© 2017 Copyright - Haijai.com
ให้ไม่มากไป แต่ต้องให้พอดี
“คุณแม่ขา พรุ่งนี้หนูจะเอาเงินไปโรงเรียน 50 บาท โอ๊ะ !? ตั้ง 50 บาทเชียวเหรอลูก” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงจากเพื่อน สาวคนสนิทของผู้เขียนเอง เพราะได้ยินเธอบ่นให้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่าลูกสาวตัวน้อย เพิ่งจะเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 3 เท่านั้นเอง ที่วิ่งมา บอกเกือบจะทุกเย็นหลังจากกลับจากโรงเรียนว่า “พรุ่งนี้หนูจะเอาเงิน ไปโรงเรียน 50 บาท” พอไม่ให้ก็จะไม่ยอมไปโรงเรียน บอกแต่ว่าเพื่อน ที่โรงเรียนก็มีเงินคนละ 50 บาท จนเพื่อนของดิฉันต้องไปสอบถามจาก คุณครูประจำชั้นว่า มีชั่วโมงเรียนวิชาไหนของลูกสาวที่ต้องทำอะไรเป็น พิเศษหรือเปล่า หรือว่าทางโรงเรียนมีกิจกรรมอะไรพิเศษที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่จากการสอบถามคุณครูประจำชั้นแล้ว ก็ไม่ได้มีเหตุจำเป็นอะไรที่ลูกจะต้องเอาเงินไปโรงเรียนมากถึงขนาดนั้น
ดิฉันเชื่อว่าคงมีคุณแม่อยู่ไม่มากก็น้อย ที่ต้องเจอกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ของลูก ที่จะว่าไปแล้วลูกก็ยังไม่ได้เข้าใจ หรือรู้ค่าของเงินว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ และมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้เงินบ้าง อาจเป็นเพียงแค่การเลียนแบบและทำตามกันของเด็กก็เท่านั้นเอง แต่เรื่องนี้ก็ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้คะ เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจกับลูกเกี่ยวกับการใช้เงินกันตั้งแต่ที่เขายังเล็กๆ อยู่ ต่อไปในอนาคตลูกก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการใช้เงินค่ะ
สอนลูกให้รู้จักการออมเงิน
การสร้างแรงกระตุ้นในเรื่องของการออมเงิน โดยการหากระปุกออมสินใบเล็กๆ น่ารักๆ สักใบเพื่อให้ลูกหยอดเงินลงไป (กระปุกใบเล็กๆ จะช่วยให้ลูกไม่ท้อในการหยอดเงิน แต่กลับจะทำให้ลูกตื่นเต้น และรอคอยว่าเมื่อไหร่เงินจะเต็มกระปุก จะมีเงินเก็บกี่บาทแล้วนะ) ลูกจะเกิดความภาคภูมิใจ มากกว่าการเอาเงินไปฝากไว้กับคุณแม่ ที่สำคัญการสอนให้เด็กรู้จักการออมเงินในเด็กบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยาก ที่จริงแล้วไม่ยากอย่างที่คิดคะ เพียงแต่ว่าคุณแม่จะต้องทำไปพร้อมๆ กับลูกด้วย เพื่อที่ลูกจะได้เกิดแรงจูงใจในการเก็บออมเงิน คุณแม่คงเคยได้ยินเรื่องกระปุก 3 ใบกันมาบ้างแล้ว เป็นแนวคิดที่ดีมาก ที่จะนำมาใช้ในการสอนให้ลูกรู้จักวิธีบริหารจัดการกับการเงินของตัวเองตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ กระปุก 3 ใบ หมายถึงการแบ่งเงินเก็บที่ได้มาออกเป็น 3 ส่วน คือ
กระปุกใบที่ 1 เป็นเงินสำรองเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน ที่จำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน เช่น เจ็บป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล เด็กๆ อาจยังไม่จำเป็นต้องมีกระปุกใบนี้ เพราะพ่อแม่รับผิดชอบส่วนนี้อยู่แล้ว แต่สอนให้ลูกเก็บๆ ไว้บ้างก็ไม่เสียหายคะ
กระปุกใบที่ 2 เก็บไว้ซื้อของที่ลูกอยากได้ เช่น ตุ๊กตาบาร์บี้ สมุดภาพระบายสีสติ๊กเกอร์ ฯลฯ
กระปุกใบที่ 3 เก็บไว้ใช้ตอนโต เช่น เพื่อการศึกษา เป็น เงินทุนในอนาคต เงินส่วนนี้ควรที่จะฝากเข้าบัญชีธนาคาร
ลูกยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ อาจไม่มีเงินมากพอที่เก็บให้ได้เป็น กอบเป็นกำ คุณแม่อาจสอนให้ลูกเก็บจากเงินค่าขนมที่ให้ไปโรงเรียน โดยอาจหยอดกระปุกละ 1 บาทก็ได้คะ พอลูกโตขึ้นอีกนิดก็ค่อยเพิ่มปริมาณในการหยอดไปเรื่อยๆ คุณแม่อาจจะให้ลูกตั้งเป้าหมายเองได้ว่าเขาอยากที่จะทุบกระปุก เพื่อนับเงินตอนที่เขาอายุครบกี่ขวบ ก็ได้นะคะ สอนลูกให้รู้จักการวางเป้าหมายทางการเงิน ให้ลูกเกิดการเรียนรู้ว่ายิ่งใช้เงินเก็บซื้อของอื่นที่ไม่จำเป็น และซื้อตามอำเภอใจมากเท่าไร ยิ่งห่างเป้าหมายมากขึ้นเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ ลูกเขียนของอยากได้กับของจำเป็น เป็นรายการแยกออกจากกัน เพื่อสอนใจตัวเอง และช่วยในการตัดสินใจว่าจำเป็นที่จะต้องซื้อ หรือเปล่า
(Some images used under license from Shutterstock.com.)