
© 2017 Copyright - Haijai.com
ยาดีใครว่าไม่อันตราย
ขึ้นหัวเรื่องมาอย่างนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ยาดี จะเป็นอันตรายได้อย่างไร ?
ก็ขอบอกว่าถึงแม้ยาจะมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยของคนเรา แต่หากมีการใช้ที่ไม่ถูกวิธี ประโยชน์จากยาก็คงไม่มี ซ้ำร้ายบางทีอาจจะเกิดโทษเสียอีก
ยาแก้ปวด รับประทานเมื่อปวดทุกครั้ง
เชื่อว่ายากลุ่มแก้ปวดนี้ ท่านต้องเคยใช้กันแน่นอน ไม่ว่าจะเพื่อแก้การปวดเมื่อยจากการใช้กล้ามเนื้อ ปวดหัว ปวดฟัน ไปจนถึงปวดท้องประจำเดือน ซึ่งเมื่อรับยาจากเภสัชกร ท่านมักจะได้รับคำแนะนำว่า “รับประทานเมื่อมีอาการ” หรือ “รับประทานเมื่อปวด” แต่ถ้าเรารับประทานทุกครั้งที่ปวด จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ยาแก้ปวดตัวแรกที่จะพูดถึงคือ พาราเซตามอล ถือเป็นยาแก้ปวดครอบจักรวาล จำหน่ายในบ้านเราในขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม หากรับประทานยานี้มากไปจะเกิดตับอักเสบได้ กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ว่า ไม่ควรรับประทานพาราเซตามอลเกินวันละ 4 กรัม แปลว่าแต่ละวันหากปวดหัว ปวดฟัน จะรับประทานได้ไม่เกินวันละ 8 เม็ด
ยาแก้ปวดตัวถัดไปที่จะพูดถึงคือ ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์แก้อักเสบและนำมาเป็นยาแก้ปวดข้อ ปวดเข่า ปวดประจำเดือน ได้ผลดี แต่ยากลุ่มนี้ก็มีผลทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร กลายเป็นโรคกระเพาะที่หิวก็ปวดอิ่มก็ปวด
ท่านที่เคยรับประทานยากลุ่มนี้ย่อมทราบดีว่าจะต้องรับประทานยาหลังอาหารทันที หากท้องว่างก็ควรดื่มนมแล้วค่อยรับประทานยา ปัจจุบันยาตัวใหม่ๆ ในกลุ่มนี้ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยลง ถึงกระนั่นก็ตาม การรับประทานยาหลังอาหารทันทียังมีความจำเป็นอยู่ ดังนั้น หากท่านเป็นโรคกระเพาะอยู่ก่อน ควรบอกให้แพทย์และเภสัชกรทราบด้วย เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการให้ยาที่ระคายกระเพาะอาหารแก่ท่าน
ยาแก้ปวดตัวสุดท้ายที่จะพูดถึงคือ ยาแก้ปวดหัวไมเกรน ตัวยาที่ใช้คือ เออร์ก๊อต (ergot) เป็นยาที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว สามารถทำให้อาการปวดหัวไมเกรนบรรเทาลงได้ เนื่องจากอาการปวดหัวไมเกรนเกิดจากการที่หลอดเลือดแดงในสมองคลายตัว
เออร์ก๊อต ให้ผลดีในการแก้ปวดหัวไมเกรน แต่มีอาการข้างเคียงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่นั่นยังไม่รุนแรงเท่าไหร่ ยังมีอาการข้างเคียงที่อันตรายกว่า หากรับประทานยาเกินขนาดที่กำหนด คือ การเกิดภาวะเนื้อเยื่อตาย เนื่องจากการขาดเลือด เพราะหลอดเลือดที่เลี้ยงอวัยวะเหล่นนั้นหดตัว โดยเฉพาะอวัยวะส่วนปลาย เช่น มือ เท้า เกิดการหดตัวเฉียบพลันของหลอดเลือด ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้ต้องมีการตัดเนื้อเยื่อเหล่นนั้นออก หรืออาจต้องตัดอวัยวะนั้นทิ้ง
ขนาดยารับประทานที่กำหนดคือ ไม่เกิน 6 เม็ดต่อวัน และไม่เกิน 10 เม็ดต่อสัปดาห์ ดังนั้นหากมีอาการปวดหัวไมเกรนและรับประทานยา 1 เม็ดแล้วยังไม่หาย รับประทานยาเม็ดที่ 2 ได้ในอีกครึ่งชั่วโมงต่อมา และซ้ำได้อีกทุกครึ่งชั่วโมง โดยต้องไม่เกิน 6 เม็ดต่อวัน และไม่เกิน 10 เม็ดต่อสัปดาห์
ยาคุมฉุกเฉิน ทุกฉุกเฉิน ขาดไม่ได้
ยาคุมฉุกเฉินมีข้อบ่งใช้คือ ป้องกันการตั้งครรภ์กรณีฉุกเฉิน ซึ่งหมายถึง การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน มีความผิดพลาดในวิธีคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ เช่น ลืมรับประทานยาคุมกำเนิด หรือเกิดอุบัติเหตุถุงยางอนามัยฉีกขาด มีรูรั่ว
ยาคุมฉุกเฉินจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้หากรับประทานยาเร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันหรือไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยจะต้องรับประทานยาทั้งหมด 2 เม็ด รับประทานเม็ดแรกภายใน 72 และรับประทานเม็ดที่ 2 ในอีก 12 ชั่วโมงต่อมา หรือรับประทานยา 2 เม็ด ทีเดียวเลยก็ได้ อย่าลืมว่าต้องรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เพราะฉะนั้นทางที่ดีก่อนมีเพศสัมพันธ์ควรมีการวางแผน เช่น ผู้ชายต้องใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย ในกรณีที่คู่แต่งงานยังไม่พร้อมมีบุตรก็ควรมีการวางแผนการคุมกำเนิด
ยาความดัน ฉันจะรับประทานเมื่อปวดหัว
ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงบางรายรู้ตัวว่า เป็นโรคนี้เนื่องจากปวดหัวบ่อย รับประทานยาแก้ปวดหัวก็ไม่หายสักที เมื่อพบแพทย์จึงรู้ว่าตนเองเป็นความดันโลหิตสูงแล้วทำให้ปวดหัว ได้ยาลดความดันโลหิตมารับประทาน อาการเริ่มดีขึ้น พอไม่มีอาการปวดหัว ก็นึกว่าหายแล้ว จึงหยุดรับประทานยาไป พอปวดหัวขึ้นมา ก็เริ่มรับประทานยาลดความดันโลหิตกันใหม่ เกิดพฤติกรรมอย่างที่ว่า ฉันจะรับประทานายาความดันเมื่อปวดฉันปวดหัว หารู้ไม่ว่า ยาลดความดันโลหิตเป็นยาที่ต้องรับประทานต่อเนื่อง ห้ามหยุด มิฉะนั้นอาการรุนแรงขึ้น อาจถึงขั้นทำให้พิการหรือเสียชีวิต
ยาลดความดันโลหิตมีหลายกลุ่ม แพทย์จะเลือกให้ตามความรุนแรงของโรคและภาวะทางร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย บางรายได้ยาเพียง 1 ชนิด บางรายได้ยา 2 ชนิดหรือมากกว่า เป็นต้น ผู้ป่วยต้องรับประทานยาในขนาดตามที่แพทย์สั่ง และไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อรับการรักษาและให้ยา ที่สำคัญผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
ยาลดไขมัน วันไหนไม่มัน ไม่ต้องรับประทาน
นี่คือความเชื่อที่เกิดขึ้นจริงในผู้ป่วยบางรายที่ใช้ยาลดไขมันในเลือด หากวันใดหรือมื้อใดไม่มีอาหารประเภทผัด ทอด หรือรู้สึกตนเองรับประทานของมันน้อยลง ก็จะไม่รับประทานยาลดไขมันในวันนั้น เนื่องจากกลัวทำให้ไขมันในร่างกายน้อยเกินไปแล้วตัวจะแห้ง
ความจริงคือ ยาลดไขมันนั้นไม่เกี่ยวกับไขมันที่อาหารเลย และถึงแม้ในมื้ออาหารนั้นๆ ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารมันในปริมาณน้อยลงก็ตาม ก็ไม่ได้แปลว่าสามารถงดยาลดไขมันได้ การคุมอาหารเป็นเรื่องที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยทุกราย แต่การปรับขนาดยาควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ทำการรักษา เพราะหากขาดยาบ่อยครั้งเข้า ก็จะควบคุมไขมันในเลือดไม่ได้ ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงตามมาได้
ไม่อยากพ่นยา เพราะฝ้ามันขึ้นลิ้น
ยาพ่นสูดที่มีตัวยาเป็นสเตียรอยด์ เป็นยาที่จำเป็นในโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ การเกิดฝ้าขาวที่ลิ้น กระพุ้งแก้มปาก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยบางรายปฏิเสธการใช้ยา นำไปสู่การรุดหน้าและกำเริบของโรคในที่สุด ฝ้าขาวที่ลิ้นสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยเพียงแต่ต้องกลั้วปากกลั้วคอด้วยน้ำสะอาดแล้วบ้วนทิ้งทุกครั้งที่ใช้ยาพ่นสูดที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบ หรืออาจะใช้แปรงสีฟันแปรงเบาๆ ที่ลิ้น
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างการใช้ยาที่ควรระมัดระวัง และไม่ควรลืมว่า หากมีข้อสงสัยเรื่องยา ควรปรึกษาเภสัชกร
ภญ.วิภาวี รอดจัน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)