© 2017 Copyright - Haijai.com
สัมผัสรัก สร้างพัฒนาการลูกได้อย่างไร
นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล กล่าวว่า “ในการสัมผัสสำหรับการพัฒนาลูกน้อยนั้น สิ่งแรกที่ควรรู้คือสมองของเด็กต้องมีสิ่งกระตุ้น ผ่านทางตา หู จมูก และผิวหนัง โดยผิวหนังซึ่งเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีพื้นที่มาก ผิวหนังจึงรับสัมผัสอะไรได้เยอะ ไม่ว่าอุณหภูมิความร้อน ความเย็น ความชื้น สัมผัสความนุ่ม ความแข็ง เวลาที่โดนตี โดนหยิก โดนลูบ การสัมผัสเป็นการกระตุ้นระบบประสาทที่ดีมาก การให้ลูกได้สัมผัสรสเปรี้ยว เช่น แตะมะนาวที่ปลายลิ้นลูกเพื่อกระตุ้นระบบประสาทเพื่อให้รู้รสเปรี้ยว, การฟังเสียงเพลงเพราะๆ เป็นการกระตุ้นทางเสียง, ตลอดจนทำให้เขาได้เห็น แสง สี ต้นไม้ สุนัข หรืออื่นอีกมากมายจะทำให้เขาได้เรียนรู้"
สำหรับการอาบน้ำนั้น โดยทั่วไปเด็ก ๆ จะชอบอาบน้ำเพราะทำให้เขามีความสุขสบายใจ การอาบน้ำที่มีพ่อแม่ลูกร่วมกันเป็นเรื่องที่สนุก ช่วยพัฒนาความสุขทางกาย และด้านจิตใจ การกอดการสัมผัสจะสื่อสารความรู้สึกได้หลายๆ อย่างที่คำพูดไม่สามารถบรรยายได้ ทำให้เกิด ความรู้สึกอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย รู้สึกรัก เอ็นดู ปลอบโยน ก่อให้เกิดความไว้วางใจรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า วัฒนธรรมไทยสมัยก่อนไม่นิยมกอดลูก ไม่สัมผัสตัวกัน ทำให้เด็กๆ หลายคนคิดว่าตัวเขาไม่เป็นที่รักของพ่อแม่
ดังนั้น ควรสื่อสารความรู้สึกและการสื่อสารพัฒนาทางสังคมเวลาอาบน้ำ เพราะเด็กจะได้สบตากันมีการสัมผัส และการเล่นเป็นกลุ่มพี่น้อง เช่น พี่ช่วยอาบน้ำให้น้องเพื่อไม่ให้เกิดกรณีพี่อิจฉาน้อง ควรพูดคุยว่าเมื่อหนูยังเด็กเหมือนน้อง พ่อแม่ก็อาบน้ำอย่างนี้ให้พี่อย่างนี้เหมือนกัน จะทำให้พี่น้องรักกันเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ นพ.สุกมล ยังได้เสริมในตอนท้ายอีกว่า "สำหรับตนเองนั้นมีคำขวัญประจำครอบครัวที่ว่า คิดถึงกันก็กอดกันหน่อย ซึ่งสิ่งนี้จะมีค่ายิ่งกว่าเงินทองทรัพย์สิน และอย่าลืมที่จะถ่ายทอดความรักด้วยการสื่อสาร ผ่านการกอด สัมผัส และคำพูดที่ไพเราะ"
นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล
(Some images used under license from Shutterstock.com.)