© 2017 Copyright - Haijai.com
ถามแม่ : ดิฉันแต่งงานเมื่อปีที่แล้วโดยไม่ได้จดทะเบียนกับสามีและก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย แต่ระยะหลังมีญาติทักว่า ทำไมเราไม่จดทะเบียนกันอีกทั้งๆ ที่กำลังตั้งครรภ์ได้ 4 เดือนแล้ว ทำให้เริ่มไม่แน่ใจว่า จริง ๆ แล้วควรจะจดทะเบียนสมรสดีหรือไม่คะ
แม่ตอบ : สวัสดีค่ะ เรื่องการจดทะเบียนสมรสเป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตสำหรับสาวๆ สมัยนี้นะคะ หลายคนบอกว่าทะเบียนสมรสไม่ใช่สิ่งรับประกันความยั่งยืนของชีวิตสมรส ไม่ใช่ว่าจดทะเบียนแล้วจะทำให้ปัญหาชีวิตคู่หมดไป กระดาษแผ่นเดียวรั้งไว้ไม่อยู่ ก็เลยไม่คิดว่าการจดทะเบียนจะช่วยทำให้ชีวิตสมรสดีขึ้นได้
ยิ่งไปกว่านั้น หลาย ๆ คนกังวลว่าถ้าหากจดทะเบียนสมรสไปแล้ว จะกลายเป็นภาระในภายหลัง บางคนบอกว่าถ้าจะเลิกกันก็ยากขึ้นเพราะต้องไปจดทะเบียนหย่าหรือฟ้องหย่า สู้ไม่จดทะเบียนดีกว่า อยากเลิกก็เลิกเลย บางคนก็ไม่อยากจะเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามี บางคนไม่อยากเปลี่ยนคำนำหน้าจากนางสาว เป็นนางเพราะกลัวว่าจะมีผลต่อการสมัครงาน หรือการทำธุรกรรมต่างๆ ก็ยุ่งยากขึ้นเพราะต้องมีเอกสารเพิ่ม หรือกลัวว่าต้องรับผิดชอบหนี้ร่วมกับอีกฝ่าย สารพัดเหตุผลค่ะ
ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะคะ ต่างคนต่างจิตต่างใจ เพียงแต่ว่าก็อยากให้ลองมองอีกด้านบ้างค่ะว่า ถ้าเราจดทะเบียนสมรสล่ะ เราจะได้อะไร หรือถ้าไม่จดแล้วเราจะเสียอะไรไปบ้าง
เนื่องจากว่าทะเบียนสมรสเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ “สถานะทางกฎหมาย” แก่ผู้เป็น “สามีภริยา” ดังนั้น พวกสิทธิหรือสิทธิเรียกร้องต่างๆ ที่มีตามกฎหมาย อาทิ สิทธิที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิที่ในการรับมรดกหรือสิทธิในเงินบำเหน็จบำนาญหากอีกฝ่ายด่วนจากไปก่อน รวมทั้งพวกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากที่ทำงานหรือราชการสำหรับคู่สมรส เช่น สิทธิในค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสเท่านั้นค่ะ พูดง่ายๆ คือถ้าเราอยากจะได้สิทธิตามกฎหมายก็ต้องจดทะเบียนสมรส
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าโชคร้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนอกใจ ถึงตัวทะเบียนจะไปรั้งเขาหรือเธอเอาไว้ไม่ได้ก็จริง แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีสิทธิที่จะหึงหวงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิเรียกค่าเสียหาย หรือค่าทดแทนจากมือที่สามด้วย แต่ถ้าหากเราไม่ได้จดทะเบียนแล้ว ก็อาจจะเสียทั้งคน แถมหมดสิทธิได้ค่าทดแทนค่ะ หรือซ้ำร้ายถ้าเกิดว่าคุณมือที่สามช่วงชิงตัดหน้าพาคนของเราไปจดทะเบียนสมรส ไปๆ มาๆ เราจะกลับกลายเป็นมือที่สามตามกฎหมายไปเสียนะคะ คราวนี้ล่ะเราอาจเป็นฝ่ายต้องจ่ายค่าทดแทนเสียเอง
