© 2017 Copyright - Haijai.com
ผู้หญิงศีรษะล้าน
ผู้หญิงก็ศีรษะล้านได้ แต่จะไม่ล้านเลี่ยนเหมือนชายศีรษะล้าน ปัจจุบันผมบ้างศีรษะล้านจากพันธุกรรม (androgenetic alopecia, AGA) พบเพิ่มขึ้นทั้งชายและหญิง ผู้หญิงอายุมากกว่า 30 ปี พบผมน้อยแบบลักษณะศีรษะล้านระยะแรกร้อยละ 2-5 เมื่อวัยสูงขึ้นจะพบเพิ่มขึ้นตามอายุและเมื่อหมดประจำเดือนผมจะยิ่งบาง และในหญิงอายุ 70 ปี พบสูงถึงร้อยละ 40 เพราะวัยหมดประจำเดือนระดับฮอร์โมนหญิงเอสโตรเจน (estrogen) ลดลง จึงมีผลทำให้ฤทธิ์ฮอร์โมนชายจากต่อมหมวกไตออกฤทธิ์เด่นชัดขึ้น
โรคศีรษะล้านจากพันธุกรรมในเพศหญิง (female androgenetic alopecia, FAGA) เกิดจากต่อมผมบริเวณเหนือหน้าผากและกลางกระหม่อมมีความไวต่อฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรน (testosterone) โดยพบว่าต่อมผมบริเวณดังกล่าวนอกจากจะมีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนชาย ยังมีเอนไซม์ 5-อัลฟา รีดักเทส ชนิดที่ 2 (type II 5-a reductase) เพิ่มขึ้น เอนไซม์ชนิดนี้จะทำการเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นดีไฮโดรเทสโทสเตอโรน (dehydrotestostorone) ซึ่งมีฤทธิ์ฮอร์โมนแรงขึ้น ทำให้เซลล์ไฟโบรบลาสต์ที่กระจายรอบต่อมผมสร้างสารกดการแบ่งตัวของเซลล์รากผม เกิดการพักตัวของรากผมก่อนกำหนด อายุเส้นผมจึงสั้นลงและผลัดออกเร็วขึ้น เส้นผมในชุดหลังๆ แต่ละเส้นมีขนาดผอมเล็กและสั้นลงตามลำดับ จนกระทั่งต่อมผมค่อยๆ ฝ่อหายไปในที่สุด ลักษณะของผมร่วงศีรษะล้านจากพันธุกรรมในเพศหญิง เส้นผมจะบางเฉพาะบริเวณกลางกระหม่อม ซึ่งมี 3 ระดับ ดังนี้
ระยะที่ 1 ผมบางกลางกระหม่อมจะเห็นชัดเมื่อแสกผม รอยแสกจะกว้าง ผมส่วนด้านหน้าเหนือหน้าผากปกติ
ระยะที่ 2 ผมบางบริเวณกลางกระหม่อมชัดเจน แต่ยังมีผมด้านหน้าผาก
ระยะที่ 3 ผมบางล้านเห็นหนังศีรษะชัดเจนกลางกระหม่อม แต่ยังมีผมด้านหน้าเหลืออยู่
ลักษณะผมร่วงศีรษะล้านพันธุกรรมในเพศหญิงอาจไม่เด่นชัดเช่นในเพศชาย เพราะผมในผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะบางกระจายเกือบทั่วศีรษะ แต่ถ้ามีศีรษะล้านจากพันธุกรรมร่วมด้วย จะพบผมบางมาก บริเวณกลางกระหม่อมเด่นชัด ดังนั้น ถ้าลักษณะผมบางไม่ชัดเจนว่าเป็นศีรษะล้านจากพันธุกรรมหรือไม่ ควรต้องหาสาเหตุ โดยสาเหตุที่อาจทำให้ผมร่วงกระจายที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น โรคโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็กเรื้อรัง หรือโรคต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง ควรไปรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกโรคดังกล่าว
ศีรษะล้านในเพศหญิงยังบ่งบอกว่าอาจจะมีโรคเนื้องอกต่อมหมวกไต ชนิดสร้างฮอร์โมนเพศชายผิดปกติ หรือมีโรคในรังไข่ ทำให้รั่งไขสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีขนแบบเพศชาย (hisutism) คือมีหนวดและเครา ผู้ป่วยมีความผิดปกติของประจำเดือน มีสิวรุนแรง และอาจพบรอยดำบริเวณรักแร้และคอ (acanthosis nigricans) ร่วมด้วย
ศีรษะล้านจากพันธุกรรมในเพศหญิงเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของมนุษย์ อาจเป็นวิวัฒนาการของผมจากมนุษย์โบราณ ซึ่งมีขนยาวทั้งตัวแล้วค่อยลดลงตามกาลเวลา หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม การใช้ชีวิต และการบริโภค ทำให้พันธุกรรมซึ่งแอบแฝงแสดงออกมา
