© 2017 Copyright - Haijai.com
ท้องอืดท้องเฟ้อ อาการจุกเสียดอาหารไม่ย่อย
อาการท้องอืดท้องเฟ้อและอาหารไม่ย่อยเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยผู้ที่มีอาการอาจประสบกับภาวะอึดอัดจุกเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หรือเหนือสะดือ ร่วมกับท้องอืดท้องเฟ้อมีลมในกระเพาะอาหาร ทำให้เรอ หากเป็นมากจะมีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่หรือยอดอก อาการเหล่านี้เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของโรคในระบบทางเดินอาหารที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์
ข้อมูลจากสมาคมโรคทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยพบว่า คนไทยมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อและอาหารไม่ย่อยถึงร้อยละ 25 โดยพบได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยรุ่นวัยทำงาน จนถึงวัยสูงอายุ ช่วงอายุที่พบบ่อยมาก คือ อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากกลุ่มคนในวัยดังกล่าวมีการทำงานของระบบการย่อยอาหารที่เสื่อมถอยลงตามวัย ซึ่งอาการท้องอืดท้องเฟ้อนี้ อาจเป็นเพียงแค่ความผิดปกติของระบบย่อยอาหารหรือการหลังกรด หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคที่ร้ายแรง เช่น ถุงน้ำดีอักเสบหรือมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
สาเหตุของอาการท้องอืดท้องเฟ้อ
• การทำงานที่ผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดในผู้ที่มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เกิดจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กทำหน้าที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น กระเพาะบีบตัวช้าหรือบีบตัวไม่ได้ เกิดการหลั่งกรดที่ผิดปกติ กระเพาะอาหารไวต่ออาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคให้การย่อยอาหารในกระเพาะอาหารและการเคลื่อนตัวของอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กเป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้เกิดการสะสมของฟองอากาศหรือแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้อึดอัดแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ
• รอยโรคในระบบทางเดินอาหาร สาเหตุนี้เกิดจากพยาธิสภาพในอวัยวะที่ย่อยอาหารเอง เช่น กระเพาะอาหารอักเสบรุนแรง มีแผลในกระเพาะอาหาร มีเชื้อโรคแบคทีเรียซ่อนอยู่ กลุ่มเนื้องอกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น การอักเสบของอวัยวะช่วยย่อยอาหาร เช่น ถุงน้ำดี ทางเดินน้ำดี ตับ ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น ซึ่งการอักเสบของอวัยวะช่วยย่อยเหล่านี้มักมีสาเหตุมาจากนิ่วไปอุดตันทางเดินน้ำดี
• รอยโรคอื่นๆ ในช่องท้อง เช่น พังผืดจากการผ่าตัดไปขัดขวางการทำงานของระบบย่อยอาหาร การเกิดน้ำสะสมในช่องท้องจากการสร้างน้ำที่ผิดปกติ อาทิ โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็งบางชนิดที่แพร่กระจายในช่องท้อง (ได้แก่ มะเร็งในระบบทางเดินอาหารและมะเร็ง จากอวัยวะสืบพันธุ์สตรีขั้นลุกลาม) และทำให้มีน้ำในช่องท้องมากจนเกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง
ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ
• พฤติกรรมการบริโภค เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เร่งรีบ รับประทานอาหารที่ย่อยยาก อาหารมันหรือมีรสจัดทุกประเภท รับประทานอาหารที่กระตุ้นการหลั่งกรด เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน โกโก้ หรือแอลกอฮอล์รับประทานอาหารปริมาณไม่เหมาะสม เช่น มากหรือน้อยจนเกินไป
• ปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด การใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น การออกกำลังกายหรือนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร การเคี้ยวหมากฝรั่งเนื่องจากจะมีการกลืนอากาศขณะเคี้ยว
อาการที่ต้องมาพบแพทย์โดยด่วน
• มีอาการจุกเสียดอาหารไม่ย่อยร่วมกับมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการอักเสบของอวัยวะในทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น ถุงน้ำดีทางเดินน้ำดี ตับ ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น โดยมักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวมากและชอบรับประทานอาหารมัน
• มีอาการจุกเสียดอาหารไม่ย่อยร่วมกับอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ ซึ่งมีสาเหตุมาจากมีเลือดออกในทางเดินอาหาร โดยมักเกิดกับผู้สูงอายุที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือรับประทานยาแก้ปวดหรือยาสเตียรอยด์เป็นประจำ
• มีอาการจุกเสียดอาหารไม่ย่อยร่วมกับปวดท้อง อาเจียนมาก ไม่ถ่าย ไม่ผายลม ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากพังผืดในช่องท้องไปขัดขวางการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร โดยมักเกิดกับผู้สูงอายุที่เคยได้รับการผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
