Haijai.com


เตือนภัย โปรโตซัวตัวร้าย


 
เปิดอ่าน 16338

เตือนภัย โปรโตซัวตัวร้าย

 

 

โดยทั่วไปเชื้อก่อโรคในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่หลายกลุ่ม เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา รวมทั้งเชื้อโปรโตซัว ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว แพร่พันธุ์โดยการแบ่งตัว และบางชนิดสามารถแพร่พันธุ์โดยการสร้างสปอร์ได้ด้วย เชื้อกลุ่มนี้สามารถก่อโรคได้ในเกือบทุกระบบของร่างกาย แต่อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เพราะเชื้อมักก่อโรคในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคที่เกิดจากโปรโตซัวที่รู้จักกันดี เช่น มาลาเรีย และบิดมีตัว เป็นต้น

 

 

ในประเทศไทย เชื้อโปรโตซัวที่ควรระวังส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำดื่ม ผศ.นพ.เกรียงศักดิ์ ลิมป์กิตติกุล จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อชนิดนี้ เพื่อให้เราได้เท่าทัน และระมัดระวังชีวิตให้ปลอดพิษปลอดภัย

 

 

ฮี.ฮิตโตไลติกา (E. histolytica)

 

เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคบิดมีตัว เชื้อชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะฝังตัวในลำไส้ ทำให้ลำไส้เกิดการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดท้อง และถ่ายเป็นมูกเลือด บางรายมีอาการเลือดออกในลำไส้ ลำไส้ทะลุ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ในกรณีที่เชื้อหลุดลอดออกนอกลำไส้ไปฝังตัวที่อวัยวะส่วนอื่น เช่น ตับ สมอง หรือปอด อาจก่อให้เกิดฝีที่อวัยวะนั้นๆ ได้เช่นกัน ในอดีตจผู้คนมักนำอุจจาระไปเป็นปุ๋ยรดพืชผัก จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ต่างจากปัจจุบันที่การขับถ่ายเป็นไปอย่างถูกสุขลักษณะ เนื่องจากนี้อาหารและน้ำดื่มก็สะอาดและปลอดภัยกว่าเมื่อก่อน โอกาสที่จะติดเชื้อชนิดนี้จึงลดลงอย่างมาก ยกเว้นในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ ซึ่งยังมีการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อชนิดนี้อยู่ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ โดยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง 1-2 สัปดาห์ และป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด รวมทั้งกายถ่ายอุจจาระให้ถูกสุขลักษณะ

 

 

ไกอาเดีย แลมเบลีย (Giardia Iamblia)

 

เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ติดต่อโดยการดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งมักได้รับเชื้อจากการหยิบจับสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าปาก เชื้อชนิดนี้สามารถคงทนกับระดับคลอรีนต่ำๆ ได้ และเคยมีการตรวจพบสปอร์ของเชื้อปนเปื้อนอยู่ในน้ำประปาด้วย เนื่องจากท่อประปาชำรุด เพราะฉะนั้น การดื่มน้ำประปา โดยไม่ผ่านการต้มจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ ในคนปกติที่มีภูมิคุ้มกันปกติ เมื่อได้รับเชื้อจำนวนน้อยอาจไม่แสดงอาการใดๆ และร่างกายสารรถกำจัดเชื้อได้เอง แต่ในคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กเล็กหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ หากได้รับเชื้อจำนวนมาก มีโอกาสป่วยสูง โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมาพบแพทย์ด้วยอาการท้องเสียเรื้อรังติดต่อกันนาน 2-3 สัปดาห์ (ต่างจากอาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น ภายใน 2-3 วัน) มีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาหารไม่ย่อย การตรวจหาเชื้อสามารถทำได้โดยการตรวจอุจจาระ และรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ปัจจุบันยังพบเชื้อไกอาเดีย แลมเบลียในประเทศไทย ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในแหล่งชุมชนแออัดที่น้ำดื่มไม่สะอาด หรือมีการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

 

 

บาลันทิเดียม โคไล (Balantidium coli)

 

เป็นเชื้อโปรโตซัวที่มีขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย มักพบเชื้อในกลุ่มผู้เลี้ยงหมูเนื่องจากเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ในอุจจาระของหมู โดยที่หมูอาจมีอาการท้องเสียหรือไม่มีอาการแสดงใดเลยก็ได้ เชื้อชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการกิน กล่าวคือ เมื่อผู้เลี้ยงสัมผัสกับอุจจาระที่มีเชื้อปนเปื้อน แล้วไปหยิบอาหารเข้าปาก จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย บางรายอาจถ่ายเป็นมูกเลือด ปัจจันยังคงพบผู้ป่วยด้วยเชื้อชนิดนี้ในประเทศไทยอยู่บ้าง แต่พบได้ไม่บ่อย อย่างไรก็ตามหากมีอาการท้องเสีย และรักษาด้วยวิธีปกติทั่วไปแล้วไม่ดีขึ้น ควรตรวจหาเชื้อจากอุจจาระ พราะเป็นไปได้ว่าอาจมีสาเหตุมาจากเชื้อบาลันทิเดียม โคไล

