแสงแต่ละทิศทางเปลี่ยนไป เป็นเหตุให้เกิดแสงจ้า (glare) มี contrast sensitivity เสีย ทำให้สายตากลางคืนลดลง เป็นต้น สำหรับการทำที่แก้วตา ทำให้การเพ่งเสียไป นานเข้าอาจเกิดต้อกระจก บางรายอาจมีภาวะต้อหินตามมาในกรณีที่ฝังเลนส์ไว้ที่มุมตา ด้วยเหตุนี้การตัดสินใจรับการแก้ไขโดยวิธีผ่าตัด ควรศึกษาผลดีผลเสียปรึกษาผู้รู้ เพื่อเลือกวิธีเหมาะสมและมีผลเสียน้อยที่สุด
ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)