
© 2017 Copyright - Haijai.com
Q : อยากทราบว่าถ้าทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ จะมีผลต่อกระดูกจริงหรือเปล่าคะ เพราะอะไร
A : ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ใน 1 เม็ดจะประกอบด้วยสารเคมีสังเคราะห์ 2 อย่างที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนพื้นฐานของรังไข่ และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วงหลังไข่ตกของรังไข่
การให้ยานี้เข้าไปในร่างกาย ยาจะไปยับยั้งฮอร์โมนของต่อมใต้สมองไม่ให้มากระตุ้นรังไข่ เป็นผลให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่เพิ่มสูงขึ้น และไม่มีการเจริญของไข่ที่สมบูรณ์ในรังไข่ จึงทำให้ไม่มีการตกไข่ ในขณะเดียวกันก็จะทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียว เชื้ออสุจิจึงผ่านเข้าไปถึงในมดลูกและท่อนำไข่ได้ลำบาก และเมื่อให้ไปหลายๆ เดือนก็จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน สรุปก็คือยามีฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลายด่าน
สำหรับปริมาณมวลกระดูก โดยปกติแล้วในการเจริญเติบโตของคนเราจะมีการสะสมปริมาณของมวลกระดูกอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากการที่เด็กโตขึ้นสูงใหญ่ขึ้น การสะสมของมวลกระดูกจะเร็วหรือช้าต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ในช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่นจะมีการเจริญและสะสมมวลกระดูกมากและเร็วที่สุด หลังจากนั้นการสะสมของมวลกระดูกจะเริ่มช้าลง จนเมื่อเข้าสู่ช่วงที่เป็นผู้ใหญ่เต็มที่อายุ 25 - 30 ปี การสะสมของมวลกระดูกจะหยุดลง มวลกระดูกจะคงที่อยู่เช่นนั้นช่วงเวลาหนึ่ง จนถึงช่วงอายุประมาณ 35 - 40 ปี ระดับมวลกระดูกจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 0.5 - 1 ต่อปีทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่ในเพศหญิงภาวะหมดประจำเดือนจะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกเร็วขึ้นถึงร้อยละ 3 - 5 ต่อปี โดยภาวะพร่องเอสโตรเจนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
ความสำคัญของฮอร์โมนเอสโตรเจนคือ เป็นฮอร์โมนเพศหญิง นอกจากจะช่วยพยุงเนื้อกระดูกเอาไว้ และช่วยป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูกแล้ว ยังสามารถช่วยเพิ่มเนื้อกระดูกอีกด้วย โดยออกฤทธิ์ผ่านทางฮอร์โมนแคลซิโตนิน และสร้างสารซึ่งมีผลควบคุมการทำงานของเซลล์สลายกระดูก ซึ่งจะช่วยทำให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานได้ดีขึ้น ดังนั้นการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ อาจมีผลให้ปริมาณของมวลกระดูกลดลง หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนได้
แต่ทั้งนี้การเกิดภาวะกระดูกพรุนไม่ได้ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศเพียงปัจจัยเดียว ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ โภชนาการที่ไม่เหมาะสม ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีพันธุกรรมหรือยีนที่ผิดปกติ การใช้ยาบางชนิด การสูบบุหรี่-ดื่มสุรา หรือโรคบางอย่าง ก็มีผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้เช่นกัน ดังนั้นควรป้องกันโดยการได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ สร้างสุขนิสัยที่ดีในการบริโภคอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและลดการสูญเสียมวลกระดูกได้ค่ะ
ภญ. ณัฐกานต์ ปาริชาติกานนท์
ทีมเภสัชกรโรงพยาบาล BNH
(Some images used under license from Shutterstock.com.)