ผมบางศีรษะล้านไม่มีปัญหาต่อสุขภาพกาย แต่จะทำให้เกิดปัญหาทางใจ กลายเป็นปมด้อย เพราะสังคมให้ความสำคัญกับเส้นผมมาก มีการกำหนดทางสังคมว่าผมเป็นลักษณะของผู้หญิง จึงมีขบวนการดูแลรักษาเส้นผมอย่างพิถีพิถัน เกิดธุรกิจเพื่อป้องกัน รักษา หรือเสริมสร้างเส้นผมตามมามากมาย ผมร่วงตามธรรมชาติกลายเป็นเรื่องทุกข์ใจ การรักษาผมร่วงจากพันธุกรรม คือการให้ยาฝืนธรรมชาติเพียง เพื่อช่วยบรรเทาการหลุดร่วงของเส้นผมชั่วคราว
การรักษาผมร่วงศีรษะล้าน
• ยาทาไมน็อกซิดิล (minoxidil) ความเข็มข้นร้อยละ 2-5 ทาเฉพาะบริเวณผมบาง จะช่วยให้เส้นผมหนาขึ้นร้อยละ 10-18
• ยารับประทานฟิแนสเตอไรด์ (finasteride) ซึ่งใช้ได้ผลดีในผมร่วงศีรษะล้านจากพันธุกรรมในเพศชาย ไม่แนะนำให้ใช้ในเพศหญิง เพราะผลการรักษาไม่ดีเหมือนในเพศชาย ถ้ารับประทานขณะตั้งครรภ์ ทารกจะมีอวัยวะเพศผิดปกติ
• ยารับประทานต่อต้านฤทธิ์ฮอร์โมนเพศชาย (antiandrogen) เช่น ไซโปรเตอโรน (cyproterone acetate) หรือสไปโรโนแลคโตน (spironolactone) ซึ่งยังไม่ได้ผลแน่นอน ยามีผลข้างเคียงเมื่อรับประทานต่อเนื่อง
• ยาทากลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน (estradiol benzoate) เพื่อยืดอายุเส้นผม ซึ่งยังพิสูจน์ได้ไม่ชัดเจนว่ายาดังกล่าวได้ผลจริง
• การปลูกผมทางศัลยกรรมจะพิจารณาเป็นรายๆ เพราะยุ่งยากและสิ้นเปลือง
• สเต็มเซลล์ ในขณะนี้ได้มีการวิจัยศึกษาค้นคว้าหาสเต็มเซลล์ของรากผม คงต้องรออีกนานกว่าจะสำเร็จ ก็ไม่แน่ว่าเมื่อถึงยุคนั้นจริง อาจเป็นยุคแฟชั่นไร้ผม เพราะทุกคนเข้าใจสัจธรรมแล้วว่าเส้นผมไม่มีประโยชน์ มีผมก็มีทุกข์ คงไม่ต้องปลูกเส้นผมให้เสียเวลา
วิธีดูแลเส้นผมในผู้ที่มีผมบางศีรษะล้าน
• การจัดแต่งทรงผมควรไว้ทรงสั้นจะดูแลง่าย การดัดผมปล่อยให้ผมฟูตามธรรมชาติ จะช่วยทำให้ดูมีผมมากขึ้น ไม่ควรผูกมัดผม เพราะอาจดึงรั้งให้เส้นผมหลุดร่วงเพิ่มขึ้น
• ควรเลือกใช้แชมพูและครีมนวดที่เหมาะสม เพราะครีมนวดผมหรือน้ำมันบางชนิดถ้าใช้มากเกินไปอาจทำให้ผมแบนแฟบเห็นหนังศีรษะ ส่วนครีมบำรุงเส้นผมหรือหนังกศีรษะนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะผมร่วงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่มีการขาดสารอาหารหรือวิตามินแต่อย่างใด
• สำหรับผู้ซึ่งไม่ชอบการรักษาแผนปัจจุบัน ก็อาจลองใช้วิธีของแพทย์แผนจีน หรืออายุรเวท มีรายงานการฝังเข็มบริเวณหนังศีรษะช่วยรักษาผมร่วงศีรษะล้านจากพันธุกรรมได้ ถ้าสนใจก็ปรับวิธีการกดจุดฝังเข็มแทน โดยใช้นิ้วมือทั้งสิบเคาะบริเวณผมบางแรงๆ วันละ 5-10 นาที ความไม่สบายใจเรื่องผมบางก็อาจจะบรรเทาลงได้ในระดับหนึ่ง เพราะบริเวณหนังศีรษะมีจุดลมปราณมากกว่าร้อยจุด คงจะโดนจุดลมปราณกระตุ้นรากผมบ้าง และยังกระตุ้นลมปราณของอวัยวะอื่นๆ เป็นวิธีช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและใจได้พร้อมๆ กัน
• สารสกัดสมุนไพรซึ่งมีมากมายหลายตำรับให้เลือกใช้ แต่คงเป็นการรักษาทางใจ เพราะความจริงผมร่วงเป็นผลของพันธุกรรม ซึ่งมากับเราตั้งแต่เกิด แต่ในบางรายอาจมีผมเพิ่มขึ้นหลังจากลองใช้ เพราะความรู้สึกสบายใจว่าได้ใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ผมที่เพิ่มขึ้นจึงเกิดจากผมที่งอกทดแทนผมที่ร่วงกระจายจากความเครียดที่เกิดแทรกซ้อน
กล่าวโดยสรุป คือ หากมีผมร่วงผิดปกติควรไปพบแพทย์ผิวหนัง และเมื่อตรวจไม่พบสาเหตุจากโรคภายในการรักษาก็คือ การทำใจปล่อยวาง “ช่างหัวมัน” ก็เป็นวิธีรักษาผมร่วงแบบธรรมชาติที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวิบัณฑิตสิน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)