• มีอาการจุกเสียดอาหารไม่ย่อยร่วมกับเบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาเจียน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งถุงน้ำดี เป็นต้น
• มีอาการจุกเสียดอาหารไม่ย่อยร่วมกับท้องบวมโต ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากมีน้ำส่วนเกินในช่องท้องจากโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็งชนิดแพร่กระจายบางชนิด
• มีอาการจุกเสียดอาหารไม่ย่อยร่วมกับแสบร้อนบริเวณยอดอกและลิ้นปี่ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคกรดไหลย้อน
• มีอาการจุกเสียดอาหารไม่ย่อยทุกชนิด ที่รับประทานยาแล้ว อาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์ในทุกกรณี
“พฤติกรรมการบริโภคมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อในผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้สูงอายุควรใส่ใจในเรื่องอาหารการกินและสังเกตความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ”
การวินิจฉัยและการรักษา
แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อช่วยในการวินิจฉัย ในกรณีที่สาเหตุของอาหารไม่ย่อย ท้องอื้อท้องเฟ้อเป็นไม่รุนแรงและน่าจะมีสาเหตุมาจาก การหลั่งกรดหรือการทำงานของระบบย่อยอาหารที่ผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยา เช่น ยาลดกรด ยาช่วยย่อย ยาขับลม ยาเคลือบกระเพาะอาหาร หรือยาถ่าย แล้วแต่กรณี ร่วมกับการให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักตัวและปรับพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น การกลืนแป้งและถ่ายภาพรังสี เพื่อดูการทำงานของระบบย่อยอาหาร การทำอัลตราซาวนด์ หรือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ช่องท้องแล้วแต่กรณี โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่สงสัยพยาธิสภาพอื่นๆ ในช่องท้อง เช่น มะเร็ง เป็นต้น
คำแนะนำ
เนื่องจากสาเหตุของอาการท้องอืดท้องเฟ้อส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นมาจากพฤติกรรมในการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นแนวทางการป้องกันและการบรรเทาอาการของโรค ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคร่วมกับคำแนะนำอื่นๆ ดังนี้
• รับประทานอาหารตรงเวลา ไม่รับประทานอาหารจุบจิบในระหว่างมื้อ อาหารเย็นควรรับประทานให้เร็วขึ้น และไม่รับประทานก่อนนอน งดการทำกิจกรรมอื่นๆ ในขณะรับประทานอาหาร เช่น พูดคุยหรือดูโทรทัศน์ เป็นต้น
• รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่มีประโยชน์และได้สัดส่วน หลีกเลี่ยงการรับประทนอาหารรสจัด อาหารหมักดอง มัน ทอด กะทิ อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ที่ย่อยยากและมีปริมาณมากเกินพอดี
• รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและมีกากใยปริมาณพอสมควร เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ลดอาหารที่ตกค้างในลำไส้ ซึ่งจะช่วยลดลมที่เป็นสาเหตุของอาการท้องอืดท้องเฟ้อ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้สูงอายุเคี้ยวอาหารอย่างช้าๆ เพื่อช่วยการย่อย และพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน เนื่องจากฟันมีความสำคัญต่อการบดเคี้ยวและย่อยอาหาร
• หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน โดยเด็ดขาด
• หลังรับประทานอาหาร แนะนำให้อยู่ในท่าตัวตรง (ยืน เดิน หรือนั่งหลังตรงโดยไม่งอตัว) เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาหารไหลย้อนกลับจากกระเพาะอาหารและทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกรณฑ์ดัชนีมวลกายมาตรฐาน
• หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เนื่องจาเป็นสาเหตุทำให้มีกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการจุกแน่นท้องได้
• ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยาบางชนิดทำให้เกิดอาการข้างเคียงในระบบย่อยอาหาร เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตรียรอยด์ (NSAIDs) ยาสเตียรอยด์ ยาละลายลิ่มเลือดแอสไพริน ยาขยายหลอดลม และยารักษาโรคหัวใจบางชนิด
• รับประทานยาลดกรด ยาขับลม หรือยาช่วยย่อยตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ เพื่อบรรเทาอาการและช่วยสมานแผลในกรณีที่มีแผลในกระเพาะอาหาร แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
• สมุนไพรบางชนิดมีสรรพคุณในการช่วยย่อยอาหารและขับลม ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาทิ กระเทียม ขมิ้นชัน พริกสด ข่า ตะไคร้ ใบกระเพรา เป็นต้น
พฤติกรรมการบริโภคมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกัน และบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อในผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้สูงอายุควรใส่ใจเรื่องอาหารการกินและสังเกตความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด และหากอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยเป็นเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติม
นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)