Haijai.com


น้ำมันสกัดจาก เคย (Krill oil) โอเมก้า 3


 
เปิดอ่าน 6126

น้ำมันสกัดจาก เคย (Krill oil) โอเมก้า 3

 

 

เคย (Krill, Antarctic krill, Neptune krill) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Euphausia superb เป็นสัตว์ทะเลในกลุ่มกุ้งและปู น้ำมันสกัดจากเคยประกอบไปด้วย กรดไขมันไม่อิ่มตัว หลายตำแหน่งชนิดโอเมก้า 3 เช่น Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexaenoic acid (DHA) วิตามินเอและอี สารกลุ่มแซนทีน และฟลาโวนอยด์

 

 

สารออกฤทธิ์สำคัญในน้ำมันสกัดจากเคย คือ “กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งชนิดโอเมก้า 3” ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานทางอาหารหลายหน่วยงานกำหนดปริมาณกรดไขมัน ไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งชนิดโอเมก้า 3 ที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน (Recommended Dietary Allowances : RDAs) ตั้งแต่ 1.4-2.5 กรัม ในปริมาณดังกล่าว ร่างกายจะได้รับ EPA และ DHA 140-600 มิลลิกรัมต่อวัน

 

 

สมาคมหัวใจแห่งอเมริกันแนะนำให้รับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากน้ำมันสกัดจากเคยแล้ว ในประเทศไทยยังมีกรดไขมันโอเมก้า 3 จำหน่ายในรูปแบบอาหารเติมกรดไขมันโอเมก้า 3 (เช่น นมเติม DHA) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา

 

 

แหล่งของโอเมก้า 3

 

กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่

 

 โอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารต้านการอักเสบ

 

 โอเมก้า 6 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารอักเสบ

 

 

กรดไขมันทั้ง 2 ชนิดแข่งกันออกฤทธิ์ ดังนั้น ร่างกาย จึงควรได้รับกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 ในปริมาณมากกว่ากรดไขมันโอเมก้า 6 แหล่งของกรดไขมันชนิดโอเมก้า 6 ที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันพืช (น้ำมันข้าวโพด น้ำมันงา น้ำมันเมล็ดทานตะวัน)

 

 

น้ำมันสกัดจากเคยเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ดี อย่างไรก็ตามเคยสายพันธุ์ที่นำมาสกัดน้ำมันไม่ใช่สัตว์ที่มนุษย์บริโภคเป็นอาหารตามปกติ อาหารอื่นที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาที่มีไขมันมาก ได้แก่ ปลาดุก ปลาทู ปลากะพง ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน (ปลาหลังเขียว) เคยกะปิ สาหร่ายทะเล นอกจากนี้ร่างกายยังสามารถเปลี่ยนกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 โดยอาหารที่มีกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น ถั่ว มะกอก กระเทียม น้ำมันคาโนลา ถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง เต้าหู้ เมล็ดฟักทอง วอลนัท เมล็ดลินิน (flaxseed) ผักเบี้ยใหญ่ (purslane) งาม้อน (perilla seed) อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 และผู้ป่วยจิตเภท อาจไม่สามารถเปลี่ยนกรดไขมันแอลฟาไลโนเลนิก เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้ จึงต้องรับกรดไขมันโอเมก้า 3 จากปลาเป็นหลัก กรดไขมันโอเมก้า 3 ในน้ำมันปลาและน้ำมันสกัดจากเคย มีโครงสร้างและพันธะเคมีที่แตกต่างกัน แต่ไม่แตกต่างกันในด้านความสามารถที่ร่างกายจะนำไปใช้

 

 

ผลของกรดไขมันโอเมก้า 3 ต่อร่างกาย

 

ฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันสกัดจากเคยเป็นฤทธิ์ทางชีวภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งชนิดโอเมก้า 3 เป็นหลัก กรดไขมันดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์และการสร้างฮอร์โมน ในร่างกายพบว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 มีปริมาณสูงในระบบประสาท มีความสำคัญต่อการรับรู้ การทำงานของสมอง และพฤติกรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนการของทารก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งได้เอง การขาดกรดไขมันโอเมก้า 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีมีครรภ์ อาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อปัญหาการมองเห็นและพัฒนาการของระบบประสาท ในผู้ใหญ่การขาดกรดไขมันโอเมก้า 3 ทำให้เกิดอาการล้า ความจำแย่ลง ผิวหนังแห้ง อารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้า อย่างไรก็ตามการรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 มากเกินไปทำให้เกิดอาการข้งเคียงได้ การรับประทานเกินวันละ 3 กรัม อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย นอกจากนี้กรดไขมันโอเมก้า 3 ยังมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด การรับประทานเกินขนาดที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน เลือดแข็งตัวช้า

 

 

กรดไขมันโอเมก้า 3 (EPA และ DHA ปริมาณ 850 มิลลิกรัมต่อวัน) มีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคหัวใจโคโรนารี ที่ยังไม่มีอาการปวดหัวใจหรือมีภาวะหัวใจขาดเลือด และยังลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง อาการหัวใจล้ม (heart attack) และหัวใจเต้มผิดจังหวะในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้ม นอกจากนี้กรดไขมันโอเมก้า 3 ยังช่วยลดปริมาณไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลความหนาแน่นต่ำ (LDL cholesterol) ซึ่งมีผลดีต่อโรคไขมันในเลือดสูง อย่างไรก็ตามไม่สามารถสรุปผลของกรดไขมันโอเมก้า 3 ต่อคอเลสเตอรอลความหนาแน่นสูง (HDL)  ซึ่งเป็นไขมันชนิดมีประโยชน์ได้ น้ำมันสกัดจากเคยเป็นแหล่งของกรดโอเมก้า 3 จึงมีผลดีต่อระดับไขมันในเลือดและหัวใจ นอกจากนี้ยังมีผลดีต่ออาการประจำเดือนมาไม่ปกติและอารมณ์แปรปรวนระหว่างมีประจำเดือนอีกด้วย

 

 

ปฏิกิริยาระหว่างยา


กรดไขมันโอเมก้า 3 รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา และน้ำมันสกัดจากเคยมีผลต้านการแข็งตัวของเลือด จึงเสริมฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดในยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (warfarin) โคลพิโดเกรล (clopidogrel) แอสไพริน (aspirin) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยา จากใบแปะก๊วย น้ำมันกระเทียม สารสกัดเมล็ดองุ่น นอกจากนี้ กรดไขมันโอเมก้า 3 ยังสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงต้นฤทธิ์ของยาเบาหวาน

 

 

ข้อแนะนำ

 

การรับประทานปลาทะเลหรือปลาที่มีไขมันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ช่วยให้ร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยจิตเภทควรรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 จากปลาและอาหารทะเล หากต้องการรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยา ต้องปรึกษาแพทย์ การเลือกซื้อน้ำมันสกัดจากเคยและน้ำมันปลา ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเนื่องจากผลิตภัณฑ์จากทะเลอาจปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น ตะกั่วและควรปรึกษาแพทย์และเภสัชทุกครั้งก่อนรับประทาน ผลิตภัณฑ์กรดไขมันโอเมก้า 3 เนื่องจากอาจทำให้เลือดออกง่ายกว่าปกติ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่าง่ยิ่งผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด และผู้ที่ต้องเขารับการผ่าตัด

 

 

ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)