
© 2017 Copyright - Haijai.com
การจับดินสอที่ถูกต้องส่งผลต่อการเรียนรู้
การส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยเริ่มเขียนมีหลายรูปแบบ อาทิ การต่อบล็อก การร้อยลูกปัด การปั้นแป้งโด ฯลฯ ทั้งนี้รวมไปถึงการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ โดยธรรมชาติแล้ว เด็กทุกคนต้องการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ถ้าเด็กๆ ได้ทำกิจกรรมเหล่านี้บ่อยๆ กล้ามเนื้อมือก็จะแข็งแรง พร้อมสำหรับการทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งสามารถใช้มือในการขีดเขียนด้วยความมั่นใจ
สำหรับเด็กที่มีพัฒนาการในการเขียนที่เป็นปัญหามักมีอาการเมื่อยมือง่าย มีความทนทานในการเขียนน้อย ลายมือไม่สวย ลายเส้นไม่ต่อเนื่อง ฯลฯ บางครั้งปัญหาก็อาจจะลุกลามไปถึงการเบื่อหน่ายการเรียน เพราะเขียนไม่ทันเพื่อน สายตามีปัญหา เพราะวางท่าทางในการเขียนผิดวิธี บางคนมีผลต่อบุคลิกภาพในตอนโต หากทำงานที่ต้องใช้การเขียนในที่สาธารณะก็จะขาดความมั่นใจไม่กล้านำเสนองาน ดังนั้นการปลูกฝังวิธีการจับดินสอที่ถูกวิธีจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กในวัยอนุบาล
การจับดินสอที่ถูกวิธี จะใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ บังคับดินสอ วางดินสอลงบนข้อนิ้วมือของนิ้วกลาง โดยนิ้วกลางช่วยประคอง นิ้วนางและนิ้วก้อยเป็นฐานรองรับ ตามหลักการของ Tripod Grip ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้สามารถเขียนได้อย่างถนัด ลดการเกร็ง การเมื่อยล้าในการเขียน และเขียนได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น แต่หากเด็กๆ ได้ใช้วิธีการเขียนที่ผิดวิธีจนกลายเป็นความเคยชินแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ โดยการหาเครื่องมือที่จะช่วยในการควบคุมการวางตำแหน่งของนิ้วมือที่ถูกวิธี โดยเลือกวัสดุที่ปลอดภัยมีมาตรฐานเหมาะสำหรับเด็ก มี Grip ที่แข็งแรงไม่ลื่นหลุดง่าย ช่วยให้เด็กๆ จับดินสอได้ถนัดมือ มีสีสันสวยน่าหยิบจับมาใช้งาน ช่วยให้เขาสามารถสังเกตวิธีการเขียนที่ถูกต้องได้ด้วยตนเอง เมื่อเด็กๆ เรียนรู้การจับดินสอที่ถูกวิธีมาตั้งแต่เริ่มต้น โอกาสในการพัฒนาเรียนรู้ด้านอื่นๆ ก็จะมีมากขึ้นตามลำดับเพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการฝึกเขียน โดยมีพื้นฐานที่ดีของกล้ามเนื้อมือในการทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความคิดจินตนาการของตนเองออกมาเป็นผลงานได้อย่างภาคภูมิใจอีกด้วย
สำหรับเด็กที่ถนัดมือซ้าย หากผู้ปกครองพยายามบังคับฝืนใจให้พวกเขาใช้มือข้างที่ตนเองไม่ถนัดไปนานๆ อาจส่งผลให้เด็กๆ เหล่านี้มีปัญหาต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ตามมา อาทิ ขาดความสุขในการเรียนหงุดหงิดง่าย ปิดกั้นศักยภาพในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เพราะต้องมาเสียเวลาหัดเขียนด้วยมือที่ตนเองไม่ถนัด ฯลฯ ปัจจุบันมีนวัตกรรมมากมายที่ออกมารองรับบุคคลที่ถนัดมือซ้าย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะยอมรับเด็กๆ ตามที่เขาเป็น และเปิดโอกาสการเรียนรู้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)