© 2017 Copyright - Haijai.com
แร่ใยหิน ภัยร้ายใกล้ตัว
แร่ใยหิน (asbestos) คือแร่ที่เป็นสารประกอบซิลิเกต (ประกอด้วยซิลิกอนและออกซิเจน) และอยู่ในลักษณะเส้นใยที่รวมกันเป็นมัด แร่ใยหินสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ serpentine ที่มีลักษณะใยยาวและหยัก สามารถนำมาถักทอได้ ตัวอย่างแร่ใยหินในกลุ่มนี้ได้แก่ chrysotile อีกกลุ่มหนึ่ง คือ amplibole ที่มีลักษณะใยตรง รูปร่างคล้ายเข็ม และเปราะกว่าแร่ใยหินในกลุ่มแรก ตัวอย่างแร่ใยหินในกลุ่มนี้ actinolite, tremolite, anthophyllite, crocidolite และ amosite
เนื่องจากแร่ใยหินมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ทนแรงดึงและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่นำไฟฟ้าและความร้อน มีความสามารถในการดูดซึมสูงทนไฟและสารเคมี แร่ใยหินจึงถูกนำมาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ยุคโบราณ เช่น ใช้ทำไส้ตะเกียงในจีนยุคโบราณและโรมัน ใช้ผสมในดินเหนียวเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเครื่องปั้นดินเผาในฟินแลนด์ยุคโบราณ ตลอดจนทำเป็นผ้าทนไฟสำหรับห่อพระศพของจักรพรรดิโรมันเวลาถวายพระเพลิง
การใช้ประโยชน์จากแร่ใยหินเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แร่ใยหินถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อซีเมนต์ เบรกรถและคลัตช์ ฉนวนกันความร้อน แผ่นกันเสียง พลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากการตระหนักถึงผลเสียของแร่ใยหิน ปริมาณการผลิตแร่ใยหินทั่วโลกจึงลดลง (ทว่าปริมาณการใช้ประโยชน์จากแร่ใยหินยังคงมีมาก) บางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ชิลี ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี เป็นต้น ห้ามการใช้แร่ใยหิน ส่วนในประเทศไทยนั้น อนุญาตใหใช้เฉพาะแร่ chrysotile และ amosite ในอุตสาหกรรม รวมถึงมีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ.2552 ระบุให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ต้องมีการแสดงคำเตือน พร้อมทั้งข้อแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอแผนยกเลิกการนำเข้า ผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินในประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2556 แต่ปัจจุบันแผนดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
แร่ใยหินทำอะไรกับร่างกายของเรา
เมื่อหินหรือผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเกิดการแตกร้าวหรือชำรุด ใยหินจะถูกปลดปล่อยออกมาในอากาศ แล้วเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ บุคคลที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แร่ใยหิน จะมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับแร่ใยหิน การสำรวจปริมาณใยหินในอากาศของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ (หลังคา ท่อซีเมนต์ กระเบื้องปูพื้นไวนิล สีพื้นและสีอะครีลิก เบรกและคลัตช์) จำนวน 20 แห่งในไทยเมื่อปี พ.ศ.2530-2531 พบว่าโรงงานผลิตเบรกและคลัตซ์มีปริมาณใยหินในอากาศสูงที่สุด นอกจากนี้สมาชิกในครอบครัวของผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับแร่ใยหินก็มีสิทธิได้รับแร่ใยหินที่ปนเปื้อนมากับเสื้อผ้า รองเท้า ผิวหนัง และเส้นผมของผู้ที่ทำงานดังกล่าว
ใยหินที่ถูกสูดเข้าไป จะไปตกค้างที่ปอด การได้รับใยหินติดต่อกันหลายครั้งจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระ และเกิดกระบวนการอักเสบ ทำให้ปอดมีความผิดปกติ เช่น asbestosis ซึ่งหมายถึงการเกิดพังผืดในปอดจากการสูดดมแร่ใยหิน นอกจากนี้แร่ใยหินยังมีความเป็นพิษต่อระบบพันธุกรรมของเซลล์ และผลการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ยืนยันว่าแร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ การได้รับแร่ใยหินมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อบุทรวงอกและช่องท้อง (mesothelioma) และมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงของการเกิดโรคจากการสูดดมแร่ใยหิน ได้แก่
1.ปริมาณแร่ใยหินที่สูดดมเข้าไป การเกิดความผิดปกติในร่างกายจากแร่ใยหินล้วนมีความสัมพันธ์กับปริมาณแร่ใยหิน
2.ระยะเวลาที่ได้รับแร่ใยหิน ระยะเวลานับตั้งแต่สูดแร่ใยหินครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน (โดยไม่เกี่ยวข้องว่าในปัจจุบันจะยังได้รับแร่ใยหินอยู่หรือไม่) โรคที่เกิดจากแร่ใยหินจะใช้เวลาค่อนข้างนาน (10 ถึง 40 ปี) กว่าจะเกิดโรค
3.ขนาด ความยาว รูปร่าง และองค์ประกอบทางเคมีของแร่ใยหิน ใยหินที่มีความยาวมากกว่า 20 ไมครอนจะเกี่ยวข้องกับการเกิด asbestosis แร่ใยหิน crocidolite สามารถทำให้ผู้สูดดมมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่า chrysotile ถึงสิบเท่า ในกรณีที่ใยหินบาง (กว้างน้อยกว่า 0.4 ไมครอน ยาวน้อยกว่า 0.2 ไมครอน) ในเรื่องขององค์ประกอบทางเคมีนั้น crociolite มีปริมาณธาตุเหล็กมากกว่า chrysotile จึงอาจจะทำให้เกิดการทำลายปอดได้มากกว่า
4.แหล่งที่ได้รับแร่ใยหิน
5.ปัจจัยในแต่ละบุคคล เช่น การสูบบุหรี่ ซึ่งพบว่า การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายจากแร่ใยหิน
จะป้องกันอันตรายจากแร่ใยหินได้อย่างไร
ประเทศไทยมีการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ดังนั้น เวลาผู้บริโภคจะใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่อาจมีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น ควรอ่านฉลากว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแร่ใยหินหรือไม่ ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแร่ใยหิน ให้ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด เช่น หลีกเลี่ยงการเจาะทำลายผลิตภัรฑ์ดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้เกิดการปลดปล่อยใยหินสู่อากาศ นอกจากนี้แร่ใยหินยังใช้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ประชาชนจึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีการทุบทำลายสิ่งก่อสร้าง ส่วนผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนกลับบ้าน เพื่อป้องกันการเอาแร่ใยหินกลับไปเป็นของฝากคนในบ้าน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)