 

 

ท็อกโซพลาสมา กอนดี (Toxoplasma gondii)

 

เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคท็อกโซพลาสโมสิส (Toxoplasmosis) สัตว์หลายชนิดสามารถติดเชื้อชนิดนี้ได้ การติดเชื้อพบได้บ่อยในแมว สำหรับมนุษย์ติดเชื้อนี้ได้จากการรับประทานอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ปรุงไม่สุกและผักผลไม้สดที่มีเชื้อปนเปื้อน และการสัมผัสกับอุจจาระแมว โดยทั่วไปไม่ค่อยพบโรคนี้ในผู้ที่มีสุขภาพดี กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องในหญิงตั้งครรภ์ เชื้ออาจทำให้แท้งหรือทำให้เด็กในครรภ์เกิดความพิการได้ โดยเฉพาะถ้ามีการติดเชื้อในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งความพิการอาจเกิดขึ้นหลังคลอดออกมาแล้วประมาณ 3-4 เดือน เช่น หัวโต ตับโต ตัวเหลือง เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการแสดงอาจรุนแรงได้ถ้าเชื้อเข้าไปทำลายกล้ามเนื้อ ระบบประสาท หัวใจ ปอด หรือ ตา นอกจากนี้เชื้อยังอาจทำให้เกิดฝีในสมองได้อีกด้วย

 

 

ในประเทศไทยเคยมีการศึกษาจำนวนเด็กแรกเกิดที่ป่วยด้วยโรคท็อกโซพลาสโมสิสว่ามีจำนวนเท่าไหร่ โดยการเจาะเลือดตรวจคัดกรองหลังคลอด ผลการศึกษาปรากฎว่าไม่พบเชื้อชนิดนี้ในเด็กกว่าพันรายที่ทำการตรวจเลย อย่างไรก็ตามยังพบผู้ป่วยโรคนี้ได้ในประเทศไทยประปราย จึงพอสรุปได้ว่าโรคท็อกโซพลาสโมลิสแต่กำเนิดมีในประเทศไทย แต่อัตราความชุกของโรคนี้ในเด็กไทยนั้นน่าจะต่ำกว่า 1 ใน 1000 ราย

 

 

การรักษา ถ้าตรวจพบเชื้อในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้วมากน้อยเพียงใด ในประเทศตะวันตกจะมีการตรวจเลือดหาเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์จะให้การรักษาโดยทันที เด็กจึงออกมาเป็นปกติ การป้องกันสามารถทำได้โดยเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ล้างผักผลไม้ให้สะอาด สวมถุงมือเมื่อต้องทำความสะอาดกระบะใส่อุจจาระแมว และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดกระบะถ่ายอุจจาระแมว

 

 

นอกจากนี้ยังมีเชื้ออีกกลุ่มหนึ่งที่คล้ายกับท็อกโซพลาสมา กอนดี ทว่าจะไม่ติดต่อจากแม่สู่ลูก แต่จะแสดงอาการเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นเชื้อกลุ่มที่สร้างสปอร์ในลำไส้ของมนุษย์ (Spore forming protozoa) เช่น คริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium) ไอโสสปอรา (Isospora) และไมโครสปอริเดีย (Microsporidia) เชื้อเหล่านี้มีอยู่ในธรรมชาติ เข้าสู่ร่างกายโดยการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน คนปกติเมื่อได้รับเชื้อจะไม่มีอาการใดๆ แต่หากเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีอาการท้องเสียเรื้อรัง บางรายมีอาการติดเชื้อที่ปอดร่วมด้วย

 

 

เชื้อโรคแต่ละชนิดเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะเติบโตได้ดีในเขตร้อน สำรหับประเทศไทยการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อโปรโตซัว มักติดมาจากอาหารและน้ำดื่ม ถ้าระมัดระวังสองเรื่องนี้จะช่วยให้ปลอดภัยและปลอดโรคไปได้มาก เพราะฉะนั้นขอเน้นย้ำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ที่ไม่เพียงแต้องกันเชื้อโปรโตซัวเท่านั้น แต่ยังป้องกันเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่ปะปนมากับอาหารและน้ำดื่มอีกด้วย

(Some images used under license from Shutterstock.com.)