หรือถ้าโชคร้ายมีใครมาทำอะไรจนเป็นเหตุให้สามีหรือภรรยาเราบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย เช่น ขับรถชน เป็นต้น ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายต่างๆ ไม่มีสิทธิดำเนินคดีแทนได้ หรือไม่มีสิทธิในเงินบำเหน็จบำนาญ
ส่วนเรื่องนามสกุล สาวๆ ที่ไม่อยากจะเปลี่ยนนามสกุลก็สบายใจได้ค่ะ เพราะปัจจุบันกฎหมายไม่บังคับให้ภรรยาต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของสามีแล้วนะคะ สามารถที่จะเลือกได้ค่ะว่าจะใช้นามสกุลเดิมหรือนามสกุลสามี
อย่างไรก็ตาม คุณผู้หญิงยังต้องเปลี่ยนคำนำหน้านามไปใช้ “นาง” ซึ่งก็มีผลให้ผู้หญิงเราต้องจัดการเรื่องเอกสารเพิ่มเติม แต่จริงๆ แล้วจะไม่ยุ่งยากนักนะคะ แนะนำว่าพอจดทะเบียนก็ดำเนินการเปลี่ยนบัตรประชาชนให้เสร็จในวันเดียวกันไปเลย ใช้เวลาแป๊บเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วก็แค่ถ่ายเอกสารใบทะเบียนสมรสไว้หลายๆ ใบ เอาไว้ใช้เวลาติดต่องานเอกสารอื่นๆ เท่านี้ชีวิตก็ไม่ยุ่งแล้วค่ะ
คิดดูนะคะ พกเอกสารเพิ่มอีกนิดแต่สิทธิต่างๆ โดยเฉพาะความมั่นคงทางการเงินจะมีมากขึ้นนะคะ แต่ที่สำคัญ คือเรื่องลูกค่ะ เพราะตามกฎหมายถือว่าลูกเป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมายของแม่ที่ให้กำเนิดเสมอค่ะ แต่สำหรับความเป็นพ่อนั้น ลูกจะเป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะมีสิทธิต่างๆ ในฐานะลูกของพ่อก็ต่อเมื่อลูกเกิดมาในระหว่างการสมรสของพ่อกับแม่เท่านั้น ถ้าลูกเกิดมานอกสมรสก็ต้องมีการดำเนินการขอให้มีการรับรองบุตรเสียก่อนค่ะ จึงจะได้สิทธิต่างๆ เพียงแค่การแจ้งลงไปในใบเกิดลูกว่าใครเป็นพ่อ ไม่เพียงพอต่อการทำให้ลูกของเราเป็นลูกตามกฎหมายของพ่อนะคะ
แม้ว่าความสำเร็จหรือความอยู่รอดของชีวิตคู่จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับทะเบียนสมรส แต่ถ้าเราเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยการคิดว่าไม่ต้องจดทะเบียนดีกว่าเพราะเดี๋ยวเลิกกันยากขึ้น ก็ไม่รู้ว่าจะแต่งงานกันไปทำไม ดังนั้น ถ้าเราตัดสินใจจะร่วมสร้างครอบครัวกันแล้ว อย่างน้อยทะเบียนสมรสก็เครื่องมือที่กฎหมายสร้างขึ้นเพื่อให้สามี ภรรยา รวมทั้งลูกๆ ที่เกิดมาผูกพันกันและมั่นคงยิ่งขึ้นนะคะ ว่าแล้วในเดือนแห่งความรักนี้ ก็น่าจะถือเป็นโอกาสอันดีที่คุณและคนรักจะจูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสสักที ก็น่าจะดีเหมือนกัน จริงไหมค่ะ?
ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คุณแม่ลูกสาวสอง
รองผู้อำนวยการ หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต
ภาคบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)